คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4610/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันที่จำเลยค้ำประกันบริษัท ส. ต่อโจทก์ มีข้อความในข้อ 1 ว่า “…ตามที่บริษัท ส. ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและขอทำทรัสต์รีซีท (สัญญารับมอบสินค้าเชื่อ) เพื่อขอรับเอกสารและ นำสินค้าออกขายก่อน แล้วจึงนำเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในทรัสต์รีซีท มาชำระแก่ธนาคาร ก. ภายในกำหนดเวลา 90 วัน… ถ้าหากบริษัท ส. ไม่ชำระเงินให้ธนาคาร ก. ตามทรัสต์รีซีท ตามที่กล่าวในข้อ 2 ข้าพเจ้าทั้งสามผู้ค้ำประกันยินยอมรับผิด…” และข้อความตามข้อ 2 มีว่า “สัญญาค้ำประกันนี้ให้มีผลใช้บังคับได้ตลอดไป นับแต่วันที่ ที่ลงในสัญญาฉบับนี้ จนกว่า จะ ได้มีการชำระหนี้กันเสร็จสิ้น และเลิก สัญญาค้ำประกันการชำระหนี้รายนี้ต่อกันแล้ว เพื่อเป็นการค้ำประกัน บริษัท ส. ที่ได้ทำและจะทำทรัสต์รีซีท เป็นคราว ๆ ไป โดยจะเป็นทรัสต์รีซีท ฉบับเดียวหรือหลายฉบับก็ตาม ตามที่กล่าวในข้อ 1…” ดังนี้ เป็นการยินยอมค้ำประกันหนี้ ของของจำเลยที่ 1 ตามสัญญารับมอบ สินค้าเชื่อตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 1 ได้เปิดไว้ก่อนหรือ ในวันที่ที่ทำสัญญาค้ำประกัน และหนี้ ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 1 ได้ เปิด ไว้หลังวันทำ สัญญาค้ำประกันด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างปี 2521 ถึง ปี 2522 จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งสินค้าจากบริษัทผู้ขายสินค้าในประเทศอินเดีย โจทก์จึงได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อสั่งสินค้าจากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 เมื่อสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อมาถึงท่าเรือประเทศไทยแล้ว โจทก์ได้เรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินมาชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงได้ทำสัญญารับมอบสินค้าเชื่อไว้กับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารกำกับสินค้านำไปออกสินค้าจากท่าเรือนำไปจำหน่ายก่อนและจะนำเงินค่าสินค้ามาชำระให้แก่โจทก์ในภายหลัง เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่จำเลยที่ 1จะต้องชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา รวมเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ 4 ฉบับ จำนวน 2,030,836.35 บาท และเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งห้าแล้ว แต่จำเลยทั้งห้าไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,030,836.35 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 ไว้ต่อโจทก์จริง แต่เป็นการประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทำสัญญารับมอบสินค้าเชื่อไว้ก่อนวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 หรือในวันที่19 พฤศจิกายน 2517 เท่านั้น หนี้ตามฟ้องโจทก์เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทำสัญญารับมอบสินค้าเชื่อหลังวันที่19 พฤศจิกายน 2517 ทั้งสิ้น จำเลยที่ 5 มิได้ค้ำประกันหนี้ดังกล่าวจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 5 ได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันไปยังโจทก์แล้ว ตั้งแต่เดือนมกราคม 2518 หากจำเลยที่ 5 จะต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 5 ก็ไม่ต้องรับผิดเกินจำนวน 500,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสินค้าเชื่อ(ทรัสต์รีซีท)กับโจทก์ 4 ฉบับ จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวเป็นเงิน 2,030,836.35 บาท จำเลยที่ 2 ลงชื่อค้ำประกันไว้ในสัญญาดังกล่าว ทั้ง 4 ฉบับ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ด้วย จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันการที่จำเลยที่ 1 ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต และขอทำสัญญารับสินค้าเชื่อกับโจทก์ไว้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 สัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้ก่อนทำสัญญาค้ำประกัน สัญญารับสินค้าเชื่อที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญารับสินค้าเชื่อที่จำเลยที่ 1 ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเมื่อปี 2521 – ปี 2522 จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 2,030,836.35 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4ที่ 5 ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้หนี้ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ 4 ฉบับตามฟ้องภายในวงเงิน 500,000 บาท ให้โจทก์ ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ได้ทำไว้หรือไม่สัญญาค้ำประกันข้อ 1มีข้อความว่า “ตามที่บริษัทสยามเลสเตอร์ จำกัด (จำเลยที่ 1)…ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและขอทำทรัสต์รีซีท (สัญญารับมอบสินค้าเชื่อ) เพื่อขอรับเอกสารและนำสินค้าออกขายก่อน แล้วจึงนำเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในทรัสต์รีซีทมาชำระแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด(โจทก์) ภายในกำหนดเวลา 90 วัน และหรือภายในกำหนดเวลาตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้น ถ้าหากบริษัทสยามเลสเตอร์ จำกัดไม่ชำระเงินให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ตามทรัสต์รีซีท ตามที่กล่าวในข้อ 2 ข้าพเจ้าทั้งสามผู้ค้ำประกันยินยอมรับผิดชอบร่วมกันและต่างกันชดใช้ให้จนครบรวมทั้งดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย” และข้อ 2 มีข้อความว่า “สัญญาค้ำประกันนี้ให้มีผลใช้บังคับได้ตลอดไป นับแต่วันที่ที่ลงในสัญญาฉบับนี้ จนกว่าจะได้มีการชำระหนี้กันเสร็จสิ้นและเลิกสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้รายนี้ต่อกันแล้ว เพื่อเป็นการค้ำประกันบริษัทสยามเลสเตอร์ จำกัดที่ได้ทำและจะทำทรัสตรีซีทเป็นคราว ๆ ไป โดยจะเป็นทรัสต์รีซีทฉบับเดียวหรือหลายฉบับก็ตาม ตามที่กล่าวในข้อ 1 ภายในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)” ดังนี้เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ยินยอมค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 1 ได้เปิดไว้ก่อนหรือในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2519อันเป็นวันที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกัน และหนี้ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 1 ได้เปิดไว้หลังวันทำสัญญาค้ำประกันด้วย ซึ่งหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ร่วมกันรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันในคดีนี้ได้ความจากคำเบิกความของนายอนุเทพ โชตินุชิต ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาสามแยกท่าพระซึ่งเคยทำหน้าที่หัวหน้าแผนกตั๋วเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตของโจทก์ระหว่างปี 2518 ถึงปี 2526 ว่าเป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญารับมอบสินค้าเชื่อจำนวน 4 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ตามที่จำเลยที่ 1 ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจำนวน 3 ฉบับ ไว้กับโจทก์ เมื่อประมาณปี 2521 หลังวันทำสัญญาค้ำประกันข้างต้น ดังนั้นจำเลยที่ 3ที่ 4 ที่ 5 จึงต้องรับผิดชดใช้หนี้ให้โจทก์ด้วยในวงเงินไม่เกิน500,000 บาท ตามที่จำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share