แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 18, 19, 21, 22, 23
แม้การดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายจะต้องดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการที่กรรมการแต่งตั้งก็ตาม แต่การตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านในคดีนี้ เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้ออกคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินและมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน ด้วยเหตุมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบทรัพย์สิน ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านและทำบันทึกการพิจารณาเกี่ยวกับทรัพย์สิน ตลอดจนมีความเห็นขอให้คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาและเสนอคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน กับคณะอนุกรรมการประจำคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้มีมติเห็นชอบตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอ ต่อมาคณะกรรมการ ตรวจสอบทรัพย์สินได้มีคำวินิจฉัยว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ยาเสพติดกับมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน ทั้งได้ส่งคำวินิจฉัยและขอให้พนักงานอัยการได้พิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินแล้ว ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งและตามที่ได้รับมอบหมาย จากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยชอบแม้การตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านจะไม่ปรากฏรายชื่อของคณะอนุกรรมการหรือความเห็นของคณะอนุกรรมการหรือผู้ร้องมิได้นำคณะอนุกรรมการมาเบิกความยืนยันว่าการตรวจสอบทรัพย์สินดังกล่าวได้ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินแต่งตั้งก็ตาม ก็หาทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมายต้องเสียไปไม่ ผู้ร้องมีอำนาจขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินตามคำร้องได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๗๓๗๗/๒๕๓๗ ของศาลชั้นต้น ฟ้องผู้คัดค้านที่ ๑ และผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นจำเลยฐานร่วมกันผลิตและมียาเสพติดให้โทษชนิดเฮโรอีน ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษชนิดฝิ่น ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มีและ ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มีคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ โดยมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวแทนและต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินรวม ๓๑ รายการ โดยวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินทั้ง ๓๑ รายการดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่อง กับการกระทำความผิดของจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๗๓๗๗/๒๕๓๗ ของศาลชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๒๗, ๒๙, ๓๑
ผู้คัดค้านทั้งสี่ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามคำร้อง เพราะผู้ร้องและพนักงานเจ้าหน้าที่มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ขอให้มีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านทั้งสี่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ตามคำร้องของผู้ร้องในรายการที่ ๑ ถึง ๒๙ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๒๙, ๓๑ และให้ยกคำร้องของผู้ร้องเฉพาะทรัพย์สินรายการที่ ๓๐ กับ ๓๑
ผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิตและคดีถึงที่สุดแล้ว ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้ริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดรวม ๓๑ รายการ ดังกล่าวข้างต้น
ผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ฎีกาว่า การดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมาย จะต้องดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการแต่งตั้งตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความใน พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ แต่การตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ มิได้มีความเห็นหรือรายชื่อของคณะอนุกรรมการ คงมีแต่บันทึกการพิจารณาเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบหมายเท่านั้น กรณีจึงมิได้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตาม ขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมายื่นคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินตามคำร้องได้นั้น เห็นว่า แม้ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๘ จะบัญญัติว่า คณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ได้รับมอบหมายก็ได้
และกฎกระทรวงฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ข้อ ๑ จะกำหนดว่าการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินตามกฎกระทรวงนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับ มอบหมายจะต้องดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการแต่งตั้งก็ตาม แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินรายใดอาจมีการโอน ยักย้าย ซุกซ่อน มาตรา ๑๙ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวบัญญัติว่า
ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เลขาธิการอาจสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหาไปก่อน แล้วรายงาน ให้คณะกรรมการทราบก็ได้
มาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
เลขาธิการอาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินแทนแล้วรายงานให้ทราบก็ได้
มาตรา ๒๒ วรรคสอง บัญญัติว่า
เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทรัพย์สิน หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินรายใดอาจมีการโอน ยักย้าย ซุกซ่อน หรือเป็นกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินรายนั้นไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีการวินิจฉัยตามมาตรา ๑๖ (๓)
และมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
เมื่อคณะกรรมการหรือเลขาธิการแล้วแต่กรณีได้มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินใดแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินและประเมินราคาทรัพย์สินนั้นโดยเร็วแล้วรายงานให้ทราบ
จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวถือได้ว่า ถ้าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน กฎหมายได้ให้อำนาจแก่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหา ไปก่อนแล้วรายงานให้ทราบ กับให้มีอำนาจสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินใดไว้ชั่วคราว แล้วรายงานให้ทราบ จนกว่าจะได้มีการวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามมาตรา ๑๖ (๓) ว่า ทรัพย์สินใดของผู้ต้องหาเป็นทรัพย์สิน ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินนั้นตามความในมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้ออกคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินและมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินและประเมินราคาทรัพย์สิน ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบทรัพย์สิน ต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินด้วยเหตุมีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่อาจเชิญประชุมคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ทัน หากไม่รีบดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สิน อาจมีการเปลี่ยนแปลง โยกย้าย หรือทำลายพยานหลักฐานได้
พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายได้ตรวจสอบทรัพย์สิน ตลอดจนยึดและอายัดทรัพย์สินของพวกผู้คัดค้านและทำบันทึกการพิจารณาเกี่ยวกับทรัพย์สิน ตลอดจนมีความเห็นขอให้คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาและเสนอ คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินกับคณะอนุกรรมการประจำคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้มีมติเห็นชอบตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอ จึงเสนอให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อวินิจฉัยยึดอายัดทรัพย์สิน และต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้มีคำวินิจฉัยว่าทรัพย์สิน ของพวกผู้คัดค้านเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กับมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน ดังกล่าว ทั้งได้ส่งคำวินิจฉัยและขอให้พนักงานอัยการได้พิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินแล้ว ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งและตามที่ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดดังกล่าวมาจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยชอบ แม้การตรวจสอบทรัพย์สิน ของพวกผู้คัดค้านจะไม่ปรากฏรายชื่อของคณะอนุกรรมการหรือความเห็นของคณะอนุกรรมการดังที่ผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ กล่าวอ้าง ตลอดจนผู้ร้องมิได้นำคณะอนุกรรมการเบิกความยืนยันว่า การตรวจสอบทรัพย์สินของพนักงาน เจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายได้ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการตรวจสอบ ทรัพย์สินแต่งตั้งก็ตาม ก็หาได้ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจนคณะกรรมการตรวจสอบ ทรัพย์สิน และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อันชอบด้วยกฎหมายต้องเสียไปไม่ ผู้ร้อง มีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินตามคำร้องได้ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน .