คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2227/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

“เอกสารสิทธิ” ตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ แต่แบบคำขอใช้บริการบัวหลวง เอ.ที.เอ็ม ที่จำเลยปลอมขึ้นนั้นเป็นเอกสารที่จำเลยใช้ยื่นต่อธนาคารผู้เสียหายเพื่อขอให้ ส. ซึ่งเป็นลูกค้าเงินฝากประเภทสะสมทรัพย์ของธนาคารผู้เสียหายได้ใช้บัตรฝากถอนเงินอัตโนมัติ แต่ยังไม่แน่ว่าธนาคารผู้เสียหายจะอนุมัติตามแบบคำขอใช้บริการดังกล่าวหรือไม่ แบบคำขอใช้บริการดังกล่าวมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิในการฝาก – ถอนเงินกับธนาคารผู้เสียหายโดยตรง จึงมิใช่เอกสารสิทธิตามความใน ป.อ. มาตรา 1 (9) การกระทำของจำเลยซึ่งปลอมแบบคำขอใช้บริการดังกล่าวและใช้เอกสารดังกล่าว จึงไม่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม คงเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268, 341, 83 และ 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 และ 341 (ที่ถูก ประกอบด้วยมาตรา 83) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 6 เดือน ฐานฉ้อโกง จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 10 กระทง จำคุก 3 ปี 4 เดือน รวมเป็นจำคุก 3 ปี 10 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 11 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้น เห็นว่า “เอกสารสิทธิ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ แต่แบบคำขอใช้บริการบัวหลวง เอ.ที.เอ็ม. ที่จำเลยปลอมขึ้นนั้นเป็นเอกสารที่จำเลยใช้ยื่นต่อธนาคารผู้เสียหายเพื่อขอให้นายสำเริง ขวัญวงศ์ ซึ่งเป็นลูกค้าเงินฝากประเภทสะสมทรัพย์ของธนาคารผู้เสียหายได้ใช้บัตรฝาก – ถอนเงินอัตโนมัติ แต่ยังไม่แน่ว่าธนาคารผู้เสียหายจะอนุมัติตามแบบคำขอใช้บริการดังกล่าวหรือไม่ แบบคำขอใช้บริการดังกล่าวมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิในการฝาก – ถอนเงินกับธนาคารผู้เสียหายโดยตรง จึงมิใช่เอกสารสิทธิตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) การกระทำของจำเลยซึ่งปลอมแบบคำขอใช้บริการดังกล่าวและใช้เอกสารดังกล่าว จึงไม่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม คงเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับเฉพาะบทลงโทษจำเลยเสียใหม่ให้ถูกต้อง ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารผู้เสียหายจึงเป็นผู้ที่ควรได้รับการคาดหมายในความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอย่างยิ่ง แต่จำเลยกลับมาเป็นผู้กระทำความผิดเสียเองโดยกระทำความผิดหลายครั้งและได้เงินไปถึง 70,011 บาท ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้าผู้สุจริตของธนาคารผู้เสียหายได้ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จำเลยคืนเงินทั้งหมดให้แก่ธนาคารผู้เสียหายแล้วและจำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ก็ตาม แต่ยังเป็นการไม่สมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรกและ 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรกตามมาตรา 268 วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 2

Share