คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 46/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยได้สั่งโอนโจทก์ไปทำงานกับบริษัท ซ. ที่เมืองฮ่องกง เป็นการเปลี่ยนตัวนายจ้างจากจำเลยไปเป็นบริษัท ซ.ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยโดยให้โจทก์ไปทำสัญญากับบริษัทซ. ใหม่ และให้ตำแหน่งของโจทก์ในบริษัทจำเลยสิ้นสุดลงกับจ้างบุคคลอื่นทำงานแทนเช่นนี้ เป็นการโอนสิทธิของนายจ้างไปยังบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยจึงจะกระทำได้ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมโดยไม่ยอมทำสัญญาจ้างฉบับใหม่กับบริษัท ซ. แต่จำเลยก็ยังให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและจ้างบุคคลอื่นดำรงตำแหน่งแทน กรณีจึงเป็นเรื่องจำเลยเลิกจ้างโจทก์ คำให้การจำเลยไม่ได้ระบุว่าโอนย้ายโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดใด ๆ และตามหนังสือจำเลยที่มีถึงโจทก์ก็ระบุชัดว่าจำเลยยินยอมให้โอนโจทก์ไปทำงานในบริษัท ซ. ที่เมืองฮ่องกง ให้ตำแหน่งของโจทก์ในบริษัทจำเลยสิ้นสุดลง เมื่อฟังได้ว่าการสั่งโอนโจทก์ไปทำงานที่เมืองฮ่องกงเป็นการเลิกจ้าง การเลิกจ้างโจทก์ครั้งนี้จึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ครั้งสุดท้ายทำงานตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของเฮอริเทจคลับ ได้รับอัตราค่าจ้างสุดท้ายหลังจากหักภาษีเงินได้ เดือนละ 3,500 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาหรือ 91,000 บาท และค่าเช่าบ้านเดือนละ 48,000 บาท รวมค่าจ้างสุทธิเดือนละ 139,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาประมาณต้นปี 2534 จำเลยจ่ายเงินโบนัสของปี 2533 แก่โจทก์ไม่ครบถ้วนคงจ่ายให้เพียงกึ่งหนึ่ง หลังจากนั้นจำเลยว่าจ้างบุคคลอื่นมาทำงานแทนโจทก์ สั่งห้ามโจทก์ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งอีกต่อไป ทั้งให้ส่งคืนแก่จำเลย กล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิดอย่างร้ายแรงและผิดสัญญา จะพิจารณาโทษโจทก์และใส่ความดังกล่าวต่อบุคคลที่ 3อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ สั่งให้โจทก์หยุดงานทันที ทั้งสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานกับบุคคลอื่นที่เมืองฮ่องกงโดยโจทก์ไม่ยินยอมบังคับให้โจทก์ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี และเปลี่ยนกุญแจห้องทำงานของโจทก์โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์ออกมาได้ พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินโบนัสสำหรับปี 2533 ที่ค้างชำระ จำนวน 81,120 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2534 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,234.50 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ในต้นเงิน 81,120 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชยจำนวน 834,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 139,000 บาทค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินจำนวน 88,400 บาท ค่าขนย้ายสัมภาระของใช้ส่วนตัวจำนวน 260,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 115,830 บาท ค่าพาหนะกรณีที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ส่วนตัวจำนวน 13,500 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 5,004,000 บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยประกอบกิจการสโมสรชื่อว่าเฮอริเทจคลับ การบริหารงานอยู่ภายใต้การจัดการของบริษัทคลับคอร์ปอเรชั่น ออฟ เอเซีย จำกัด หรือเรียกสั้น ๆ ว่า บริษัทซีซีเอ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงกันว่าบริษัทซีซีเอมีสิทธิย้ายโจทก์ไปทำงานให้กับบริษัทอื่นในเครือของบริษัทซีซีเอได้ โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนละ 3,450ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา หรือ 89,700 บาท เท่านั้น