คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 465/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คนร้ายจับผู้เสียหายไปเรียกค่าไถ่ พี่ผู้เสียหายออกตามพบจำเลยซึ่งเรียกให้รถหยุดแล้วจำเลยเป็นผู้ต่อรองค่าไถ่ด้วยตนเอง ลดจำนวนค่าไถ่ลง เมื่อได้ค่าไถ่แล้ว จำเลยก็สามารถจัดการให้คนร้ายปล่อยผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับคนร้ายเป็นอย่างดี เข้าลักษณะกระทำการเป็นคนกลางเรียกทรัพย์สินมิควรได้จากผู้ที่จะให้ค่าไถ่ อันเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 315
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313,314 แต่การเรียกค่าไถ่เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่โจทก์กล่าวหาจำเลยมาในฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 315 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
จำเลยจัดให้ผู้เสียหายได้รับเสรีภาพกลับคืนมาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาโดยผู้เสียหายมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ชอบที่จะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดกึ่งหนึ่งตาม มาตรา 316

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 314 แต่จำเลยจัดให้ผู้ถูกเอาตัวไปได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาตามมาตรา 316 จำคุก 18 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่22 มีนาคม 2522 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา ขณะที่นายเซี๊ยะ หรืออ๋า แซ่ฉั่วผู้เสียหายซ่อมรถแทรกเตอร์อยู่หน้าร้านของตน มีคนร้ายหลายคนใช้อาวุธปืนขู่บังคับและตีผู้เสียหายที่โหนกแก้มถึงสลบ แล้วคนร้ายนำนายเซี๊ยะไปคุมตัวไว้ในกระท่อมที่กิ่งอำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ วันที่ 10 เมษายน 2522เวลา 9 นาฬิกา นายเซ้ง แซ่ฉั่ว และนายเชียง พิชิตกาวิน ติดตามหาตัวผู้เสียหายโดยนายเชียงขับรถของนายเชียงไปตามถนนพบชายคนหนึ่งเรียกให้รถหยุดเจรจาต่อรองค่าไถ่ตัวผู้เสียหายกัน ในที่สุดตกลงค่าไถ่เป็นเงิน1,000,000 บาท แล้วจะให้คนร้ายปล่อยผู้เสียหายในคืนนั้น วันนั้นเวลา14 นาฬิกา นายเซ้งและนายเชียงขับรถไปพบชายคนนั้นมอบเงินสดให้1,000,000 บาท นายเชียงมอบรถให้ชายนั้นไปเพื่อให้คนร้ายปล่อยผู้เสียหายได้ในคืนนั้น คืนนั้นเวลา 4 นาฬิกาเศษ คนร้ายให้ผู้เสียหายขับรถของนายเชียงกลับบ้าน ปัญหาจะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ โจทก์ไม่มีพยานนำสืบว่าจำเลยร่วมจับกุมหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือทำร้ายผู้เสียหายเพื่อเรียกค่าไถ่ตามฟ้อง แต่โจทก์มีนายเซ้ง แซ่ฉั่ว พี่ชายผู้เสียหายและนายเชียงหรือล้ง พิชิตกาวิน เป็นพยานว่า เมื่อวันที่10 เมษายน 2522 หลังเกิดเหตุนายเซ้งขอร้องให้นายเชียงขับรถยนต์บรรทุกของนายเชียงพานายเซ้งไปติดตามหาผู้เสียหายขณะนายเชียงขับรถเลยโรงสีข้างถนนสายโคกสำโรงลำนารายณ์ พบจำเลยเดินอยู่ข้างถนนจำเลยทำสัญญาณให้นายเชียงหยุดรถ แล้วจำเลยบอกคนทั้งสองว่าถ้าจะไถ่ผู้เสียหายคืนนี้เลยขอเงิน 1,400,000 บาท นายเซ้งขอให้600,000 บาท ในที่สุดตกลงกันเป็นเงิน 1,000,000 บาท นายเซ้งกับนายเชียงกลับไปเอาเงินใส่ถุงแล้วไปพบจำเลยเมื่อเวลาประมาณ 19 นาฬิกามีชายคนหนึ่งเข้ามาร่วมด้วย