แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีมีหน้าที่ทำเอกสารรับเอกสาร รับรองเอกสารแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้าน เมื่อได้รับอนุมัติให้มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านแล้วจึงลงนามรับรองเป็นหลักฐานในเอกสารแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านของจำเลยเองว่า ตรวจสอบถูกต้องแล้ว ขอจ่ายถูกตามระเบียบเห็นควรอนุมัติ การที่จำเลยรับรองตามที่ขออนุมัติและได้รับอนุมัติแล้วเช่นนี้ จะถือว่าเป็นการรับรองข้อความอันเป็นเท็จที่เอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงมิได้ ส่วนการที่ผู้อนุมัติได้อนุมัติไปแล้วนั้นจะถูกต้องหรือไม่เป็นเรื่องของการแปลความในกฎหมาย การแปลความไปในทางใดนั้นจะถือว่าเท็จมิได้อีกเช่นกัน หลักฐานเกี่ยวกับทะเบียนบ้านว่าจำเลยมีทะเบียนบ้านอยู่ที่ไหน เป็นเพียงข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นเท่านั้นเมื่อพยานหลักฐานอันเป็นข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นขัดแย้งกับคำพยานบุคคลที่รู้เห็นข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว เช่นนี้จะนำข้อสันนิษฐานในทางที่เป็นผลร้ายมาฟังเป็นความจริงไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่มีบ้านของตนเองและได้เช่าบ้านนาง ส. อยู่จริง การที่จำเลยมีบ้านของบิดาอยู่แต่ไม่อยู่บ้านของบิดา กลับไปเช่าบ้านอยู่ จำเลยจะมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการ พุทธศักราช 2483 หรือไม่นั้น เป็นการแปลความตามกฎหมายดังกล่าว การแปลความไม่ตรงกันนั้นจะถือว่าเป็นการหลอกลวงไม่ได้ ทั้งการที่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ากรณีดังกล่าวได้มีระเบียบแบบแผนของทางราชการกำหนดไว้เป็นแน่นอนว่า จำเลยไม่มีสิทธิจะขอเบิกค่าเช่าบ้านได้ และจำเลยได้ทราบถึงระเบียบนั้นแล้ว การกระทำของจำเลย ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ทำเอกสารรับเอกสาร รับรองเอกสาร แบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้าน แบบ 73จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยโดยทุจริตได้ลงนามยื่นแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้าน แบบ 73 หลอกลวงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยอ้างสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านแบบ 73 พร้อมใบเสร็จรับเงิน เพื่อขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านรวม 24 ครั้ง และจำเลยปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานโดยมิชอบและโดยทุจริต ลงนามรับรองเป็นหลักฐานในเอกสารแบบ 73 ดังกล่าวของจำเลยเอง ว่าตรวจสอบถูกต้องแล้ว ขอจ่ายถูกต้องตามระเบียบเห็นควรอนุมัติ ซึ่งข้อเท็จจริงในเอกสารในแบบ 73 ดังกล่าวมุ่งพิสูจน์ความจริง อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน และรับรองดังกล่าวได้ เพราะจำเลยมีเคหสถานบ้านพักเป็นของตนเองแล้ว และโดยการหลอกลวงอ้างสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน และค่ารับรองเท็จของจำเลยนั้น ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อ และจำเลยได้ไปซึ่งเงินจากผู้ถูกหลอกลวงรวม 17,017 บาทขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162, 341พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบค่าเช่าข้าราชการ พุทธศักราช 2483มาตรา 5, 9
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเอกสารอันเป็นเท็จในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 และฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามบทมาตรา 162 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมลงโทษทุกกรรมตามมาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน จำเลยกระทำผิด 24 กระทง รวมลงโทษจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(4), 341 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา 162 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 18 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี จำเลยได้นำเงินส่งคืนทางราชการและข้อเท็จจริงเบื้องต้นแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162(4), 341 หรือไม่ และมีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยตามลำดับไป
ในปัญหาสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(4) นั้นตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์กล่าวในฟ้องถึงการกระทำที่จำเลยรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ คือเอกสารแบบใบเบิกเงินค่าเช่าบ้านแบบ บก.73ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2523 ถึงเดือนเมษายน 2526 เอกสารแบบใบเบิกเงินค่าเช่าบ้าน แบบ บก.73 ที่โจทก์อ้างถึงตามเอกสารหมาย จ.3(18 ฉบับ) นั้น สาระสำคัญที่มุ่งพิสูจน์ข้อเท็จจริงมี 3 ประการคือ1. ผู้ขอได้เช่าบ้านและจ่ายค่าเช่าบ้าน 2. ผู้ขอได้รับอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้านและ 3. ผู้ขอมีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการ พุทธศักราช 2483จริงหรือไม่ สำหรับข้อเท็จจริงในประการแรกนั้น นางสมทรง กันหารีพยานโจทก์เบิกความว่า ได้แบ่งห้องให้จำเลยเช่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521เช่าอยู่จนถึงเดือนเมษายน 2526 ได้ออกใบเสร็จรับเงินค่าเช่าตามเอกสารหมาย จ.7 (10 แผ่น) ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยได้เช่าบ้านและมีการจ่ายค่าเช่าบ้านจริงข้อเท็จจริงที่ระบุในเอกสารที่จำเลยรับรองจึงไม่เป็นเท็จส่วนข้อเท็จจริงประการที่สองนั้นตามที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้เบิกค่าเช่าบ้านก่อนที่จะมีการยื่นแบบใบเบิกเงินค่าเช่าบ้านแบบ บก.73 ที่จำเลยได้รับรองในหน้าที่ และได้ความตามคำเบิกความของนายสมศักดิ์ สุทธิศัลสนีย์พนักงานธุรการ 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี พยานโจทก์ว่าการเบิกค่าเช่าบ้านผู้ขอเบิกจะต้องยื่นเรื่องต่อผู้บริหารแล้วผู้บริหารจะไปตรวจสอบว่ามีบ้านจริงหรือไม่ การเบิกถูกต้องหรือไม่ ในระหว่างเกิดเหตุผู้มีอำนาจอนุมัติเบิกค่าเช่าบ้านได้คือผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้านได้แล้ว ต่อไปผู้เบิกเพียงแต่นำใบเสร็จไปขอเบิกโดยแนบแบบพิมพ์ขอเบิกก็สามารถเบิกได้ กรณีของจำเลยนั้นเมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่ามิได้มีการขออนุมัติและได้รับขออนุมัติมาก่อน จึงต้องฟังว่าได้ผ่านขั้นตอนการอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดมาแล้ว ทั้งจำเลยก็นำสืบว่าได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามแบบ บก.72 แล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าการรับรองของจำเลยในส่วนนี้เป็นเท็จ ส่วนปัญหาข้อสุดท้ายที่ว่าผู้ขอมีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการพุทธศักราช 2483 หรือไม่นั้นปัญหานี้เป็นเรื่องของการแปลความตามพระราชกฤษฎีกาว่ากรณีใดบ้างที่จะอยู่ในเงื่อนไขที่จะเบิกค่าเช่าบ้านได้ กรณีใดที่ไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องอยู่ในการพิจารณาของผู้มีอำนาจอนุมัติ ที่จะต้องแปลความหมายของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้าราชการผู้ขอเบิกค่าเช่าบ้านนั้นต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่จะมีสิทธิหรือไม่ เมื่อมีการอนุมัติให้เบิกได้แล้ว ผู้ขอหรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามที่ขออนุมัติไว้ และได้รับอนุมัติแล้วเช่นนี้จะถือว่าเป็นการรับรองเท็จมิได้ และการที่ผู้อนุมัติได้อนุมัติไปแล้วนั้นจะถูกต้องหรือไม่ ก็เป็นการแปลความในกฎหมาย การแปลความไปในทางใดนั้นจะถือว่าเป็นเท็จมิได้ เมื่อจำเลยได้รับอนุมัติให้มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านมาก่อน มิใช่ไม่ได้รับอนุมัติแล้วรับรองว่าได้รับอนุมัติจึงถือว่า จำเลยรับรองข้อความอันเป็นเท็จที่เอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงไม่ได้ ข้อที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จในข้อนี้ที่สำคัญคือความจริงจำเลยไม่ได้เช่าบ้านแต่รับรองว่าเช่าบ้าน เห็นว่าการจะเช่าบ้านอยู่หรือไม่จะต้องพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่ามีการเช่าบ้านกันอยู่จริงหรือไม่ในข้อนี้พยานโจทก์คือนางสมทรง เจ้าของบ้านเช่าได้มาเบิกความตามที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า จำเลยเช่าบ้านอยู่จนถึงเดือนเมษายน 2526 เมื่อพยานโจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลจะฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยนั้นย่อมเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยโดยถือเอาหลักฐานทางทะเบียนบ้านเป็นสำคัญนั้นศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย เพราะหลักฐานเกี่ยวกับทะเบียนบ้านว่าจำเลยมีทะเบียนบ้านอยู่ที่ไหนนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นเท่านั้น เมื่อพยานหลักฐานอันเป็นข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นของโจทก์ขัดแย้งกับ คำพยานบุคคลของโจทก์ที่รู้เห็นข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เช่นนี้จะนำข้อสันนิษฐานในทางที่เป็นผลร้ายมารับฟังเป็นความจริงไม่ได้ เพราะนายทองสุดกลิ่นประพัสร เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการพยานโจทก์เบิกความว่าการไปดูบ้านเลขที่ 252/10 ซ. พยานไปในเวลาราชการจึงไม่ทราบว่าจำเลยพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ดังกล่าวหรือไม่ที่ทราบว่าพักอยู่ก็โดยดูจากเอกสารทะเบียนบ้านเท่านั้น เห็นว่า พยานโจทก์ปากนี้ที่นำสืบมาจึงยังฟังไม่ได้ถนัดว่าจำเลยพักอยู่ที่บ้านเลขที่ 253/10 ซ. ส่วนปัญหาที่ว่าบ้านเลขที่ 352/10 ซ.ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบ้านของจำเลยจริงหรือไม่นั้น โจทก์คงมีแต่หลักฐานที่จำเลยเป็นผู้ขอปลูกสร้างแล้วจำเลยได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ซึ่งหลักฐานเหล่านี้นั้นมิใช่สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นบ้านของจำเลย บ้านหลังดังกล่าวจะเป็นของจำเลยหรือไม่นั้นต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง ซึ่งข้อนี้จำเลยมีตัวจำเลยนายอุกฤษฉายวัฒนะ น้องชายจำเลย และนางสนิท ฉายวัฒนะ มารดาจำเลยมาเบิกความยืนยันว่าบ้านหลักดังกล่าวนี้บิดาจำเลยปลูกให้บุตรซึ่งมีถึง 9 คนอยู่ โดยมอบหมายให้จำเลยดำเนินการ เมื่อปลูกเสร็จแล้วจำเลยก็ไม่ได้เข้าไปอยู่คงอยู่ที่บ้านเช่า ข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวนี้ศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุผลที่จะรับฟังเอาเป็นความจริงได้ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนให้เห็นเลยว่าจำเลยมาอยู่บ้านที่ปลูกขึ้นใหม่นี้ จึงรับฟังไม่ได้ว่าบ้านดังกล่าวเป็นของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยไม่มีบ้านเป็นของตนเองและได้เช่าบ้านนางสมทรงอยู่จนถึงเดือนเมษายน 2526 จริงคำรับรองของจำเลยในเอกสารหมาย จ.3 จึงไม่เป็นเท็จตามที่โจทก์ฟ้อง
ส่วนการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หรือไม่นั้น ในเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่มีบ้านของตนเองและได้เช่าบ้านนางสมทรงอยู่จริงการที่จำเลยมีบ้านของบิดาอยู่แต่ไม่อยู่บ้านของบิดากลับไปเช่าบ้านอยู่จำเลยจะมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการพุทธศักราช 2483 หรือไม่นั้นเป็นการแปลความตามกฎหมายดังกล่าว การแปลความไม่ตรงกันนั้นจะถือว่าเป็นการหลอกลวงไม่ได้ ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ากรณีดังกล่าวได้มีระเบียบแบบแผนของทางราชการกำหนดไว้เป็นแน่นอนว่าจำเลยไม่มีสิทธิจะขอเบิกค่าเช่าบ้านได้ และจำเลยได้ทราบถึงระเบียบนั้นแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และเมื่อวินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้ออื่นจึงไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์