คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 461/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยจะเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิคำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดตามประเพณีของธนาคาร โจทก์จำเลยจะต้องมีการตกลงกันเสียก่อน เมื่อโจทก์สืบพยานฟังไม่ได้แน่ชัดว่ามีข้อตกลงกันเช่นนั้น โจทก์ก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตามระเบียบการรับฝากเงินของโจทก์และเมื่อไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยไว้เป็นการแน่นอนโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น
ลูกหนี้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ ต้องคิดเป็นเงินชำระดอกเบี้ยก่อนเหลือนั้นเป็นการชำระต้นเงิน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 49,705.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2510 จนกว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14ต่อปี จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน2510 จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์สาขาราชประสงค์เป็นเงิน 5,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินไป 2 ครั้ง เป็นเงิน4,500 บาท คงเหลือเงินฝากในบัญชีกระแสรายวัน 500 บาท ต่อมาวันที่ 16พฤษภาคม 2510 จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท ซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินที่จำเลยมีฝากอยู่ในบัญชีกระแสรายวัน โดยจำเลยมิได้ตกลงกับโจทก์เป็นพิเศษแต่อย่างใด โจทก์ได้จ่ายเงินจำนวนนี้ไปโดยถือตามระเบียบการบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ข้อ 29 เป็นข้อตกลงเบิกเงินเกินบัญชี วันที่ 24 กรกฎาคม2510 มีเงินฝากเข้าบัญชีจำเลย 2,500 บาท หลังจากนั้นไม่ได้มีการนำเงินเข้าหรือเบิกเงินจากบัญชีจำเลยอีกเลย คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์จ่ายเกินบัญชีเงินฝากไปเพียงไรหรือไม่

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ระเบียบการบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ข้อ 29 มีข้อความว่า “ถ้าเงินในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็ค โดยปกติธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายให้ไปผู้ฝากย่อมเป็นอันยอมรับผูกพันตนต่อธนาคารในอันที่จะจ่ายเงินส่วนที่เกินพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปี (ตามแต่ธนาคารจะกำหนด) คืนให้ธนาคารทันทีเมื่อทราบ เสมือนหนึ่งผู้ฝากได้ขอร้องเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคาร”ศาลฎีกาเห็นว่า ระเบียบการดังกล่าวหาใช้ข้อตกลงที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีโดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตามประเพณีการค้าของธนาคารไม่ เป็นแต่เพียงข้อผ่อนผันของโจทก์ที่จ่ายเงินให้ไปก่อนเท่านั้น จะเห็นได้จากข้อ 31 ในระเบียบการดังกล่าวว่าหากผู้ฝากใช้เช็คเบิกเงินเกินกว่ายอดเงินในบัญชี โดยมิได้ตกลงกับธนาคารไว้ก่อนเป็นการล่วงหน้าแล้วไซร้ ธนาคารย่อมปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับนั้น ดังนั้นการที่จำเลยจะเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิคำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดตามประเพณีของธนาคาร โจทก์จำเลยจะต้องมีการตกลงกันเสียก่อน เมื่อโจทก์สืบพยานฟังไม่ได้แน่ชัดว่ามีข้อตกลงกันเช่นนั้น โจทก์ก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นและเมื่อไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยไว้เป็นการแน่นอน โจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 49,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2510 เป็นต้นไป แต่ปรากฏว่า มีเงินเข้าบัญชีจำเลย 2,500 บาท เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2510 จึงต้องนำเงินจำนวนนี้ชำระหนี้โดยชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 จำเลยค้างชำระดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2510 เป็นเงิน691 บาท เมื่อชำระดอกเบี้ยแล้วเหลือเงิน 1,809 บาทนำไปชำระเงินต้น คงเหลือเงินต้นที่จำเลยค้างชำระอยู่ 47,641 บาท ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2510 เป็นต้นไป จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์

ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าข้อตกลงเบิกเงินเกินบัญชีได้ตกลงกันด้วยปากเปล่าหรือได้ทำหลักฐานไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น เห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบภายหลังได้ แม้โจทก์มิได้บรรยายไว้ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่อย่างใด

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 47,691 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2510 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้โจทก์เสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

Share