คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4621/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีอาญาโดยมอบอำนาจให้ ช. ดำเนินคดีแทน ในหนังสือมอบอำนาจมีข้อความระบุว่าให้ ช. เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญากับจำเลยโดยให้มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ เช่นนี้ คำว่า ให้มีอำนาจดำเนินคดีอาญา ย่อมหมายความว่าให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลนั่นเอง หาได้มีแต่อำนาจในการร้องทุกข์เพียงเท่านั้นไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายชาญ ฟ้องคดีแทน จำเลยทั้งสองได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้ให้โจทก์ แต่เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พุทธศักราช 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 1 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า มีปัญหาในชั้นฎีกาเพียงข้อเดียวว่า ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องหรือไม่ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่า ข้าพเจ้าห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีสกุลรุ่งโรจน์ ขอมอบอำนาจให้นายชาญ เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญากับห้างหุ้นส่วนจำกัด เพลินพิศรวมช่าง ซึ่งมีนายจิระวัฒน์เป็นผู้จัดการ โดยให้มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือมีอำนาจดำเนินคดีแพ่ง โดยให้มีอำนาจดำเนินคดีไปในทางจำหน่ายสิทธิได้ เช่น ยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายเรียกร้องการถอนฟ้องการประนีประนอมยอมความ การใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา ฯลฯ ตลอดจนให้มีอำนาจแต่งตั้งทนายความได้ด้วย จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตามเอกสารดังกล่าวนี้ไม่มีข้อความระบุว่าให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งโดยตรง เพียงแต่ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเท่านั้น จึงไม่หมายความรวมถึงให้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลด้วย เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (2)ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 คำว่า คดี หมายความว่า กระบวนพิจารณานับตั้งแต่เสนอคำฟ้องต่อศาลดังนั้นคำว่าให้มีอำนาจดำเนินคดีอาญา ย่อมหมายความว่าให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลนั่นเอง การที่หนังสือมอบอำนาจมีข้อความต่อไปอีกว่าโดยให้มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น ก็เป็นการระบุเน้นให้ชัดว่าผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการดังกล่าวได้ เพราะการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาย่อมไม่หมายรวมถึงอำนาจร้องทุกข์ด้วยอีกทั้งยังเห็นได้จากการที่มอบอำนาจให้ดำเนินคดีแพ่งโดยให้มีอำนาจไปในทางจำหน่ายสิทธิการใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกา และอื่น ๆ ซึ่งเป็นการระบุอำนาจเพิ่มเติมให้ชัดขึ้นเมื่อได้ฟ้องคดีแพ่งต่อศาลแล้วดังนั้น ข้อความในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 ที่ระบุอำนาจต่าง ๆ ไว้ชัดเจนไม่ได้หมายความว่าผู้รับมอบอำนาจจะมีอำนาจกระทำได้เพียงเท่านั้นโดยไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่ง เห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องคดีอาญา
พิพากษายืน.

Share