คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5571/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว มี พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 มาใช้บังคับ โดยให้มีผลเป็นอันยกเลิก พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นไป และกำหนดให้นำ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มาใช้บังคับแทน และมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ที่ถูกยกเลิกบัญญัติให้พนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับแทนมิได้บัญญัติให้พนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 147 จึงเป็นการไม่ชอบ การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก เพียงบทเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 352, 91 และขอให้จำเลยคืนเงิน 339,919.71 บาท ให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 352 วรรคแรก เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยกระทำความผิดรวม 3 กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 76,597.60 บาท แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย คำขออื่นและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นพนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยทำงานที่สำนักงานบริการโทรศัพท์สิชล ตำแหน่งพนักงานพาณิชย์ 3 มีนายณรงค์ เป็นผู้จัดการ สำนักงานบริการโทรศัพท์สิชลนำเครื่องรับเงินสดอิเล็กทรอนิกส์หรืออีซีอาร์ (ECR) มาใช้รับชำระเงินค่าบริการ จำเลยทำหน้าที่เป็นพนักงานรับเงินและหัวหน้าควบคุมการเงิน และติดตามเร่งรัดหนี้สิน ในการใช้เครื่องรับเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ จำเลยมีรหัสเฉพาะในตำแหน่งพนักงานรับเงิน “CSH O1” และรหัสหัวหน้าควบคุมการเงิน “SUP O1” การรับชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์โดยเครื่องรับเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานบริการโทรศัพท์สิชลมีจำเลย นายธิรพงศ์ นางขวัญเรือนและนายสุเทพ ทำหน้าที่รับเงิน ระหว่างปลายเดือนสิงหาคม 2542 ถึงต้นเดือนกันยายน 2542 มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์นำใบแจ้งหนี้มาชำระค่าบริการประจำเดือน แต่ข้อมูลจากเครื่องรับเงินสดอิเล็กทรอนิกส์แสดงว่าผู้ใช้บริการดังกล่าวยังมีหนี้ค้างชำระในเดือนก่อนหน้านั้น แต่ผู้ใช้บริการโต้แย้งว่าได้นำเงินมาชำระแล้วพร้อมนำหลักฐานใบเสร็จรับเงินมายืนยัน นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้บริการร้องเรียนมายังนายณรงค์ว่า ได้มาชำระค่าบริการโทรศัพท์แล้ว แต่ยังมีหนังสือทวงถามให้ชำระอีก นายณรงค์และนายธิรพงศ์จึงไปตรวจสอบพบว่ามีผู้ใช้บริการโทรศัพท์ค้างชำระค่าใช้บริการหลายรายรวมเป็นเงินประมาณ 300,000 บาท ตามรายงานหนี้ค้างชำระประจำเดือน แต่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์ยืนยันว่าได้ชำระค่าบริการแล้ว เชื่อว่ามีพนักงานของสำนักงานบริการโทรศัพท์สิชลทุจริต นายณรงค์รายงานให้โทรศัพท์จังหวัดนครศรีธรรมราชทราบ วันที่ 9 กันยายน 2542 โทรศัพท์จังหวัดนครศรีธรรมราช มีคำสั่งที่ 54/2542 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบงานรับเงินของสำนักงานบริการโทรศัพท์สิชล ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2542 คณะกรรมการตามคำสั่งดังกล่าวรายงานผลการตรวจสอบว่ามีการทุจริต ตามสำเนารายงานการตรวจสอบงานรับเงิน สำนักงานบริการโทรศัพท์สิชล วันที่ 14 ตุลาคม 2542 นายณรงค์ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ทำการแก้ไข (Delete) รายการชำระเงินค่าบริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและของบริษัท ที ที แอนด์ ที จำกัด ตามสำเนารายงานผลการสอบสวนงานรับเงินของสำนักงานบริการโทรศัพท์สิชล แผ่นที่ 27 และ 28 รวม 45 ราย รวมเป็นเงิน 76,597.60 บาท แล้วยักยอกเงินค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์ดังกล่าวมาเป็นของจำเลย ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด 3 กรรม และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 นั้น ข้อเท็จจริงตรงกับเอกสาร ได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดวันที่ 3 สิงหาคม 2542 จำนวน 1 รายการ และวันที่ 5 สิงหาคม 2542 จำนวน 4 รายการ ส่วนรายการที่เหลืออีก 40 รายการ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานสนับสนุนว่าจำเลยกระทำความผิดในวันดังกล่าวจริงและจากพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าจำเลยกระทำความผิดวันใด จึงไม่อาจสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยว่ารายการที่เหลือเป็นการกระทำในวันใดวันหนึ่งของเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม 2542 อีก 1 กรรม ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย แต่ต้องสันนิษฐานให้เป็นคุณแก่จำเลยว่า จำเลยอาจยักยอกเงินรายการที่เหลืออีก 40 รายการในวันใดวันหนึ่งของวันที่ 3 หรือวันที่ 5 สิงหาคม 2542 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเพียง 2 กรรม และเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 มาใช้บังคับ โดยให้มีผลเป็นอันยกเลิกพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นไป และกำหนดให้นำพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มาใช้บังคับแทน และมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ที่ถูกยกเลิกบัญญัติให้พนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับแทนมิได้บัญญัติให้พนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จึงเป็นการไม่ชอบ การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก เพียงบทเดียว และจำเลยให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการขณะสอบสวนงานรับเงินของสำนักงานบริการโทรศัพท์สิชลรับว่าเป็นผู้ทำการแก้ไขข้อมูลและยักยอกเงินค่าบริการขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทั้งนำสืบรับว่ามีตำแหน่งเป็นพนักงานรับเงิน มีหน้าที่นำเงินที่ได้รับในแต่ละวันนำฝากธนาคาร นับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า นายณรงค์มีอำนาจร้องทุกข์แทนองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า นายณรงค์ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ การร้องทุกข์เป็นอำนาจของผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยหรือหัวหน้าฝ่ายโทรศัพท์ภาคใต้ (หาดใหญ่) เห็นว่า คำสั่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เรื่องมอบหมายให้พนักงานปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยข้อ 4.12.1.1 มีรายละเอียดว่า “การแจ้งความร้องทุกข์และการถอนการแจ้งความร้องทุกข์กรณีเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินขององค์การโทรศัพท์ฯ หรือกรณีอื่น ให้หัวหน้าส่วนงานที่รับผิดชอบตั้งแต่ระดับแผนกขึ้นไปเป็นผู้มีอำนาจ เว้นแต่มีหลักเกณฑ์ขององค์การโทรศัพท์ฯ หรือของทางราชการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น” เมื่อนายณรงค์เป็นผู้จัดการสำนักงานบริการโทรศัพท์สิชลย่อมมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่บุคคลที่ทำให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับความเสียหายได้ตามที่นายณรงค์เบิกความ ส่วนที่จำเลยนำสืบและฎีกาว่าอำนาจร้องทุกข์เป็นของหัวหน้าฝ่ายโทรศัพท์ภาคใต้ (หาดใหญ่) นั้น ตามข้อ 4.12.3.1 มีรายละเอียดว่า “ให้หัวหน้าส่วนงานที่รับผิดชอบส่วนงานมีหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีทางศาลตั้งแต่ระดับฝ่ายขึ้นไปเป็นผู้มีอำนาจ” ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิทางศาลแทนองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จึงต้องให้ระดับฝ่ายเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดี หาใช่เป็นเรื่องมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ตามที่จำเลยนำสืบและฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 6 ปี ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงเหลือจำคุกจำเลย 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share