จำเลยไม่เคยตกลงให้โจทก์หรือพนักงานคนใดนำวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ไปรวมกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปีถัดไป จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว หากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจะจ่ายค่าขนย้ายสัมภาระให้ไม่เกิน 2,000 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา หรือ 52,000 บาทจำเลยไม่เคยสั่งห้ามโจทก์ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่ง จำเลยให้โจทก์หยุดงานเพื่อเตรียมตัวไปรับตำแหน่งงานใหม่ จำเลยเปลี่ยนกุญแจห้องทำงานเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลย โจทก์ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปทำงานที่เมืองฮ่องกงตามสัญญา การที่จำเลยโอนการจ้างจึงไม่เป็นการเลิกจ้าง โจทก์เบิกเงินทดรองจากจำเลยเพื่อเป็นค่ามัดจำค่าเช่าบ้านล่วงหน้าจำนวน 76,000 บาท เมื่อโจทก์ต้องโอนไปทำงานที่เมืองฮ่องกงจึงไม่ได้ใช้เงินดังกล่าวอีก ต้องคืนแก่จำเลยขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 76,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้ยืมเงินทดรองจ่ายมัดจำค่าเช่าบ้านจำนวน 76,000 บาท จากจำเลยจริง และขณะนี้ยังไม่ได้ชดใช้ให้
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินโบนัสจำนวน 81,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าโดยสารรถยนต์แท็กซี่ จำนวน 8,100 บาทแก่โจทก์ และให้โจทก์ชำระเงินมัดจำค่าเช่าบ้านจำนวน 76,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 18 ธันวาคม 2534) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม สั่งย้ายโจทก์โดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งสัญญาจ้าง ในประเด็นดังกล่าวศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.5 ข้อ 8 โจทก์กับจำเลยตกลงกันไว้ว่าหากบริษัทคลับคอร์ปอเรชั่น แห่งเอเซีย จำกัดหรือบริษัทซีซีเอ ต้องการ อาจโอนโจทก์ไปปฏิบัติงานในเครือข่ายใด ๆ ได้ ภายในข้อกำหนดการจ้างตามสัญญานี้ และบริษัทซีซีเอมีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ แต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่ง โอน โยกย้ายโจทก์ ดังนั้น การที่บริษัทซีซีเอและจำเลยโอนย้ายโจทก์ไปทำงานที่สำนักงานของบริษัทที่เมืองฮ่องกง จึงเป็นการโอนการจ้างตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า หาเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือเป็นการเลิกจ้างไม่ และที่โจทก์ไม่ยอมลงชื่อในร่างสัญญาเอกสารหมาย จ.7 เนื่องจากมีเงื่อนไขแตกต่างจากสัญญาจ้างเดิมนั้น เห็นว่าการที่โจทก์จะไปทำงานที่เมืองฮ่องกง สัญญาจ้างต้องเป็นไปตามกฎหมายของประเทศนั้น คู่สัญญาจะมีข้อสัญญากันตามกฎหมายของเมืองฮ่องกงหรือไม่ สัญญาจ้างแรงงานก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวโจทก์ยอมรับว่าร่างสัญญาเอกสารหมาย จ.7 เป็นไปตามกฎหมายแห่งเมืองฮ่องกงและโจทก์ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น ทั้งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า ร่างสัญญาตามเอกสารหมาย จ.7 มีข้อใดที่มีเงื่อนไขแตกต่างจากสัญญาเดิม เห็นว่า บริษัทซีซีเอ เป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยและข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์จำเลยรับกันว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2534 จำเลยมีเอกสารหมาย จ.3 ถึงโจทก์ และโจทก์ได้รับแล้ว คำแปลของเอกสารดังกล่าวปรากฏตามเอกสารหมาย จ.19มีความว่า บริษัทซีซีเอขอร้องให้ทางจำเลยโอนโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่ว่าง คือตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปที่สำนักงานซีซีเอที่เมืองฮ่องกง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2534 และทางจำเลยได้ยินยอมในการโอนดังกล่าว และเหตุนี้หน้าที่รับผิดชอบในฐานะผู้จัดการทั่วไปของเฮอริเทจคลับของโจทก์ได้สิ้นสุดลงและให้เตรียมตัวไปรับตำแหน่งใหม่ที่เมืองฮ่องกงในวันที่ 9ธันวาคม 2534 