แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตั๋วแลกเงินที่ผู้สั่งจ่ายเขียนข้อกำหนดลงไว้ว่าไม่จำต้องมีคำคัดค้านนั้น เมื่อถึงกำหนดผู้ทรงยื่นตั๋วเงินให้ผู้รับรองจ่ายเงินผู้รับรองไม่จ่ายผู้ทรงไม่ต้องทำคำคัดค้าน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นธนาคารกสิกรไทย จำกัด จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด เลขทะเบียนที่ 940 โดยนายประเสริฐ จุลละเกศเป็นผู้จัดการสาขาจังหวัดนครราชสีมาซึ่งได้รับมอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้อง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2497 จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วแลกเงินเลขที่ ร.16/2497 ลงวันที่ 30 มกราคม 2497ให้โจทก์เป็นเงิน 45,000 บาท และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์แล้วโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายสั่งให้จำเลยที่ 2 ผู้จ่ายใช้เงิน 45,000 บาทให้โจทก์ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2497 ตามสำเนาตั๋วแลกเงินท้ายคำฟ้องการออกตั๋วแลกเงินรายนี้จำเลยตกลงยินยอมชำระค่าส่วนลดซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมของธนาคารในอัตราหมื่นละ 200 บาทต่อ 1 เดือนทุก ๆ เดือน ให้แก่โจทก์ต่างหากจากดอกเบี้ยซึ่งตกลงชำระให้โจทก์อีกร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ครั้นครบกำหนดชำระเงินในวันที่ 30 กรกฎาคม 2497 จำเลยที่ 2 ซึ่งทราบกำหนดชำระเงินดีแล้วก็ไม่ชำระเงิน 45,000 บาท รวมทั้งเงินค่าส่วนลดและดอกเบี้ยให้โจทก์ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระจำเลยเพิกเฉยเสียจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาชำระเงินต่อโจทก์จำเลยค้างเงินค่าส่วนลด 9 เดือนเป็นเงิน 8,100 บาท กับดอกเบี้ยค้างชำระ 2,531 บาท 25 สตางค์ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงิน 45,000 บาท เงินค่าส่วนลด 8,100 บาทและดอกเบี้ย 2,531 บาท 25 สตางค์กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า
1. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะตราสารซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสิทธิของโจทก์เป็นโมฆะตามหนังสือมอบอำนาจของธนาคารบอกไว้ชัดแจ้งคือข้อ 4 และ 16 โจทก์จะอาศัยอำนาจของธนาคารซึ่งเป็นนิติบุคคลมาฟ้องจำเลยไม่ได้ เป็นการนอกคำสั่ง
2. ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ จำเลยหลงข้อต่อสู้
3. ฟ้องโจทก์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะโจทก์เรียกค่าส่วนลดและดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 968 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งที่มิได้มีข้อกำหนดปรากฏเป็นหลักฐาน
4. โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าตั๋วแลกเงินฉบับนี้มีอายุ 6 เดือน ข้อตกลงในขณะออกตั๋วนั้นตกลงกันเดือนเดียว และต้องให้จำเลยเซ็นชื่อต่อทุกเดือน การออกตั๋วแลกเงินรายนี้เป็นการประกันนายเซียคี้ แซ่เตียวเท่านั้น จำเลยไม่ต้องรับผิด
5. โจทก์หมดสิทธิเรียกร้องจากจำเลย เพราะโจทก์ผู้ทรงตั๋วแลกเงินมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 928,929, 941, 960
6. โจทก์มิได้ยื่นตั๋วแลกเงินภายในกำหนดที่กฎหมายบัญญัติไว้แม้ตั๋วแลกเงินฉบับนี้มีถ้อยคำว่า ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน จำเลยก็ไม่ยอมปลดเปลื้องผู้ทรงตั๋วแลกเงินจากทำคำคัดค้านการไม่รับรองหรือไม่รับใช้เงินจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ในวันชี้สองสถาน คู่ความรับกันว่านายสุวัฒน์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย นายบักลิ้ม จำเลยที่ 2 เป็นผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายและผู้จ่าย มีรายการปรากฏตามสำเนาตั๋วแลกเงินท้ายคำฟ้องจริง และโจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินฉบับนี้ เมื่อถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วนั้น จำเลยมิได้ชำระเงินแก่โจทก์จริง แต่จำเลยต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดดังปรากฏตามข้อต่อสู้ของจำเลยในคำให้การ ศาลชั้นต้นเห็นว่าปัญหาต่าง ๆ ตามข้อโต้เถียงกันนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมาย มีประเด็นที่จะต้องสืบพยานในข้อเท็จจริงเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ผู้ทรงตั๋วแลกเงินได้ยื่นตั๋วแลกเงินเพื่อให้ใช้เงินภายในกำหนดหรือไม่เท่านั้นและประเด็นข้อนี้ฝ่ายจำเลยเป็นผู้โต้แย้ง จึงให้จำเลยนำสืบก่อน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลยตามลำดับ ดังนี้
