แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การนับอายุความนั้นต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 เมื่อโจทก์กับจำเลยตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนและจำเลยต้องชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งหนี้ เมื่อพ้นกำหนดเวลา 30 วันแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องค่าเช่าค้างชำระได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้สัญญาเช่าสิ้นสุดหรือให้จำเลยส่งมอบเครื่องจักรคืนโจทก์ก่อน อายุความเรียกค่าเช่าค้างชำระ 2 ปี จึงเริ่มนับแต่วันที่จำเลยได้รับใบแจ้งหนี้ในแต่ละฉบับ
เมื่อนับจากวันที่พ้นกำหนดชำระหนี้ในใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 16 กรกฎาคม 2547 มีเพียงหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 เพียง 2 ฉบับ ซึ่งจำเลยต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2545 และวันที่ 18 ตุลาคม 2545 เท่านั้นที่ไม่เกิน 2 ปี ส่วนหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ ซึ่งถึงกำหนดชำระภายในระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2545 เกิน 2 ปีแล้ว แต่จำเลยได้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนรวม 3 ครั้ง โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ซึ่งจำเลยย่อมทราบแล้วว่าจำเลยมีหนี้ที่ถึงกำหนดต้องชำระตามใบแจ้งหนี้ เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ เพราะวันที่ถึงกำหนดชำระตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ อยู่ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2545ซึ่งเป็นวันก่อนที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย การที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์หลายจำนวนและนำเงินมาผ่อนชำระหนี้โดยไม่ระบุว่าชำระหนี้รายใด ถือว่าเป็นการชำระหนี้บางส่วนของหนี้ทั้งหมดแล้ว อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงทั้งหมดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ยังไม่เกิน 2 ปี หนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ จึงไม่ขาดอายุความ หนี้ของโจทก์ทั้งหมดตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.16 รวมทั้งสิ้น 10 ฉบับ จึงไม่ขาดอายุความด้วย ส่วนวิธีการชำระหนี้กรณีที่จำเลยไม่ได้ระบุว่าให้ชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้ฉบับใด จึงต้องนำไปชำระหนี้ที่ถึงกำหนดก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง
โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้กับกรมสรรพากรอันจะมีสิทธิและหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลย จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยรับผิดค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,138,737.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 816,199.61 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 141,655.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,679.61 บาท 98,982 บาท และ 32,944 บาท นับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2545 วันที่ 30 สิงหาคม 2545 และวันที่ 19 ตุลาคม 2545 ตามลำดับจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “… ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2544 จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเช่าเครื่องจักร ยานพาหนะพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สำหรับงานอุตสาหกรรมก่อสร้างไว้แก่โจทก์ ตามบันทึกข้อตกลงการเช่าเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2544 โจทก์ส่งมอบเครื่องจักรประเภทรถขุดจำนวน 1 คัน พร้อมบุ้งกี๋ที่จำเลยขอเช่าให้แก่จำเลย ตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.6 จำเลยได้รับรถขุดและใช้ประโยชน์แล้ว หลังจากนั้นโจทก์ได้ส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยตรวจสอบพร้อมกับให้ลงลายมือชื่อยืนยันความถูกต้อง ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.16 จำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วน รวมเป็นเงิน 100,300.39 บาท โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ตามสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.17 ถึง จ.19 หลังจากนั้นจำเลยไม่ชำระค่าเช่าแก่โจทก์อีก
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า การเรียกค่าเช่าค้างชำระของโจทก์มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันสิ้นสุดของสัญญาเช่าหรือวันส่งมอบเครื่องจักรคืนแก่โจทก์ การที่จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนรวม 3 ครั้ง โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 รวมเป็นเงิน 100,300.39 บาท และยังได้มอบหมายผู้แทนซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับจำเลยนำเช็คมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสำเนาใบรับเงินชั่วคราวและสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.22 และ จ.23 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า จำเลยตกลงเช่าเครื่องจักรประเภทรถขุดจำนวน 1 คัน พร้อมบุ้งกี๋จากโจทก์ โจทก์ได้ส่งมอบรถขุดดังกล่าวให้และจำเลยได้ใช้ประโยชน์แล้ว โดยคิดค่าเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 109,980 บาท จำเลยจะต้องชำระค่าเช่าภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งหนี้ตามบันทึกข้อตกลงการเช่าและใบส่งของเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 