คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4590/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเพียงผู้รับจ้างซ่อมรถยนต์แล้วรถยนต์ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลย ไม่ปรากฏว่ามีสัญญาระหว่างโจทก์กับผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของรถยนต์ที่รับไว้ซ่อมว่า โจทก์ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของบุคคลภายนอก ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้รับจ้างรับช่วงสิทธิในกรณีนี้ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนที่โจทก์ได้ใช้จ่ายไปแทนผู้ว่าจ้างจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของอู่รถยนต์ชื่ออู่รวมศิลป์จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-1280 นครปฐม จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2529 เวลาประมาณ 3 นาฬิกาจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและขับรถโดยประมาท ทำให้รถแฉลบและเสียหลักแล่นขึ้นไปบนทางเท้าแล้วพุ่งเข้าชนรถยนต์รวม6 คัน เป็นรถของโจทก์ 1 คัน ส่วนอีก 5 คันเป็นของผู้อื่นนำมาว่าจ้างให้โจทก์เคาะพ่นสีตัวถัง ซึ่งเกือบจะเสร็จเรียบร้อยอยู่แล้วโดยรถทั้ง 6 คัน จอดอยู่ในอู่ของโจทก์ รวมค่าเสียหายของรถทั้ง 6 คันเป็นเงิน 76,240 บาท โจทก์ได้จัดการซ่อมรถยนต์ของผู้ว่าจ้างและส่งมอบให้แก่เจ้าของรับไปแล้ว โจทก์จึงรับช่วงสิทธิเจ้าของรถยนต์ดังกล่าว และโจทก์ยังได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติเป็นเวลา 60 วัน ขาดรายได้วันละ 600 บาท เป็นเงิน 36,000 บาทรวมค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 112,240 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 112,240 บาท ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 4,209 บาท รวมเป็นเงิน 116,449 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน112,240 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของอู่รวมศิลป์และไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-1280 นครปฐมและไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 หากแต่เป็นความประมาทของเจ้าของอู่รถยนต์ชื่ออู่รวมศิลป์ และเจ้าของรถยนต์ดังกล่าว เพราะเจ้าของอู่และเจ้าของรถยนต์ได้จอดรถริมถนนและทำการซ่อมในเวลากลางคืนโดยไม่ติดสัญญาณไฟหรือสัญญาณอื่นไว้ ทำให้จำเลยที่ 1 ขับรถผ่านไปไม่อาจมองเห็นได้จึงเกิดเฉี่ยวชนกันขึ้น แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1ประมาท เจ้าของอู่และเจ้าของรถยนต์ดังกล่าวก็มีส่วนประมาทรวมอยู่ด้วย รถยนต์ทั้ง 6 คัน ได้รับความเสียหายน้อยกว่าจำนวนที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่ขาดรายได้เกี่ยวกับการที่ผู้อื่นมาว่าจ้างซ่อมรถ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 7,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2529 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของอู่รวมศิลป์ โจทก์ได้รับรถยนต์ของผู้อื่นไว้ซ่อม จำเลยที่ 1 ลูกจ้างและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์กับรถยนต์ของผู้อื่นที่โจทก์รับไว้ทำการซ่อมจำนวนอีก 5 ราย ได้รับความเสียหายโจทก์ได้ทำการซ่อมรถยนต์ทั้ง 5 คัน จนเสร็จและส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้างซ่อมไปแล้วคดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ได้จัดการซ่อมรถยนต์ดังกล่าวได้หรือไม่เห็นว่า โจทก์เป็นเพียงผู้รับจ้างซ่อมรถยนต์แล้วรถยนต์ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดดังกล่าวแล้วเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีสัญญาระหว่างโจทก์กับผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของรถยนต์ที่รับไว้ซ่อมว่าโจทก์ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของบุคคลภายนอก ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้รับจ้างรับช่วงสิทธิในกรณีนี้ได้ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนที่โจทก์ได้ใช้จ่ายไปแทนผู้ว่าจ้างทั้ง 5 รายจากจำเลยทั้งสอง
พิพากษายืน

Share