(1) เรื่องอำนาจฟ้องนั้น เมื่อจำเลยรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 เป็นผู้จ่าย จำเลยทั้งสองก็ต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วแลกเงินนั้น โจทก์เป็นนิติบุคคลย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่จำเลยต่อสู้ว่าตราสารอันเป็นที่ตั้งแห่งสิทธิของโจทก์เป็นโมฆะก็ไม่ได้อ้างเหตุว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นโมฆะ นายประเสริฐ จุลละเกศ ผู้จัดการฟ้องในนามของธนาคารกสิกรไทย จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลโดยได้รับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจข้อ 12 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยส่วนที่จำเลยตัดฟ้องตามหนังสือมอบอำนาจข้อ 4 และข้อ 16 นั้นเป็นเรื่องจำกัดอำนาจระหว่างตัวการตัวแทน ไม่เกี่ยวกับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
(2) เรื่องฟ้องเคลือบคลุมนั้น โจทก์ได้กล่าวบรรยายชัดแจ้งพอที่จำเลยเข้าใจข้อหาได้แล้วไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
(3) เรื่องค่าส่วนลดและดอกเบี้ยนั้น โจทก์บรรยายฟ้องเรียกร้องค่าส่วนลดและดอกเบี้ยมาด้วยจริง แต่เรื่องดอกเบี้ยไม่ปรากฏในตั๋วแลกเงิน ฉะนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 911) ส่วนค่าส่วนลดนั้นโจทก์พึงเรียกได้ตามกฎหมายเพียงร้อยละ 1 ใน 6 ในต้นเงิน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 968(4)) แต่กรณีเรื่องดอกเบี้ยและค่าส่วนลดที่โจทก์เรียกร้องโดยไม่ชอบเช่นนี้ หาทำให้ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินที่จะต้องใช้ตามตั๋วเงินนั้นเสียไปหมดไม่
(4) ที่ว่าการออกตั๋วแลกเงินเพื่อประกันนายเซียคี้นั้นไม่ปรากฏเนื้อความในตั๋วแลกเงินฉบับนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในตั๋วแลกเงินย่อมต้องรับผิดในตั๋วแลกเงินนั้นตั๋วแลกเงินมีข้อความว่ามีกำหนด 6 เดือน จำเลยจะเถียงว่ามีกำหนด 1 เดือนหาได้ไม่
(5) ที่ว่าโจทก์หมดสิทธิเรียกร้องเพราะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น แยกวินิจฉัยได้เป็น 2 ตอนคือ การนำตั๋วแลกเงินยื่นเพื่อให้รับรองตอนหนึ่ง และกรณีที่ตั๋วแลกเงินขาดการใช้เงิน โจทก์ต้องทำคำคัดค้านอีกตอนหนึ่ง ตั๋วแลกเงินฉบับนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อของตนในฐานะผู้จ่ายไว้ในด้านหน้าซึ่งถือว่าเป็นคำรับรองแล้ว (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 931) ฉะนั้นโจทก์จึงไม่จำต้องยื่นตั๋วแลกเงินเพื่อให้ผู้จ่ายรับรองหรือต้องทำคำคัดค้าน ส่วนข้อที่ว่าเมื่อตั๋วแลกเงินขาดการใช้เงินแล้ว โจทก์ต้องทำคำคัดค้านนั้นก็ปรากฏข้อกำหนดเขียนไว้ในตั๋วแลกเงินฉบับนี้ว่า”ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน” ฉะนั้น โจทก์จึงไม่จำต้องทำคำคัดค้าน โจทก์หาหมดสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยไม่
(6) ที่ว่าเมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดใช้เงิน โจทก์มิได้ยื่นตั๋วแลกเงินเพื่อให้ใช้เงินนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามพยานโจทก์ว่าเมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดใช้เงิน นายประเสริฐผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ยื่นตั๋วแลกเงินให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ใช้จึงได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายให้ทราบว่าจำเลยที่ 2 ไม่ชำระเงิน และยังได้มีหนังสือลงวันที่ 1 สิงหาคม 2497 แจ้งไปให้จำเลยที่ 1 ทราบอีก ศาลชั้นต้นเชื่อตามพยานหลักฐานโจทก์ว่า เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดใช้เงิน ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นตั๋วแลกเงินเพื่อให้ผู้จ่ายใช้เงินและได้บอกกล่าวว่า ตั๋วเงินขาดความเชื่อถือให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้จ่ายได้รับรองแล้วย่อมผูกพันที่จะจ่ายเงินตามที่รับรองนั้นให้โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ชำระ จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายต้องร่วมรับผิดด้วย