เงินเดือนสำหรับเดือนพฤศจิกายน และตั้งแต่วันที่ 1ถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2534 จะโอนเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด สาขาเพลินจิต ให้ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2534 และตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2534 จำเลยก็ได้จ้างนายพอล แมกอินไตร์ ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของเฮอริเทจคลับของจำเลย เช่นนี้จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยได้สั่งโอนโจทก์ไปทำงานกับบริษัทซีซีเอที่เมืองฮ่องกง นับว่าเป็นการเปลี่ยนตัวนายจ้างจากจำเลยไปเป็นบริษัทซีซีเอซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยโดยให้โจทก์ไปทำสัญญากับบริษัทซีซีเอใหม่ และให้ตำแหน่งของโจทก์ในบริษัทจำเลยสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2534 เป็นต้นไปและจ้างบุคคลอื่นทำงานในตำแหน่งแทนแล้ว กรณีเช่นนี้เป็นการโอนสิทธิของนายจ้างไปยังบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577จะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างด้วยจึงจะกระทำได้ แต่ปรากฏว่า โจทก์ไม่ยินยอมด้วยโดยไม่ยอมทำสัญญาจ้างฉบับใหม่กับบริษัทซีซีเอ แต่จำเลยก็ยังให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งในบริษัทจำเลย และจ้างบุคคลอื่นดำรงตำแหน่งแทนโจทก์แล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องจำเลยสั่งเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2534ซึ่งจำเลยให้โจทก์พ้นตำแหน่ง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเป็นการโอนย้ายโจทก์ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเห็นว่า ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลย เอกสารหมาย ล.5 ข้อ 8 ระบุชัดว่าหากบริษัทคลับคอร์ปอเรชั่นแห่งเอเซีย จำกัด (ซีซีเอ) ต้องการจำเลยอาจโอนโจทก์ไปปฏิบัติงานยังเครือข่ายใด ๆ ได้ภายในข้อกำหนดการจ้างตามสัญญานี้ ซึ่งหมายความเพียงว่าการโอนโจทก์ไปทำงานต้องเป็นไปตามข้อกำหนดสัญญาจ้างฉบับเดิมมิใช่ทำสัญญากันใหม่เมื่อจำเลยให้โจทก์ไปทำงานตามสัญญาจ้างฉบับใหม่ดังในกรณีนี้จึงไม่เข้าข่ายสัญญาจ้างข้อ 8 จำเลยจึงไม่อาจกระทำได้โดยโจทก์ไม่ยินยอม
ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่เห็นว่า ตามคำให้การจำเลยก็ไม่ได้ระบุว่าโอนย้ายโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดใด ๆ และปรากฏตามหนังสือจำเลยที่มีถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 (ซึ่งมีคำแปลตามเอกสารหมาย จ.19) ก็ระบุไว้ชัดว่าจำเลยยินยอมให้โอนโจทก์ไปทำงานในบริษัทซีซีเอที่เมืองฮ่องกง และให้หน้าที่รับผิดชอบของโจทก์ในฐานะผู้จัดการทั่วไปในบริษัทจำเลยสิ้นสุดลงและให้โจทก์ไปรับตำแหน่งใหม่ที่เมืองฮ่องกงในวันที่9 ธันวาคม 2534 เช่นนี้ จึงเห็นได้ว่า จำเลยสั่งโอนโจทก์ไปทำงานที่เมืองฮ่องกงโดยไม่ได้ระบุว่ากระทำผิดใด ๆ เมื่อฟังได้ว่าการสั่งโอนโจทก์ไปทำงานที่เมืองฮ่องกงเป็นการเลิกจ้างดังวินิจฉัยมาแล้ว ดังนั้นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กรณีจึงต้องพิจารณาถึงความรับผิดของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับข้อหาในเรื่องการเลิกจ้างและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเลิกจ้างตามฟ้องโจทก์ต่อไป ซึ่งศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยไว้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาวินิจฉัยในข้อหาดังกล่าว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่เกี่ยวกับข้อหาในเรื่องการเลิกจ้างและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเลิกจ้างตามฟ้องโจทก์ ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในเรื่องค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย ค่าโดยสารเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระของโจทก์และครอบครัว และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share