คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4594/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องในสาระสำคัญว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ในภาพการ์ตูนรูปสุนัขชื่อ สนูปปี้ (SNOOPY) ประเด็นในคดีก่อนมีว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ในภาพการ์ตูนสนูปปี้และจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีนี้ แม้ฟ้องโจทก์จะได้กล่าวถึงคำว่าลิขสิทธิ์อยู่บ้าง แต่ก็มิได้เอาเรื่องลิขสิทธิ์เป็นมูลฟ้องคดี หากแต่กล่าวอ้างว่าโจทก์ใช้ภาพการ์ตูนรูปสุนัขชื่อสนูพี้ (SNOOPY) เป็นภาพและชื่อในการค้าและเครื่องหมายการค้าในสินค้าของโจทก์ โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย ซึ่งเป็นเรื่องอ้างสิทธิเครื่องหมายการค้า ประเด็นในคดีจึงมีว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าภาพการ์ตูนรูปสุนัขชื่อสนูพี้และคำว่า SNOOPYดีกว่าจำเลยหรือไม่ ประเด็นที่จะวินิจฉัยในคดีนี้จึงไม่ใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อนฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในภาพการ์ตูนชื่อ สนูพี้(SNOOPY)กับสินค้าจำพวก 38 ทั้งจำพวกในประเทศไทยดีกว่าจำเลยให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และห้ามใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว จำเลยให้การต่อสู้หลายประการรวมทั้งข้อที่ว่า โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าตามฟ้องมาแล้ว โดยอ้างเหตุว่าโจทก์เป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขเช่นเดียวกับคดีนี้ ศาลพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิที่จะใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในภาพการ์ตูนรูปสุนัขชื่อ “สนูพี้” และคำภาษาอังกฤษ “SNOOPY” ดีกว่าจำเลย ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 93381 กับให้เพิกถอนทะเบียนเลขที่ 58764 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในภาพการ์ตูนรูปสุนัข และคำว่า”CROSS ROADS” อ่านว่า ครอส โร้ดส์ สำหรับสินค้า จำพวก 38ทั้งจำพวกต่อไป จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นนี้ว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 15373/2522 ของศาลชั้นต้นหรือไม่และโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากัน
ในปัญหาข้อแรกนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมโจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพการ์ตูนรูปสุนัขชื่อ “สนูปปี้” (หรือที่เรียกในคดีนี้ว่า “สนูพี้”) และได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์งานภาพการ์ตูนไว้ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2519 จำเลยได้ลอกเลียนภาพการ์ตูนรูปสุนัขของโจทก์พิมพ์ประทับในสินค้าประเภทเสื้อผ้าออกจำหน่าย และนำภาพการ์ตูนรูปสุนัขของโจทก์ไปจดทะเบียนต่อกองเครื่องหมายการค้าปรากฏตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 93381 และนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลยแล้ว ขอศาลบังคับให้จำเลยเลิกใช้ภาพการ์ตูนรูปสุนัขและให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 93381 ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 15373/2522 ศาลพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภาพการ์ตูนรูปสุนัขไว้ก่อนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ประกาศใช้บังคับดังนั้น กรณีของจำเลยจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่จึงต้องวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมพุทธศักราช 2474 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และเห็นว่ารูปการ์ตูนสุนัขตามเอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่รูปศิลป์ แต่เป็นเพียงรูปคล้ายสุนัขธรรมดาทั่ว ๆ ไป ที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ การขีดเขียนจึงอาจเหมือนหรือคล้ายกันได้เป็นธรรมดา รูปการ์ตูนสุนัขของโจทก์จึงไม่ใช่ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมตามความหมายของพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ไม่ได้โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ใหม่ว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพการ์ตูนรูปสุนัขชื่อ “สนูพี้” และใช้ภาพการ์ตูนรูปสุนัขชื่อ”สนูพี้” และคำว่า “SNOOPY” อ่านว่า “สนูพี้” เป็นภาพและชื่อในการค้าและเครื่องหมายการค้าใช้กับสินค้าของโจทก์หลายจำพวกรวมทั้งสินค้าจำพวกเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วยต่อมาโจทก์ได้ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวก 38ทั้งจำพวก แต่นายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าภาพการ์ตูนรูปสุนัขและคำว่า “CROSS ROAD” (“CROSS ROADS”)(ครอสโร้ดส์)ที่จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้แล้วตามคำขอจดทะเบียนเลขที่93381 จึงไม่รับจดทะเบียนให้ ขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย เช่นนี้ เห็นว่า แม้รูปภาพที่โจทก์กล่าวอ้างสิทธิในคดีก่อนกับในคดีนี้จะเป็นรูปภาพเดียวกันและมีคำขอข้อหนึ่งในคดีก่อนกับคดีนี้เหมือนกัน คือขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเดียวกันแต่ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 15373/2522 ดังกล่าว โจทก์ฟ้องในสาระสำคัญว่า โจทก์มีลิขสิทธิ์ในภาพการ์ตูนรูปสุนัขชื่อ”สนูปี้” (หรือ”สนูพี้”) ส่วนคดีนี้ แม้โจทก์จะได้กล่าวถึงคำว่าลิขสิทธิ์อยู่บ้าง แต่ก็มิได้เอาเรื่องลิขสิทธิ์เป็นมูลฟ้องคดี หากแต่กล่าวอ้างในฟ้องเป็นสาระสำคัญว่า โจทก์ใช้ภาพการ์ตูนรูปสุนัขชื่อ “สนูพี้” และคำว่า “SNOOPY” เป็นภาพและชื่อในการค้าและเครื่องหมายการค้าในสินค้าของโจทก์หลายประเภทโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย ในคดีนี้จึงเป็นเรื่องอ้างสิทธิเครื่องหมายการค้า ในขณะที่คดีก่อนเป็นเรื่องอ้างลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นสิทธิคนละประเภทกัน ความหมายของการได้มาและการละเมิดก็แตกต่างกัน และในคดีก่อนมีประเด็นว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ในภาพการ์ตูนรูปสุนัขชื่อ “สนูพี้” และจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์หรือไม่ ส่วนในคดีนี้มีประเด็นว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าภาพการ์ตูนรูปสุนัขชื่อ “สนูพี้” และคำว่า “SNOOPY” ดีกว่าจำเลยหรือไม่ ประเด็นที่จะวินิจฉัยในคดีนี้ จึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อนอันจะเป็นการฟ้องซ้ำและต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นที่ว่าโจทก์หรือจำเลยฝ่ายใดจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทดีกว่ากัน ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวเสียก่อน”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share