พิพากษาให้จำเลยทั้งสอง ใช้เงิน 45,000 บาทให้โจทก์ กับให้ค่าชักส่วนลดในอัตราร้อยละ 1 ใน 6 ในต้นเงิน 45,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยที่ค้าง 2,531 บาท 25 สตางค์นั้นให้ยกเสีย คงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีในเงิน 45,000 บาทนับแต่วันตั๋วแลกเงินถึงกำหนดจนกว่าจำเลยจะใช้เงินเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนาย 1,000 บาทแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว ในชั้นฎีกาจำเลยโต้เถียงคัดค้านขึ้นมา 4 ข้อคือ
1. ในท้องสำนวนไม่ปรากฏหลักฐานการเป็นบริษัทดังคำกล่าวอ้างของโจทก์ ทั้งนายเกษม ล่ำซำ ผู้ลงนามในหนังสือมอบอำนาจก็ไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องมีหน้าที่กับบริษัทที่โจทก์กล่าวอ้างนี้อย่างใดจึงไม่มีอำนาจลงนามแทนบริษัทโจทก์ได้ตามกฎหมาย และนายประเสริฐจุลละเกศ ผู้รับมอบอำนาจก็ไม่มีอำนาจที่จะลงนามในคำฟ้องคดีนี้
2. นายประเสริฐ จุลละเกศ ผู้รับมอบอำนาจ ไม่ปฏิบัติตามหนังสือมอบอำนาจข้อ 4 และข้อ 16 เป็นการใช้สิทธิและหน้าที่ผิดวัตถุประสงค์ของธนาคารซึ่งเป็นนิติบุคคล และไม่ปรากฏว่าได้รับความยินยอมแต่ประการใดเลย นายประเสริฐ จุลละเกศ จะอาศัยอำนาจของธนาคารฯ มาฟ้องจำเลยไม่ได้
3. โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินทั้งหมดให้โจทก์แต่จำเลยก็เพิกเฉยเสีย จึงเป็นประเด็นที่โจทก์ตั้งมาในคำฟ้อง และไม่ปรากฏในคำฟ้องว่าโจทก์ยื่นตั๋วแลกเงินให้จำเลยทราบแต่ประการใดเลย การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยสืบก่อนในข้อที่ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินได้ยื่นตั๋วแลกเงินภายในกำหนดหรือไม่นั้น เป็นการสั่งนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจะยกประเด็นข้อนี้มาประกอบการพิจารณาไม่ได้
4. แม้ตั๋วแลกเงินฉบับนี้จะมีถ้อยคำว่าไม่จำต้องมีคำคัดค้านก็ดีถ้อยคำนั้นเป็นอักษรตัวพิมพ์ซึ่งโจทก์พิมพ์ติดตั๋วแลกเงินไว้แต่เดิม หาใช่ลายมือของจำเลยบันทึกรับรองไม่ และจำเลยก็ไม่ยอมปลดเปลื้องให้โจทก์ เมื่อถึงกำหนดใช้เงิน โจทก์จะต้องยื่นตั๋วแลกเงิน เมื่อจำเลยไม่ชำระเงิน โจทก์จะต้องทำคำคัดค้าน เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จะอาศัยอำนาจกฎหมายมายันจำเลยไม่ได้
ศาลฎีกาพิเคราะห์เห็นว่า ข้อโต้เถียงคัดค้านตามฎีกาข้อ 1 นั้นจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นประเด็นข้อต่อสู้ในคำให้การ ศาลล่างไม่ได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้มาเลย จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัย ตามฎีกาข้อ 2 เรื่องนายประเสริฐ จุลละเกศไม่ปฏิบัติตามหนังสือมอบอำนาจข้อ 4 และข้อ 16 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยแทนธนาคารฯนั้น ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยกล่าวไว้แล้วในข้อ 1 ว่านายประเสริฐ จุลละเกศมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยนั้น จึงไม่กล่าวซ้ำอีก ตามฎีกาข้อ 3 เรื่องศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยสืบก่อนในข้อที่ว่าโจทก์ยื่นตั๋วแลกเงินภายในกำหนดหรือไม่ เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็นนั้นเห็นว่าศาลชั้นต้นสั่งชอบแล้ว ไม่เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็น เพราะจำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้ว่าโจทก์มิได้ยื่นตั๋วแลกเงินภายในกำหนดที่กฎหมายบัญญัติไว้ ส่วนฎีกาข้อ 4 เรื่องโจทก์ไม่ทำคำคัดค้านเมื่อจำเลยไม่ยอมชำระเงินตามตั๋วแลกเงินนั้น ศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยกล่าวไว้แล้วในข้อ 5 ว่าโจทก์ไม่จำต้องทำคำคัดค้าน ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยนั้น จึงไม่กล่าวซ้ำอีก ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกประการ
ศาลฎีกาคงพิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายชั้นฎีกาอีก 500 บาทแทนโจทก์