คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4608/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาเรื่องก่อน พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกเงินและขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกไปแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อันเป็นการขอแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่รับเงิน เก็บรักษาเงิน อนุมัติและเบิกจ่ายเงิน ตกลงว่าระหว่างการทำงานหากจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ ยักยอก ฉ้อโกงจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 1 ยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดพร้อมค่าปรับอีก 3 เท่าของราคาทรัพย์สินหรือความเสียหาย โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ระหว่างทำงานจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ยักยอกเงินโจทก์ไปหลายครั้ง อันเป็นการจงใจละเมิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินที่ยักยอกและค่าปรับตามสัญญาแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วย ซึ่งเป็นการฟ้องในมูลหนี้ผิดสัญญาทางแพ่ง แม้จะมีคำขอให้คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกเหมือนกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีที่พนักงานอัยการขอให้บังคับในส่วนแพ่งมาจากการกระทำผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีมูลจากสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาค้ำประกัน ข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาจึงมิได้เป็นอย่างเดียวกัน มิใช่เป็นการฟ้องเรื่องเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาเรื่องก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๔,๘๘๘,๓๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ขอถอนฟ้องในส่วนที่กล่าวหาว่า จำเลยที่ ๑ ยักยอกเงินไปเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ จำนวน ๖,๔๘๐ บาท ตามคำฟ้องข้อ ๓.๒ กล่าวหาว่าจำเลยที่ ๑ ยักยอกเงินไปเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ จำนวน ๑๔,๘๕๐ บาท ตามคำฟ้องข้อ ๓.๔ และกล่าวหาว่าจำเลยที่ ๑ ยักยอกเงินไปเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๕ จำนวน ๒๒๖,๔๕๙ บาท ตามคำฟ้องข้อ ๓.๖ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต กับจำเลยทั้งสองขอสละข้อต่อสู้ในประเด็นเรื่องอำนาจในการฟ้องคดีแทนกับประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมและคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างโจทก์ ทำสัญญาจ้างกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.๓ โดยจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.๔ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๕ เวลา ๑๐.๕๐ นาฬิกา พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๙๓๔/๒๕๔๕ ของศาลแขวงเชียงใหม่ ข้อหายักยอกเงินของโจทก์จำนวน ๑,๐๙๗,๕๐๖ บาท โดยมีคำขอให้จำเลยที่ ๑ คืนหรือใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย ตามเอกสารหมาย ล.๒ เงินที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ ๑ ยักยอกและยังติดใจให้จำเลยทั้งสองชดใช้ในคดีนี้เป็นเงินจำนวนเดียวกันกับเงินที่พนักงานอัยการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ ๑ ยักยอกและขอให้ใช้คืนในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๙๓๔/๒๕๔๕ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเงินในคดีดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๙๓๔/๒๕๔๕ ของศาลแขวงเชียงใหม่หรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนคือคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๙๓๔/๒๕๔๕ ดังกล่าว พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ ๑ ในความผิดฐานยักยอกเงินและขอให้จำเลยที่ ๑ คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกไปแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย แม้การขอให้คืนหรือใช้เงินจะเป็นการขอ แทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๓ ก็ตาม แต่ก็เป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่รับเงิน เก็บรักษาเงิน อนุมัติและเบิกจ่ายเงิน ตกลงว่า ในระหว่างการทำงานหากจำเลยที่ ๑ ทุจริตต่อหน้าที่ ยักยอก ฉ้อโกงจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ ยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดและยอมเสียค่าปรับให้โจทก์อีก ๓ เท่าของราคาทรัพย์สินหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ระหว่างทำงานจำเลยที่ ๑ ได้ทุจริตต่อหน้าที่โดยยักยอกเงิน ของโจทก์ไปหลายครั้งอันเป็นการจงใจละเมิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ ๑ จึงต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวและ ค่าปรับตามสัญญาให้แก่โจทก์โดยจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ อันเป็นการฟ้องในมูลหนี้ผิดสัญญาทางแพ่ง แม้จะมีคำขอให้จำเลยที่ ๑ คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกเหมือนกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีที่พนักงานอัยการขอให้บังคับในส่วนแพ่งนั้นมาจากการกระทำผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาค้ำประกัน ข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาจึงมิได้เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ใช่เป็นการฟ้องร้องเรื่องเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง (๑) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๙๓๔/๒๕๔๕
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นอื่นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี .

Share