แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้าง โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างและมีกำหนดจ่ายค่าจ้างกันก่อนวันสิ้นเดือนของทุกเดือนโดยให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันวันที่ 1 สิงหาคม2541 แต่โจทก์ทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างในวันที่ 1 กรกฎาคม 2541ต้องถือว่าจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ในวันที่โจทก์ได้ทราบการบอกกล่าวเลิกจ้าง คือวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 และเป็นผลให้เลิกสัญญาจ้างกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า คือในวันที่ 30 สิงหาคม 2541 การบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยที่ประสงค์ให้เป็นผลเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 1 สิงหาคม 2541จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 61 วัน
โจทก์บรรยายฟ้องและรับตามคำแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคือเดือนกรกฎาคม 2541 และโจทก์ได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนดังกล่าวไปแล้ว โจทก์จึงยังคงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเฉพาะเดือนสิงหาคม 2541 จำนวน30 วัน การที่ศาลแรงงานพิพากษาให้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างคนละ 61 วัน โดยนำสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนกรกฎาคม 2541 มารวมด้วยเป็นการพิพากษาให้เกินสิทธิที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับและเกินคำขอท้ายฟ้องจึงไม่เป็นธรรมแก่จำเลยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52
โจทก์เป็นลูกจ้างโรงงานน้ำตาล ส. ซึ่งเป็นกิจการในการดำเนินการควบคุมดูแลของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาในการจ้าง หลังวันที่ 30 พฤษภาคม 2526 จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือค่าชดเชยกับเงินบำเหน็จที่ต้องจ่ายเพิ่มในกรณีค่าชดเชยต่ำกว่าเงินบำเหน็จจะมีจำนวนเท่าใด ย่อมเป็นไปตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527ข้อ 12 ส่วนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้กระทรวงการคลังพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น เงินเดือน ค่าชดเชย และเงินบำเหน็จต่อไป กับอนุมัติให้นำเงินที่ได้จากการขายโรงงานน้ำตาลไปชำระหนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัด และให้นำเงินส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้ส่งคณะกรรมการชำระบัญชีฯ เพื่อดำเนินการจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยแก่พนักงานพร้อมกับดำเนินการในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชำระบัญชีต่อไปนั้น เป็นเพียงการอนุมัติให้กระทรวงการคลังสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กับให้นำเงินที่ได้จากการขายโรงงานน้ำตาลซึ่งเหลือจากการชำระหนี้ไปจ่ายเป็นค่าชดเชยและเงินบำเหน็จแก่พนักงานที่มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 ข้อ 12 เท่านั้น หาได้อนุมัติให้พนักงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จเพิ่มขึ้นหรือผิดแผกไปจากที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับดังกล่าว ข้อ 12 ไม่ ทั้งจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้โจทก์โดยคำนวณบำเหน็จและค่าชดเชยถูกต้องครบถ้วนตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527ข้อ 12 แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นอีกส่วนหนึ่ง
ย่อยาว
คดีทั้งเจ็ดสิบเจ็ดสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 77
โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดสำนวนฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดทำงานเป็นพนักงานโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรีอันเป็นกิจการในการดำเนินการควบคุมดูแลของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาในการจ้าง โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนกรกฎาคม2541 ก่อนจำเลยเลิกจ้างคนละเดือนละระหว่าง 5,450 บาท ถึง 21,620บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันสิ้นเดือนของทุกเดือน 1 วัน ต่อมาวันที่ 1กรกฎาคม 2541 จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดโดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 เนื่องจากจำเลยโอนขายกิจการโรงงานน้ำตาลให้บุคคลอื่น ในวันเดียวกันโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดได้รับทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างดังกล่าว ซึ่งเป็นการบอกกล่าวที่มิชอบ โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดจึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินระหว่าง5,450 บาท ถึง 21,620 บาท กับเงินบำเหน็จโดยใช้อายุงานคูณด้วยเงินเดือนสุดท้ายของโจทก์แต่ละคนตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อคำนวณตามเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จคนละระหว่าง32,700 บาท ถึง 129,720 บาท โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดทวงถามแล้ว จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะจ่ายเสร็จตาคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวนแก่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ด
จำเลยทั้งเจ็ดสิบเจ็ดสำนวนให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดเป็นลูกจ้างจำเลยตามวันเข้าทำงานและค่าจ้างอัตราสุดท้ายดังระบุในบัญชีสำหรับรวมการพิจารณาเอกสารหมาย จ.ล.1 โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างกำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดเป็นลูกจ้างจำเลย หลังวันที่ 30 พฤษภาคม 2526 และแต่ละคนมีอายุงานเกิน 5 ปีจำเลยออกข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 วางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินบำเหน็จตามเอกสารหมาย จ.