คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 538/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การที่จำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกอยู่ในฐานะครอบครองทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดแทนทายาทได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเปลี่ยนแปลงฐานะผู้จัดการมรดกเป็นฐานะส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียวจำเลยที่1ยังคงไม่ได้สิทธิในส่วนมรดกของโจทก์ทั้งสองก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่1โอนขายทรัพย์มรดกพิพาทนี้ให้แก่จำเลยที่2โดยมีค่าตอบแทนและจำเลยที่2ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับโอนสิทธิมาโดยสุจริตกรณีย่อมต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1300ซึ่งคุ้มครองเป็นพิเศษสิทธิของจำเลยที่2ผู้รับโอนจึงดีกว่าจำเลยที่1ผู้โอน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางนิ่มกับนางทอง สังครัตน์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 8 คน คือโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 นายพร้อม สังครัตน์นายพริ่มหรือชูด สังครัตน์ โจทก์ที่ 2 นางปั้น สังมันนายปิ่น สังครัตน์ และนางจันทร์ ฆังคสุวรรณ นายทองถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมานางนิ่มถึงแก่ความตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินรวม 2 แปลง คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 17 และ 18 ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1ตำบลชิงโค อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โจทก์ทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกในทรัพย์ดังกล่าว จำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของนางนิ่มตามคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่26 ตุลาคม 2524 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 497/2524 แต่จำเลยที่ 1มิได้จัดการแบ่งปันที่ดินแปลงที่ 1 ให้แก่โจทก์ทั้งสองและทายาทอื่นในวันที่ 3 กันยายน 2530 โจทก์ที่ 1 จึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอเพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางนิ่มและแต่งตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแทน ต่อมาวันที่10 กันยายน 2530 โจทก์ทั้งสองได้ทราบว่าจำเลยที่ 1 เบียดบังเอาทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงและกระทำการผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล คือเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2526จำเลยที่ 1 ยื่นเรื่องราวขอเปลี่ยนแปลงเอกสารสิทธิในที่ดินทั้งสองแปลงจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เป็นโฉนดที่ดินในชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนิ่มโดยที่ดินแปลงที่ 1 ขอออกเป็นโฉนดที่ดินจำนวน 2 โฉนด คือโฉนดที่ดินเลขที่ 23634 และ 23635 และแปลงที่ 2 ขอออกโฉนดที่ดินจำนวน 9 โฉนด คือโฉนดที่ดินเลขที่ 32364 ถึง 32372 ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2526 จำเลยที่ 1 ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23634 และ 23635 จากในฐานะผู้จัดการมรดกโอนให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียวและในวันที่ 3 กันยายน 2530 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 โดยในการโอนที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 1 มิได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบ โจทก์ทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมและไม่ได้รับเงินที่ได้จากการขายทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 1แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 23634 และ23635 เป็นชื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว หรือโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยลำพังเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองมารวมกันจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23634 และ 23635 โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการดำเนินการดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23634 และ 23635 จากฐานะผู้จัดการมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนโดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการดำเนินการดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นางนิ่ม สังครัตน์ หรือพรหมอินทร์ขณะยังมีชีวิตอยู่มีที่ดินรวม 3 แปลง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลชิงโคอำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ 27 ไร่และ 10 ไร่ ตามลำดับ และได้ยกที่ดินแปลงที่ 1 ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละประมาณ 6 ไร่ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2497 สำหรับที่ดินที่เหลืออีก 2 แปลง นางนิ่มขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เมื่อ พ.ศ. 2499 คือ แปลงที่ 2 เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 17 และแปลงที่ 3 เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 18ใน พ.ศ. 2524 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางนิ่ม หลังจากนั้นมีการตกลงระหว่างทายาททั้งหมดเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกนำที่ดินแปลงที่ 2 ที่ 3 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 17และ 18 ไปยื่นเรื่องราวขอออกโฉนดต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาโดยมีชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกในโฉนดที่ดินดังกล่าวและที่ดินแปลงที่ 2 นั้นตกลงแบ่งให้ทายาท 6 คน คือ จำเลยที่ 1นายพร้อม สังครัตน์ นายพริ่ม สังครัตน์ นางปั้น สังมันนายปิ่น สังครัตน์ และนางจันทร์ ฆังคสุวรรณ ได้รับส่วนแบ่งคนละประมาณ 4 ไร่ 2 งาน ส่วนโจทก์ทั้งสองเคยได้รับส่วนแบ่งคนละ6 ไร่ ในที่ดินแปลงที่ 1 ไปก่อนแล้ว และได้สละส่วนแบ่งมรดกในที่ดินแปลงที่ 2 นั้น แต่นางปั้นและนายปิ่นขายที่ดินส่วนของตนทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนนายพร้อมและนายพริ่มขายที่ดินส่วนของตนให้แก่นางจันทร์ ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 และนางจันทร์คนละ 13 ไร่ 2 งาน เท่ากัน จึงขอออกโฉนดที่ดินเป็น 2 โฉนด คือโฉนดที่ดินเลขที่ 23634 และ 23635 สำหรับที่ดินแปลงที่ 3 คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 18แบ่งให้แก่ทายาททั้ง 8 คน คนละเท่า ๆ กันเนื้อที่คนละ 1 ไร่2 งาน จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกอย่างถูกต้องทุกประการและการจัดการมรดกเสร็จสิ้นลงแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 กับนางจันทร์ขายที่ดินแปลงที่ 2 ในส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23634 และ 23635 ทั้งสองแปลงโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2530 โดยสุจริต และมีค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 23634และ 23635 จากจำเลยที่ 1 และนางจันทร์ โดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 3 กันยายน2530 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกอยู่ในฐานะครอบครองทรัพย์มรดก คือที่ดินพิพาทแทนทายาทได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเปลี่ยนแปลงจากฐานะผู้จัดการมรดกเป็นฐานะส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียวจำเลยที่ 1 ก็ยังคงไม่ได้สิทธิในส่วนมรดกของโจทก์ทั้งสอง แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะโอนกรรมสิทธิ์มรดกพิพาทนี้ให้แก่จำเลยที่ 2โดยมีค่าตอบแทนจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาท เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนนั้น เห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแห่งสิทธิคือโฉนด นิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับโอนสิทธิมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ซึ่งคุ้มครองเป็นพิเศษ ไม่อาจเรียกให้เพิกถอนได้ สิทธิของจำเลยที่ 2ผู้รับโอนจึงดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้โอน โดยในกรณีนี้เป็นข้อยกเว้น
พิพากษายืน

Share