นายเซ้งมอบเงินให้จำเลยและชายนั้น จำเลยว่าถ้าให้รถไปจะปล่อยผู้เสียหายในคืนนั้น นายเซ้งจึงมอบรถของนายเชียงให้ไปคืนนั้นคนร้ายปล่อยผู้เสียหาย ผู้เสียหายขับรถของนายเชียงกลับมาถึงบ้านประมาณ 5 นาฬิกา จำเลยนำสืบอ้างฐานที่อยู่ ปัญหาว่านายเซ้งและนายเชียงพยานโจทก์จำหน้าคนร้ายได้หรือไม่ เห็นว่า นายเซ้งและนายเชียงเห็นหน้าจำเลยอยู่นานขณะเจรจาเงินค่าไถ่ ทั้งเป็นเวลากลางวัน คนทั้งสองต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ไม่มีเหตุจะเบิกความกลั่นแกล้งปรักปรำทั้งเบิกความสอดคล้องต้องกัน จะแตกต่างกันบ้างก็เพียงพลความ ไม่ถึงกับทำให้เชื่อไม่ได้ที่จำเลยฎีกาว่า นายเซ้งเบิกความว่าเห็นจำเลยเดินอยู่ได้หยุดรถไปคุยเรื่องนี้กับจำเลย แต่นายเชียงว่าจำเลยทำสัญญาณให้หยุดรถ นายเชียงจึงหยุดรถลงไปเจรจากับจำเลย เห็นว่านายเชียงเป็นคนขับย่อมระมัดระวังมองคนเดินริมถนน จึงเห็นสัญญาณที่จำเลยทำส่วนนายเซ้งซึ่งนั่งข้างนายเชียงอาจไม่ทันเห็นก็ได้ คำเบิกความพยานทั้งสองถือไม่ได้ว่าขัดแย้งแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ส่วนที่นายเซ้งนายเชียง ไปชี้ตัวคนร้ายเมื่อเดือนตุลาคม 2523 เป็นเวลาหลังเกิดเหตุ1 ปี 7 เดือน บุคคลทั้งสองชี้จำเลยได้ถูกต้อง แม้เป็นเวลาาห่างกันดังกล่าวแต่นายเซ้งและนายเชียงมีโอกาสเห็นจำเลยใกล้ชิดเป็นเวลานาน ทั้งเจรจากันเรื่องสำคัญจึงมีเหตุให้สังเกตจดจำจำเลย ย่อมทำให้จำจำเลยได้ คนทั้งสองจึงชี้จำเลยได้ถูกต้องพยานฐานที่อยู่ของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ที่เจรจาต่อรองเรียกค่าไถ่ผู้เสียหายจากนายเซ้งและนายเชียงปัญหาว่าจำเลยจะมีความผิดหรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีพยานนำสืบว่าจำเลยร่วมเป็นคนร้ายจับผู้เสียหายไปหน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อเรียกค่าไถ่ตามฟ้อง แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยสามารถต่อรองค่าไถ่ด้วยตนเองลดจำนวนค่าไ่ถ่ลง ครั้นจำเลยได้ค่าไถ่จากนายเซ้งไปในวันที่10 เมษายน 2522 เวลา 19.00 นาฬิกา แล้ว จำเลยก็สามารถจัดการให้คนร้ายปล่อยผู้เสียหายโดยนำรถนายเชียงไปให้ผู้เสียหายขับกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 5 นาฬิกา ซึ่งเป็นคืนเดียวกันนั้น แสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับคนร้ายอย่างดี การกระทำของจำเลยเข้าลักษณะกระทำการเป็นคนกลางเรียกทรัพย์สินมิควรได้จากผู้ที่จะให้ค่าไถ่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 315 แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ลงโทษตามมาตราดังกล่าว แต่การเรียกค่าไถ่เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่โจทก์กล่าวหาจำเลยมาในฟ้องศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดหรือบทมาตราที่ถูกต้องตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 อย่างไรก็ตามจำเลยจัดให้ผู้เสียหายผู้ถูกคนร้ายเอาตัวไปได้รับเสรีภาพกลับคืนมาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้เสียหายมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ชอบที่จะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 316”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 315 ประกอบด้วยมาตรา 316 จำคุก 10 ปี

Share