คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

(1) เมื่อผู้ร้องไม่ได้ตั้งประเด็นว่าได้ครอบครองเป็นส่วนสัดมาเกิน 10 ปีจนได้กรรมสิทธิ์ในส่วนที่ครอบครองดังนี้ แต่ศาลไปวินิจฉัยว่าผู้ร้องครอบครองมาเกิน 10ปี ได้กรรมสิทธิ์มาโดยทางครอบครองตามมาตรา 1382 ย่อมเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
(2) เมื่อจำเลยและผู้ร้องซึ่งมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันได้ตกลงแบ่งแยกที่พิพาทกันก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยนานแล้วข้อตกลงนี้ย่อมผูกมัดผู้ร้องและจำเลยตามมาตรา 1364 โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่พิพาทนั้น เพราะโจทก์ไม่ใช่บุคคลภายนอกตามมาตรา 1299 วรรค 2ไม่มีสิทธิเอาส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาด
(3) การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ซึ่งไม่ใช่ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ตามมาตรา 288 นั้น ไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม ค่าขึ้นศาล ฯลฯ ค่าตัดสิน ฯลฯ อย่างคดีธรรมดา

ย่อยาว

โจทก์ชนะคดีเรื่องเงินกู้และนำยึดที่ดินเพื่อขายทอดตลาดผู้ร้องยื่นคำร้องว่ามีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วย 1 ใน 3 ซึ่งผู้ร้องได้ครอบครองอยู่ทางทิศเหนือเป็นส่วนสัดแล้ว ขอให้งดขายทอดตลาดส่วนของผู้ร้อง ให้ขายเฉพาะส่วนของจำเลยทางทิศใต้

โจทก์คัดค้าน ศาลชั้นต้นสั่งให้งดขาย

ศาลอุทธรณ์ยกคำสั่งศาลชั้นต้น และให้ไต่สวนคำร้องต่อไปแล้วสั่งใหม่

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วสั่งให้งดขายทอดตลาดเฉพาะที่พิพาทตอนเหนือเฉพาะส่วนของผู้ร้องที่ครอบครองมา 1 งาน 9 วา 1 ศอก นอกนั้นให้ขายทอดตลาดต่อไป

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ร้องอ้างเพียงว่าได้ครอบครองอยู่ทางทิศเหนือเป็นส่วนสัด ขออย่าให้ขายส่วนที่ผู้ร้องครอบครองเท่านั้น ผู้ร้องไม่ได้ตั้งประเด็นว่าได้ครอบครองเป็นส่วนสัดมาเกิน 10 ปี ขนได้กรรมสิทธิ์ในส่วนที่ครอบครองมานั้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ร้องครอบครองมาเกิน 10 ปี ได้กรรมสิทธิ์ในทางครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

เมื่อโจทก์รับว่าผู้ร้องกั้นรั้วเฉพาะส่วนของผู้ร้อง 1 ใน 3 มาประมาณ 5 ปีแล้วแสดงว่าผู้ร้องกับจำเลยได้ตกลงแบ่งแยกที่พิพาทกันนานแล้ว ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลย ข้อตกลงนี้ย่อมผูกมัดผู้ร้องและจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่พิพาทเท่านั้นเพราะโจทก์ไม่ได้อยู่ในฐานะบุคคลภายนอกดังบัญญัติไว้ในมาตรา 1299 วรรค 2ไม่มีสิทธิจะเอาส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาด

ในกรณีที่ผู้ร้องมิได้ร้องขัดทรัพย์ตามมาตรา 288 หากแต่เป็นการขอแบ่งแยกทรัพย์ตามสัญญาที่ผู้ร้องกับจำเลยได้ตกลงกันไว้ กรณีเข้ามาตรา 287 จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามมาตรา 288

พิพากษายืน

Share