ล.2 วันที่ 29 มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ด โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1สิงหาคม 2541 แต่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ดังนั้น ถ้าจำเลยต้องการให้เลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จำเลยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนหรืออย่างช้าวันที่ 29 มิถุนายน 2541 การที่จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดในวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม2541 จึงเป็นการบอกกล่าวที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 และไม่เป็นผลให้เลิกสัญญากันในวันที่ 1 สิงหาคม 2541ดังระบุไว้ในหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลย จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์แต่ละคนรวมคนละ 61 วัน และแม้โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดเรียกมาเพียงคนละ 30 วัน แต่ศาลเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามความจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 ส่วนดอกเบี้ยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดทวงถามเมื่อใด จึงกำหนดดอกเบี้ยให้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดเข้าทำงานหลังวันที่ 30 พฤษภาคม 2526 จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยอย่างเดียว หรือค่าชดเชยกับเงินบำเหน็จที่จ่ายเพิ่มในกรณีค่าชดเชยต่ำกว่าเงินบำเหน็จตามที่กำหนดในข้อบังคับโรงงานน้ำตาลกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 เอกสารหมาย จ.ล.2 ข้อ 12 ส่วนมติคณะรัฐมนตรีที่ให้กระทรวงการคลังสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น เงินเดือน ค่าชดเชย และเงินบำเหน็จต่อไปนั้นเป็นการวางหลักเกณฑ์ให้ปฏิบัติทั่วไป จำเลยจะจ่ายเงินใดบ้างต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับจำเลย และจำเลยจ่ายเงินตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาลเอกสารหมาย จ.ล.2 ให้โจทก์แต่ละคนครบถ้วนแล้วตามบัญชีรายละเอียดเอกสารท้ายคำให้การพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดคนละเท่ากับค่าจ้าง 61 วัน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะจ่ายเสร็จตามบัญชีท้ายคำพิพากษาคำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดสิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่าเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดเป็นผลให้เลิกสัญญาจ้างกันวันที่ 1 สิงหาคม 2541 แต่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดลงลายมือชื่อในหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม2541 เพื่อรับทราบไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น การบอกกล่าวเลิกจ้างในวันที่ 29มิถุนายน 2541 จึงชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ด แต่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างในวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ดังนี้ต้องถือว่าจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดในวันที่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดได้ทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างคือวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 และเป็นผลให้เลิกสัญญาจ้างกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าในวันที่ 30 สิงหาคม 2541การบอกกล่าวเลิกจ้างดังกล่าวของจำเลยที่ประสงค์ให้เป็นผลเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์แต่ละคนเกินคำขอท้ายฟ้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดในวันที่ 29 มิถุนายน 2541 และโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างในวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เป็นผลให้เลิกสัญญาจ้างกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าในวันที่ 30สิงหาคม 2541 ฉะนั้น โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดจึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างคนละ 61 วัน แต่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดบรรยายฟ้องและรับตามคำแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดได้รับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคือเดือนกรกฎาคม 2541 คนละเดือนละ 5,450 บาท ถึง21,620 บาท และได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดจึงยังคงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเฉพาะเดือนสิงหาคม 2541 จำนวน 30 วัน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดยังมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างคนละ 61 วันอีก เป็นการพิพากษาให้เกินสิทธิที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับและเกินคำขอท้ายฟ้อง จึงไม่เป็นธรรมแก่จำเลย และไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52
สำหรับอุทธรณ์โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดว่า โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเต็มจำนวนตามฟ้อง โดยอ้างว่านอกจากจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 ข้อ 12 แล้ว ยังมีสิทธิได้เงินบำเหน็จตามมติคณะรัฐมนตรีด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดเป็นลูกจ้างจำเลยหลังวันที่ 30 พฤษภาคม 2526 สิทธิได้รับค่าชดเชยหรือค่าชดเชยกับเงินบำเหน็จที่ต้องจ่ายเพิ่มในกรณีค่าชดเชยต่ำกว่าเงินบำเหน็จจะมีจำนวนเท่าใด ย่อมเป็นไปตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 ข้อ 12 ส่วนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้กระทรวงการคลังพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น เงินเดือนค่าชดเชย และเงินบำเหน็จต่อไป กับอนุมัติให้นำเงินที่ได้จากการขายโรงงานน้ำตาลไปชำระหนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัด และให้นำเงินส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้ส่งคณะกรรมการชำระบัญชีฯ เพื่อดำเนินการจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยแก่พนักงานพร้อมกับดำเนินการในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชำระบัญชีต่อไปนั้น เป็นเพียงการอนุมัติให้กระทรวงการคลังสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กับให้นำเงินที่ได้จากการขายโรงงานน้ำตาลซึ่งเหลือจากการชำระหนี้ไปจ่ายเป็นค่าชดเชยและเงินบำเหน็จแก่พนักงานที่มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 ข้อ 12 เท่านั้น หาได้อนุมัติให้พนักงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จเพิ่มขึ้นหรือผิดแผกไปจากที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับดังกล่าว ข้อ 12 ไม่ ทั้งจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้โจทก์แต่ละคนตามบัญชีรายละเอียดคำนวณบำเหน็จและค่าชดเชยเอกสารท้ายคำให้การถูกต้องครบถ้วนตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาลกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 ข้อ 12 แล้ว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 77 เท่ากับค่าจ้างคนละ 30 วัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง