คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 49/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้เช่าห้องให้โจทก์เช่าช่วง โดยทำนิติกรรมหุ้นส่วนอำพรางการเช่าช่วงผู้ให้เช่าฟ้องขับไล่ผู้เช่าเพราะผิดสัญญาผู้เช่ายอมออกจากห้อง. โจทก์ถูกบังคับให้ออกจากห้องเช่าด้วย ไม่เป็นการละเมิด ไม่ผิดกฎหมายโจทก์ไม่มีเอกสารเป็นหลักฐานการเช่า จึงอยู่ในห้องเช่าไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ให้เช่ารู้และยินยอมให้โจทก์เช่าช่วง การที่จำเลยผู้ให้เช่าและผู้เช่ายอมความออกจากห้องเช่า และขับไล่โจทก์ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาให้โจทก์อยู่ในห้องเช่าได้ 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม2517 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าห้องพิพาทจากจำเลยที่ 2 มีกำหนดเวลา 5 ปีโดยมีข้อสัญญาห้ามมิให้เช่าช่วง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่าเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาจำเลยที่ 1 จะให้โจทก์เช่าช่วงห้องพิพาทเฉพาะชั้นล่างและชั้นสาม แต่เพื่อมิให้เป็นการผิดสัญญาเช่าที่จำเลยที่ 1 ทำกับจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 จึงทำเป็นสัญญาหุ้นส่วนกับโจทก์ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเข้าหุ้นกัน เพื่อดำเนินกิจการเสริมสวยในห้องพิพาท มีกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2517 โดยจำเลยที่ 1 จะต้องได้รับเงินส่วนแบ่งเดือนละ 1,800บาทภายในวันที่ 15 ของทุก ๆ เดือน ไม่ว่าการดำเนินกิจการจะขาดทุนหรือมีกำไรมากน้อยเพียงใดก็ตาม หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เช่าช่วงห้องพิพาท จึงบอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากห้องพิพาท จำเลยที่ 1 ทำสัญญายอมออกจากห้องพิพาท และได้มีการบังคับคดีให้โจทก์ออกจากห้องพิพาทในฐานะเป็นบริวารจำเลยที่ 1 ภายในวันที่ 16สิงหาคม 2519 โจทก์ได้ออกจากห้องพิพาทตามคำสั่งศาลแล้ว

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เห็นว่า การกระทำละเมิดจะต้องเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย และทำให้เกิดความเสียหายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดกฎหมายอย่างไร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิด ส่วนที่ว่าจะเป็นการผิดสัญญาหรือไม่นั้น เห็นว่า สัญญาหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นแต่เพียงการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่าย จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 118 วรรคแรก ในข้อที่ว่า สัญญาหุ้นส่วนเป็นนิติกรรมอำพรางการเช่าช่วงโจทก์ขอให้โจทก์ได้อยู่ในห้องพิพาทจนครบ 5 ปี แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือแต่อย่างใด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 บัญญัติว่าเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยให้โจทก์เข้าอยู่ในห้องพิพาทไม่ได้ เมื่อโจทก์จะฟ้องร้องบังคับการเช่าไม่ได้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการไม่ได้เช่าห้องพิพาท”

พิพากษายืน

Share