คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4643/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามคำฟ้องโจทก์ได้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับว่าเป็นการกระทำความผิดหลายกรรม กล่าวคือ ข้อแรก จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำไม้มะค่าโมง ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.ในเขตป่าขุนซ่องโดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ตัดฟันเป็นท่อน ๆ รวม2 ท่อน วัดปริมาตรได้ 3.48 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ข้อสอง จำเลยทั้งห้าร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินบุกรุกเข้าไปทำไม้ ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการกระทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เข้าไปทำไม้มะค่าโมงจำนวน 2 ต้นทำลายต้นไม้ในป่าขุนซ่องอันเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ฯลฯ ก็ตาม แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาในการกระทำผิดว่า จำเลยทั้งห้ากระทำผิดในวันที่24 กุมภาพันธ์ 2538 เวลากลางวัน โดยไม่ได้ระบุว่าการกระทำผิดฐานใดกระทำในวันเวลาใดให้ชัดแจ้ง การบรรยายฟ้องดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำความผิดในคราวเดียวกันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นการกระทำคนละคราวอันจะเป็นความผิดหลายกรรม โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าฐานร่วมกันลักลอบนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางอันเป็นของผลิตในต่างประเทศที่ยังมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้อง เข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร หรือรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยจำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้ลักลอบนำเข้าหลบหนีด่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอาการที่ต้องเสียสำหรับของนั้นอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27,27 ทวิ แสดงว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียวเพราะความผิดดังกล่าวเป็นความผิดคนละฐาน ดังนี้ ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งห้าในทั้งสองฐานความผิดย่อมไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำผิดฐานใด จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลยทั้งห้า เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยทั้งห้าไม่ได้ และหากโจทก์เห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ศาลจดไว้ไม่ชัดแจ้งโจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานต่อไป เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลย คดีจึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสอบถามคำให้การของจำเลยทั้งห้าใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2538 เวลากลางวันจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำไม้มะค่าโมงซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าขุนซ่อง โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ตัดฟันเป็นท่อนรวม 2 ท่อน ปริมาตร 3.48 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และมิได้รับสัมปทานหรือได้รับยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย จำเลยทั้งห้าร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินและเข้าไปทำไม้ดังกล่าว อันเป็นการกระทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และทำลายต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยไม่ได้รับอนุญาตและมิได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ตามวันเวลาดังกล่าว ได้มีผู้นำเลื่อยโซ่ยนต์ยี่ห้อสตีล สีส้มขาว หมายเลขเครื่อง 128158พร้อมอุปกรณ์ ซึ่งเป็นของควบคุมการนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ 1 เครื่อง ราคา 3,000 บาท ซึ่งเป็นของที่ผลิตในประเทศเยอรมนี ที่ยังมิได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรที่จะต้องเสียค่าภาษีศุลกากรขาเข้าสำหรับของดังกล่าว 825 บาท ซึ่งรวมราคาของและค่าอากรแล้วเป็นเงิน3,852 บาท ตามวันเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งห้าพร้อมยึดได้เลื่อยโซ่ยนต์ดังกล่าวเป็นของกลางขณะอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งห้า ทั้งนี้จำเลยทั้งห้าร่วมกันเป็นผู้ลักลอบนำเลื่อยโซ่ยนต์ ซึ่งเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทยหรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งห้าได้รับซื้อ รับจำนำ รับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์ของกลาง และช่วยพาเอาไปเสีย ช่วยจำหน่ายช่วยซ่อนเร้น โดยรู้อยู่ว่าเป็นของที่ผู้อื่นลักลอบนำพาหนีภาษีศุลกากรเข้าในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรที่จะต้องเสีย จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนเดี่ยวลูกซองไม่มีหมายเลขทะเบียนประจำอาวุธปืนของเจ้าพนักงานประทับไว้ 1 กระบอกกระสุนปืนลูกซองเบอร์ 12 จำนวน 7 นัด ซึ่งอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวสามารถใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 1 พาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในหมู่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลขุนช่อง ซึ่งเป็นหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยเปิดเผยโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวไปและไม่ใช่กรณีที่ต้องมีติดตัวไปเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนไทยประดิษฐ์ (ปืนแก๊ป) ไม่มีหมายเลขทะเบียนประจำอาวุธปืนของเจ้าพนักงานประทับไว้ 1 กระบอก ซึ่งอาวุธปืนดังกล่าวสามารถใช้ยิงได้ไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยที่ 2 พาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในหมู่บ้านหมู่ที่ 1ตำบลขุนช่อง ซึ่งเป็นหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยเปิดเผย โดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวไป และไม่ใช่กรณีที่ต้องมีติดตัวไป เมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 11, 69, 73, 74,74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6,9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติสวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535มาตรา 38, 54, 57, 64 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 32 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 11, 69, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 38, 54, 57, 64 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 32 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ลงโทษฐานร่วมกันทำไม้ให้จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันบุกรุกเข้าทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันลักลอบนำเข้าพร้อมกับช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่ายฯ ลงโทษฐานร่วมกันลักลอบนำเข้าหนีภาษีเข้ามาในราชอาณาจักร จำคุกคนละ1 ปี จำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนจำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 2 ฐานมีอาวุธปืนจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนจำคุก 6 เดือน รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2คนละ 5 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 4 ปีจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 คนละ 2 ปี ของกลางริบ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าเฉพาะความผิดฐานร่วมกันทำไม้ กับความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินและตัดฟันไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 73 วรรคหนึ่ง บทหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง บทหนึ่งและพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535มาตรา 38, 54 วรรคหนึ่งอีกบทหนึ่ง เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 38, 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 1 ปีให้ยกฟ้องความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรฯ รวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 คนละ 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้จำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3และที่ 4 ต่างฎีกา เห็นสมควรให้วินิจฉัยฎีกาของโจทก์ก่อนปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องข้อ 3.1 และ 3.2 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นการกระทำผิดคนละคราวอันเป็นความผิดหลายกรรมชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องโจทก์ได้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับว่าเป็นการกระทำความผิดหลายกรรม กล่าวคือ ข้อ 3.1 จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำมะค่าโมงซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในเขตป่าขุนซ่องโดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ตัดฟังเป็นท่อน ๆ รวม 2 ท่อน วัดปริมาตรได้3.48 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ข้อ 3.2 จำเลยทั้งห้าร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน บุกรุกเข้าไปทำไม้ ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการกระทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เข้าไปทำไม้มะค่าโมง จำนวน 2 ต้น ทำลายต้นไม้ในป่าขุนซ่องอันเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ฯลฯ แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาในการกระทำผิดว่าจำเลยทั้งห้ากระทำผิดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2538 เวลากลางวันโดยไม่ได้ระบุว่าการกระทำผิดฐานใดกระทำในวันเวลาใดให้ชัดแจ้ง การบรรยายฟ้องดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำความผิดในคราวเดียวกันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นการกระทำคนละคราวอันจะเป็นความผิดหลายกรรม
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อต่อไปมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำฟ้องข้อ 3.3และข้อ 3.4 ชอบหรือไม่เห็นว่า ตามฟ้องข้อ 3.3 และข้อ 3.4โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าฐานร่วมกันลักลอบนำเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางอันเป็นของผลิตในต่างประเทศที่ยังมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้อง เข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรหรือรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยจำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้ลักลอบนำเข้าหลบหนีด่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ แสดงว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียวเพราะความผิดดังกล่าวเป็นความผิดคนละฐาน จะลงโทษจำเลยทั้งห้าในทั้งสองฐานความผิดย่อมไม่ได้ คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งห้าที่ว่าจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำผิดฐานใดจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลยทั้งห้าเมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยทั้งห้าไม่ได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 674/2529 ระหว่าง พนักงานอัยการกรมอัยการ โจทก์ นายรัตนเดช ชีวางกูร จำเลย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การสอบถามคำให้การจำเลยเป็นหน้าที่ของศาล เมื่อจำเลยให้การไม่แจ้งชัด ศาลชอบที่จะสอบถามให้แจ้งชัด มิใช่หน้าที่ของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบที่จะย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสอบคำให้การจำเลยทั้งห้าให้ชัดแจ้งใหม่นั้น เห็นว่า ในวันสอบคำให้การจำเลยหากโจทก์เห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ศาลจดไว้ไม่ชัดแจ้ง โจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานต่อไป เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลย คดีจึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสอบถามคำให้การของจำเลยทั้งห้าใหม่
พิพากษายืน

Share