คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4642/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงขอเปิดบัญชีเดินสะพัดระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้เป็นข้อตกลงที่ให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกันโดยไม่มีกำหนดเวลา และลูกหนี้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2524 และมีการนำเงินเข้าออกสะพัดทางบัญชีกันตลอดมา แต่หลังจากวันที่ 5 ตุลาคม 2525 แล้ว ลูกหนี้ไม่เคยนำเงินเข้าบัญชีหรือถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวอีกเลยคงมีแต่รายการคิดคำนวณดอกเบี้ยตลอดมา ดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันต่อไป และเจ้าหนี้ได้หักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ปรากฎว่าลูกหนี้เป็นเจ้าหนี้อยู่เพียง 9,499.74 บาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นการคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกัน พฤติการณ์ของเจ้าหนี้และลูกหนี้ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ซึ่งเป็นวันคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวได้ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2525เป็นต้นไป แต่เจ้าหนี้เพิ่งมายื่นคำขอรับชำระหนี้ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 เกินกว่า 10 ปี เป็นหนี้ที่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลูกหนี้ (จำเลย)ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2536 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 ต่อมาธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเงิน 66,521.12 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ขาดอายุความแล้ว เป็นหนี้ที่ฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 94(1) เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้เสียทั้งสิ้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเงิน 66,521.12 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่14 ตุลาคม 2524 บริษัทลูกหนี้ขอเปิดบัญชีเดินสะพัดกับธนาคารเจ้าหนี้ ตามเอกสารหมาย จ.4 มีข้อตกลงให้ใช้เช็คในการเบิกจ่ายเงินจากบัญชี หากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ถ้าเจ้าหนี้ทดรองจ่ายเงินไปลูกหนี้ยอมปฎิบัติตามระเบียบคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัดและระเบียบของเจ้าหนี้ทุกประการ และในวันเดียวกันนั้นลูกหนี้ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 02973 กับเจ้าหนี้ บัญชีดังกล่าวภายหลังเปลี่ยนเป็นบัญชีเลขที่001-1-00177-9 หลังจากเปิดบัญชีแล้วมีการเบิกเงินออกจากบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวหลายครั้งต่อมาลูกหนี้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับเจ้าหนี้เพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศและเจ้าหนี้ได้ทดรองจ่ายเงินตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตแทนลูกหนี้ไปคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 4,512,381.84 บาท แล้วนำเงินลงบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของลูกหนี้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม2525 เมื่อหักทอนบัญชีแล้วลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ 4,564,803.96บาท วันที่ 10 กันยายน 2525 ลูกหนี้นำเงินจำนวน 4,577,151บาท เข้าหักทอนบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 02973 ปรากฎว่าลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ 9,038.74 บาท วันที่ 5 ตุลาคม 2525เจ้าหนี้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งลูกหนี้ต้องชำระแก่เจ้าหนี้จำนวน 461 บาท มาหักทอนบัญชีอีก ปรากฎว่าลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ 9,499.74 บาท หลังจากนั้นไม่มีการหักทอนบัญชีอีก เจ้าหนี้คงคิดดอกเบี้ยทบต้นจากลูกหนี้ตามอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดตลอดมา ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2536 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 เจ้าหนี้จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นเงิน66,521.12 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่เพียงใด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่าตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.5 ปรากฎว่ามีการหักทอนบัญชีกันครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2525ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ 9,499.74 บาท ต่อจากนั้นไม่มีการหักทอนบัญชีกันอีก คงมีเพียงรายการคำนวณดอกเบี้ยเท่านั้นพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ไม่ประสงค์ให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไป ถือว่าบัญชีเดินสะพัดระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้สิ้นสุดลงโดยปริยายแล้ว เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537เกินกว่า 10 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิรับชำระหนี้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อตกลงขอเปิดบัญชีเดินสะพัดระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้เป็นข้อตกลงที่ให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกันโดยไม่มีกำหนดเวลาจึงมีปัญหาว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้สิ้นสุดเมื่อใด ได้ความจากการ์ดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 02973เอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเจ้าหนี้อ้างเป็นพยานว่า ลูกหนี้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 02973 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2524ในวันดังกล่าวเจ้าหนี้นำเงินฝากในบัญชีดังกล่าว 10,000 บาทหลังจากนั้นลูกหนี้ได้ถอนเงินออกจากบัญชีรวม 4 ครั้งเหลือเงินในบัญชีอยู่ 1,583.87 บาท ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2525 เจ้าหนี้นำเงินที่จ่ายทดรองให้ลูกหนี้ไปตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตจำนวน 4,512,381.84 บาท มาหักทอนบัญชีแล้วลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ 4,510,797.96 บาท เมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ 4,464,803.96 บาท ต่อมาวันที่ 10กันยายน 2525 ลูกหนี้นำเงินเข้าฝากเพื่อหักทอนบัญชีจำนวน4,577,151 บาท เมื่อหักค่าดอกเบี้ยแล้วลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ 9,038.74 บาท วันที่ 5 ตุลาคม 2525 เจ้าหนี้นำค่าธรรมเนียมซึ่งลูกหนี้ต้องชำระแก่เจ้าหนี้เข้าหักทอนบัญชีอีก 461 บาท ลูกหนี้คงเป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ 9,499.74 บาทหลังจากวันที่ 5 ตุลาคม 2525 แล้วลูกหนี้ไม่เคยนำเงินเข้าบัญชีหรือถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวอีกเลยคงมีแต่รายการคิดคำนวณดอกเบี้ยตลอดมา ดังนี้ย่อมแสดงให้แสดงให้เห็นเจตนาของเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันต่อไป และเจ้าหนี้ได้หักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ปรากฎว่าลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่เพียง 9,499.74 บาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นการคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกันพฤติการณ์ของเจ้าหนี้และลูกหนี้ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาเดินสะพัดที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ซึ่งเป็นวันคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2525 เป็นต้นไป แต่เจ้าหนี้เพิ่งมายื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 เกินกว่า 10 ปี เป็นหนี้ที่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

Share