แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีอาญาจำเลยยื่นอุทธรณ์ อุทธรณ์จำเลยเป็นคำคู่ความ การยื่นคำคู่ความประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการยื่นหรือสั่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดอันจะต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ เจ้าพนักงานคู่ความหรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องจะต้องใช้กระดาษแบบพิมพ์นั้น ฯลฯ” จำเลยอุทธรณ์โดยใช้กระดาษแบบพิมพ์ที่กระทรวงยุติธรรมจัดไว้ และมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 67. คงขาดลายมือชื่อผู้เรียง ในช่องผู้เรียงในกระดาษแบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์ ถือว่ายังไม่บริบูรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้แล้วศาลอุทธรณ์ชอบที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นแก้ไขให้บริบูรณ์เสียก่อนชี้ขาดตัดสินคดี จะยกอุทธรณ์จำเลยยังไม่ชอบ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยื่นอุทธรณ์มาในฉบับเดียวกันศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง เพราะเหตุไม่มีลายมือชื่อผู้เรียงในท้ายอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ฎีกาขึ้นมาคนเดียว เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ชอบที่จะสั่งให้แก้ไขให้บริบูรณ์ ก็พิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วยได้เพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 295, 83 ขอเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 93 ขอให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 3 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 จำคุก 10 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุก 15 ปีปืนของกลางคืนเจ้าของ ของกลางนอกจากนี้ให้ริบ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานพยายามฆ่า
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง หากศาลฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดจริงก็ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไม่มีผู้เรียง ย่อมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) ประกอบมาตรา 215 จึงยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดฐานพยายามฆ่า พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา ข้อที่ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำผิดตามฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นคำคู่ความ แต่การยื่นคำคู่ความไม่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเฉพาะคงบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 วรรคแรก (5)ว่า คำคู่ความนั้นให้ลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงาน คู่ความ หรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ยื่นหรือส่ง เท่านั้น มิได้กล่าวถึงลายมือชื่อของผู้เรียงคำคู่ความแต่อย่างใดแต่มาตรา 67 วรรคสอง บัญญัติบังคับไว้ว่า “ในการยื่นหรือส่งคำคู่ความ หรือเอกสารอื่นใดอันจะต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ เจ้าพนักงานคู่ความหรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องจะต้องใช้กระดาษแบบพิมพ์นั้น ฯลฯ” จึงนำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 มาใช้บังคับในคดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จำเลยอุทธรณ์โดยใช้กระดาษแบบพิมพ์ที่กระทรวงยุติธรรมจัดไว้และมีรายการครบถ้วนตามบทบัญญัติของมาตรา 67 ดังกล่าว คงขาดลายมือชื่อของผู้เรียงในกระดาษแบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์ช่องผู้เรียงเท่านั้นจึงถือว่ายังไม่บริบูรณ์ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะสั่งให้ศาลชั้นต้นแก้ไขข้อความให้บริบูรณ์เสียก่อนชี้ขาดตัดสินคดีฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1ที่มิได้ฎีกาด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณา โดยให้จำเลยจัดการลงลายมือชื่อผู้เรียงในกระดาษแบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์ช่องผู้เรียงเสียก่อน แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่