คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4773/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2547 ซึ่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ใช้บังคับแล้ว และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาแล้วว่า ให้ใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 กรณีจึงมิได้เป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด แต่เป็นกรณีบังคับใช้กฎหมายลงโทษจำเลย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำเลยไม่ถูกต้อง ชอบที่จะใช้สิทธิฎีกาปัญหาดังกล่าวไปยังศาลฎีกา แต่จำเลยกลับยื่นฎีกาเฉพาะประเด็นที่ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรหรือไม่เท่านั้น และศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 4 จนคดีถึงที่สุดไปนานแล้ว จำเลยจึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยใหม่โดยอ้างเหตุข้างต้น พยานหลักฐานโจทก์เป็นเท็จ และมีเหตุอันควรปรานีลดโทษให้จำเลย ดังนี้ หากศาลฟังข้อที่จำเลยอ้างดังกล่าวแล้ววินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ซึ่งห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2549 ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 62 วรรคสอง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นคนไทยออกไปนอกราชอาณาจักรนอกช่องทางที่กำหนด ปรับ 1,500 บาท ฐานเป็นคนไทยเข้ามาในราชอาณาจักรนอกช่องทางที่กำหนด ปรับ 1,500 บาท ฐานนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งเมทแอมเฟตามีนและฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 2,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นปรับมาตราบทลงโทษเสียใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่ต้องด้วยมาตรา 3 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 4 และศาลฎีกาปรับบทลงโทษในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยแล้ว ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุที่จะกำหนดโทษจำเลยใหม่หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลดโทษให้จำเลยจากการยกเลิกกฎหมาย มิได้ใช้ดุลพินิจลดโทษจากรูปคดี เมื่อมีกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยบังคับใช้ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทมาตราให้ถูกต้องได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2547 ซึ่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ใช้บังคับแล้ว และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาแล้วว่าให้ใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 กรณีจึงมิได้เป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 แต่เป็นกรณีบังคับใช้กฎหมายลงโทษจำเลย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำเลยไม่ถูกต้อง จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิฎีกาปัญหาดังกล่าวไปยังศาลฎีกา แต่จำเลยกลับยื่นฎีกาเฉพาะประเด็นที่ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรหรือไม่เท่านั้น และศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 4 จนคดีถึงที่สุดไปนานแล้ว จำเลยจึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยใหม่ โดยอ้างเหตุดังกล่าวพยานหลักฐานโจทก์เป็นเท็จ และมีเหตุอันควรปรานีลดโทษให้จำเลยตามที่ปรากฏในฎีกาของจำเลย ดังนี้ หากศาลฟังข้อที่จำเลยอ้างดังกล่าวแล้ววินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ซึ่งห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share