และในการนับอายุความนั้นต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 เมื่อโจทก์กับจำเลยตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนและจำเลยต้องชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งหนี้ เมื่อพ้นกำหนดเวลา 30 วันดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องค่าเช่าค้างชำระดังกล่าวได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้สัญญาเช่าสิ้นสุดหรือให้จำเลยส่งมอบเครื่องจักรคืนโจทก์ก่อน อายุความเรียกค่าเช่าค้างชำระ 2 ปี จึงเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับใบแจ้งหนี้ในแต่ละฉบับ ดังนั้น คดีโจทก์จะขาดอายุความหรือไม่ต้องพิจารณาใบแจ้งหนี้ของโจทก์แต่ละฉบับ เมื่อพิจารณาใบแจ้งหนี้ทั้งหมดที่โจทก์ส่งให้จำเลยตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.16 รวม 10 ฉบับ เป็นเงินรวม 916,500 บาท ประกอบกับแบบรายการคำนวณเงินต้นและดอกเบี้ยของโจทก์เอกสารหมาย จ.26 แล้ว จำเลยจะต้องชำระตามใบแจ้งหนี้ดังกล่าวภายในวันที่ 3 มกราคม 2545 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2545 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2545 วันที่ 22 มิถุนายน 2545 วันที่ 22 มิถุนายน 2545 วันที่ 22 มิถุนายน 2545 วันที่ 22 มิถุนายน 2545 วันที่ 13 กรกฎาคม 2545 วันที่ 29 สิงหาคม 2545 และวันที่ 18 ตุลาคม 2545 ตามลำดับ เมื่อนับจากวันที่พ้นกำหนดชำระหนี้ดังกล่าวในใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับข้างต้นถึงวันฟ้องคือ วันที่ 16 กรกฎาคม 2547 จะมีเพียงหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 เพียง 2 ฉบับ ซึ่งจำเลยต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2545 และวันที่ 18 ตุลาคม 2545 เท่านั้นที่ไม่เกิน 2 ปี ส่วนหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ เกิน 2 ปีแล้ว แต่จำเลยได้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนรวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 100,300.39 บาท โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ตามสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.17 ถึง จ.19 ซึ่งในวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 จำเลยย่อมทราบแล้วว่าจำเลยมีหนี้ที่ถึงกำหนดต้องชำระตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ เพราะวันที่ถึงกำหนดชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ อยู่ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2545 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย การที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์หลายจำนวนและนำเงินมาผ่อนชำระหนี้โดยไม่ระบุว่าชำระหนี้รายใด ถือว่าเป็นการชำระหนี้บางส่วนของหนี้ทั้งหมดข้างต้นแล้ว อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงทั้งหมดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ยังไม่เกิน 2 ปี หนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ จึงไม่ขาดอายุความ ดังนั้นหนี้ของโจทก์ทั้งหมดตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.16 รวมทั้งสิ้น 10 ฉบับ จึงไม่ขาดอายุความด้วย ส่วนวิธีการชำระหนี้กรณีที่จำเลยไม่ได้ระบุว่าให้ชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้ฉบับใด จึงต้องนำไปชำระหนี้ที่ถึงกำหนดก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง ที่โจทก์นำไปชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ก่อนดังปรากฏในสำเนาใบเสร็จเงินเอกสารหมาย จ.17 ถึง จ.19 ที่ระบุเลขที่ของใบแจ้งหนี้ด้วยว่าเลขที่ 67430 ซึ่งเป็นเลขที่ของใบแจ้งหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระก่อน จึงเป็นการนำไปชำระหนี้ถูกต้องแล้ว เมื่อนำเงินที่จำเลยชำระเงิน 100,300.39 บาท หักออกจากหนี้ตามใบแจ้งหนี้ เอกสารหมาย จ.7 จำนวน 109,980 บาทแล้ว คงเหลือหนี้ที่จำเลยต้องชำระจำนวน 9,679.61 บาท เมื่อรวมหนี้คงเหลือดังกล่าวกับหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.16 จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 816,199.61 บาท ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ขอมานั้น โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้กับกรมสรรพากรอันจะมีสิทธิและหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยจึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยรับผิดค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ได้ ฎีกาของโจทก์นอกจากนี้ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 816,199.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 9,679.61 บาท นับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2545 ต้นเงิน 109,980 บาท นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 ต้นเงิน 69,654 บาท นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 ต้นเงิน 102,648 บาท นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2545 ต้นเงิน 95,316 บาท นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2545 ต้นเงิน 106,314 บาท นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2545 ต้นเงิน 87,984 บาท นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2545 ต้นเงิน 102,648 บาท นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2545 ต้นเงิน 98,982 บาท นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2545 และต้นเงิน 32,994 บาท นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2545 ตามลำดับ จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