คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ตรีประกอบมาตรา 29 อัฏฐ (4) บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในธนาคารแห่งประเทศไทย เรียกว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟู และพัฒนาระบบการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ และให้มีอำนาจรวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามควรแก่กรณีสำหรับผู้ฝากเงิน หรือผู้ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินที่ต้องเสียหายเนื่องจากสถาบันการเงินดังกล่าวประสบวิกฤติการณ์ทางการเงินอย่างร้ายแรง จึงเป็นสิทธิของกองทุนในการที่จะให้ความช่วยเหลือ มิใช่หน้าที่ของกองทุนที่จะต้องช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ฝากเงิน หรือผู้ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินดังกล่าวทุกกรณี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัดเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายจากจำเลยที่ 1 บริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราชจำกัด จัดหาเงินทุนจากประชาชน โดยออกเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ประชาชนผู้ฝากเงินไว้เป็นหลักฐาน การประกอบกิจการของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด นั้น จำเลยที่ 1 มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 เข้าควบคุมฐานะหรือดำเนินงาน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน หากจำเลยที่ 2 เห็นว่าฐานะหรือการดำเนินงานของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัดจะมีลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชนแล้ว จำเลยที่ 2 มีอำนาจสั่งให้ดำเนินการแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานภายในระยะเวลาที่กำหนดและหากมีพฤติการณ์ถือได้ว่าฐานะหรือการดำเนินงานของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด จะมีลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประชาชนแล้ว จำเลยที่ 1ด้วยความเห็นชอบของจำเลยที่ 2 มีอำนาจสั่งควบคุมหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการได้ เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม2525 โจทก์ได้นำเงินจำนวน 200,000 บาท ไปฝากไว้กับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด และทางบริษัทได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินประเภทเปลี่ยนมือไม่ได้ให้แก่โจทก์รวม 3 ฉบับคือ ตามบัญชีเลขที่ ซี.5273 ฉบับที่ 1 เลขที่ 11650/2525ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2525 สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน 50,000 บาทให้แก่โจทก์ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2528 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ฉบับที่ 2 เลขที่ 11651/2525 ลงวันที่17 พฤศจิกายน 2525 สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน 100,000 บาท ให้แก่โจทก์ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2528 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปีฉบับที่ 3 เลขที่ 12540/2525 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2525สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน 50,000 บาท ให้แก่โจทก์ในวันที่ 17ธันวาคม 2528 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เมื่อปีพ.ศ. 2527 บริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด มีฐานะหรือการดำเนินงานอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์ของประชาชน ดังนั้นในวันที่ 4 มิถุนายน2527 จำเลยที่ 1 ด้วยความเห็นชอบของจำเลยที่ 2 ได้เพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด แล้วแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีเพื่อชำระบัญชีของบริษัทตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ได้ออกประกาศของกระทรวงการคลังและแถลงการณ์ว่า ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินโดยสุจริตของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราชจำกัด ที่จะต้องหยุดกิจการลงเพราะถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้กำหนดมาตรฐานการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด โดยให้จำเลยที่ 3เป็นผู้รับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินโดยมีจำเลยที่ 2 คอยดูแลมิให้มีอุปสรรคในด้านการเงินในการดำเนินการดังกล่าว และกำหนดหลักเกณฑ์ในการรับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินว่า จะจ่ายคืนเฉพาะแต่ต้นเงินตามหน้าตั๋วเป็นรายปีทุกปี เท่า ๆ กันภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี แต่เฉพาะปีแรกจะจ่ายให้ไม่น้อยกว่า50,000 บาท หรือร้อยละ 10 ของต้นเงิน แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวประกาศใช้ ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2526เมื่อบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด ถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้วผู้ชำระบัญชีที่ได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ได้ออกหนังสือชี้แจงแก่เจ้าหนี้ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด ให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ในการขอรับชำระหนี้อันเนื่องจากบริษัทหยุดดำเนินการโดยบรรดาเจ้าหนี้ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงิน มีสิทธิเลือกขอรับชำระหนี้ได้เพียงทางใดทางหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ขอรับส่วนเฉลี่ยทรัพย์จากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด หรือ (2) ขอเปลี่ยนเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2527จำเลยที่ 3 ได้ประกาศให้เจ้าหนี้ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด ทราบถึงวิธีการและเงื่อนไขการขอรับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงิน ดังนั้น เมื่อวันที่ 7พฤศจิกายน 2527 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินโดยสุจริตของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด จึงได้ยื่นคำขอเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินต่อจำเลยที่ 3 ตามหนังสือแสดงเจตนาขอเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0003 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2527โจทก์ได้ปฏิบัติถูกต้องตามขั้นตอนที่จำเลยทั้งสามได้กำหนดทุกประการต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2529 จำเลยที่ 3 ได้มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินโดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 เห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มิได้ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใดโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับการแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงิน การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันมีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 รับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด โดยออกเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 3 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไม่ได้ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันออกตั๋วสัญญาใช้เงินหรือชำระเงินจำนวน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดต่อกันไม่มีข้อผูกพันใดที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะต้องรับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัดโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องรับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินหรือชดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้กับโจทก์เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2526 เกิดวิกฤติการณ์ขึ้นกับสถาบันการเงินทั่วไป จำเลยที่ 2 ได้ส่งพนักงานไปตรวจสอบสถานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัดปรากฏว่าบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด มีสินทรัพย์ไม่เพียงพอชำระหนี้ต่อบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 พิจารณาแล้วเห็นว่าบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด มีฐานะหรือการดำเนินงานอยู่ในลักษณะอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผลประโยชน์ของประชาชน จึงรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เพิกถอนใบอนุญาต ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2527กระทรวงการคลังโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินโดยสุจริตของบริษัทดังกล่าว จำเลยที่ 1ที่ 2 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยให้จำเลยที่ 3เป็นผู้รับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินจากผู้ถือตั๋วโดยสุจริตของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด โดยจำเลยที่ 2จะคอยดูแลมิให้มีอุปสรรคในด้านการเงินและการดำเนินการดังกล่าวจำเลยที่ 3 ได้เข้ารับดำเนินการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงิน ได้กำหนดวิธีการเงื่อนไขไว้ตามประกาศของจำเลยที่ 3 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน2527 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2527 โจทก์ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตนาขอเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินต่อจำเลยที่ 3 ประกาศของจำเลยที่ 3และหนังสือแสดงเจตนาของโจทก์ต่างมีข้อความกำหนดว่า จำเลยที่ 3ทรงสิทธิอย่างเต็มที่และเด็ดขาดที่จะไม่รับเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินของโจทก์ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ และในกรณีที่จำเลยที่ 3ไม่รับเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 3 ไม่จำต้องแสดงเหตุผลการไม่รับเปลี่ยนและไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นแก่โจทก์เนื่องจากการไม่รับเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินนอกจากนี้ได้ตรวจสอบพบว่า นายชัยวัฒน์ ติกคณารักษ์ สามีของโจทก์เป็นกรรมการของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เฉลิมโลก จำกัดซึ่งอยู่ในเครือเดียวกับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัดและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เฉลิมโลก จำกัด ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเช่นกัน โจทก์เป็นคู่สมรสของนายชัยวัฒน์ ติกคณารักษ์ จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 3จึงไม่เปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 3 ได้มีหนังสือแจ้งให้ทราบว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินตามหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีไปถึงจำเลยที่ 3 ลงวันที่ 16 มกราคม 2529 โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ที่ 2
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยที่ 3ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดต่อโจทก์ ไม่มีข้อผูกพันใดที่จำเลยที่ 3จะต้องรับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด และในการที่จำเลยที่ 3 จะทำการรับเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินให้กับผู้ถือตั๋วรายใดนั้น จำเลยที่ 3 จะต้องได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 2 เสียก่อน จำเลยที่ 3 ก็ไม่จำต้องให้เหตุผลในการที่จะไม่รับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 3สงวนสิทธิที่จะไม่รับเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใดก็ได้โดยไม่จำต้องแสดงเหตุผล จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นแก่ผู้รับเงินในตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 3 จะไม่รับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินแก่บุคคลดังต่อไปนี้คือ บริษัทในเครือของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด กรรมการผู้บริหารของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด หรือบริษัทในเครือทั้งนี้รวมทั้งคู่สมรสและบุตรของบุคคลดังกล่าวด้วย และเมื่อโจทก์ได้แสดงเจตนายื่นขอเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด กับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่7 พฤศจิกายน 2527 ตามหนังสือแสดงเจตนาขอเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0003 นั้น โจทก์ได้ทราบแล้วว่าจำเลยที่ 3 ทรงสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะไม่รับเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินของโจทก์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน โดยไม่จำต้องแสดงเหตุผลแห่งการไม่รับเปลี่ยนตั๋วและเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือแสดงเจตนาของโจทก์ไว้ จำเลยที่ 3ได้ส่งหนังสือดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 เพื่อพิจารณาอนุมัติ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่อนุมัติให้จำเลยที่ 3 รับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจรับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ช่วยเหลือทางการเงินแก่โจทก์ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 พ.ศ. 2528มาตรา 29 ตรี ประกอบมาตรา 24 อัฏฐ (4) นั้น เห็นว่า มาตรา 29 ตรีได้บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในธนาคารแห่งประเทศไทยเรียกว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินโดยให้กองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพโดยมีฝ่ายจัดการกองทุนเป็นเจ้าหน้าที่ และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่น ๆ ดังนั้น กองทุนดังกล่าวจึงเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยทั้งสามมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ตามบทบัญญัติทั้งปวงแห่งกฎหมาย ภายในขอบวัตถุประสงค์ของตน คือ เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ ส่วนมาตรา29 อัฏฐ (4) บัญญัติให้กองทุนดังกล่าวมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆภายในขอบวัตถุประสงค์ของกองทุนตามมาตรา 29 ตรี และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามควรแก่กรณี สำหรับผู้ฝากเงินหรือผู้ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินที่ต้องเสียหายเนื่องจากสถาบันการเงินดังกล่าวประสบวิกฤติการณ์ทางการเงินอย่างร้ายแรง ตาม (4) แห่งมาตรา 29 อัฏฐ ดังนั้น จึงเป็นสิทธิของกองทุนการที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามควรแก่กรณีแก่ผู้ฝากเงินหรือผู้ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินดังกล่าวข้างต้นนี้หรือไม่ก็ได้ มิใช่หน้าที่ของกองทุนที่จะต้องช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ฝากเงินหรือผู้ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินดังกล่าวทุกกรณี จึงเป็นที่เห็นได้ว่ากองทุนดังกล่าวไม่มีหน้าที่ช่วยเหลือทางการเงินแก่โจทก์ตามบทบัญญัติที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกา”
พิพากษายืน

Share