แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 3 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลที่ให้โอกาสโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรได้ หากจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือ แต่บางส่วน ในราชอาณาจักรทั้งโดยตนเองหรือตัวแทน หรือเพียงแต่จำเลยมีผู้ติดต่อในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรเท่านั้น ก็ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือ ของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนด 2 ปี ก่อนนั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย ซึ่งโจทก์สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลที่สถานที่ดังกล่าวอยู่ในเขตศาลได้
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการขนส่งของจำเลยที่ 1 โดยเป็นผู้ติดต่อในการนำเรือให้ถึง ท่าปลายทางและติดต่อนำเรือออกจากท่าปลายทาง ตลอดจนติดต่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนเรือในกิจการขนส่งทางทะเลอันเป็นธุรกิจบริการของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการขนส่งของจำเลยที่ 1 ในราชอาณาจักร เมื่อปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงถือว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อันเป็นศาลที่ถือว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
โจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยทางทะเลกับผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งสินค้าที่เอาประกันภัยดังกล่าว เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวแก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งสินค้าที่เอาประกันภัย โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวได้
การรับประกันภัยของโจทก์เป็นการรับประกันภัยสินค้าตามจำนวนหน่วย การระบุน้ำหนักไว้เป็นเพียงให้ทราบถึงน้ำหนักของสินค้ารวมทุกหน่วยเท่านั้น และความเสียหายที่เกิดแก่สินค้าเป็นกรณีที่สินค้านั้นสูญหายไปบางส่วนจำนวน 10 หน่วย และสินค้าเสียหายเพราะเหล็กบุบย่นไปบางส่วน ซึ่งตามสัญญาประกันภัยได้ให้ความคุ้มครอง โจทก์ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยทางทะเลต่อผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย แม้โจทก์จะรับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลไว้จากผู้รับตราส่งภายหลังจากที่เรือซึ่งรับขนส่งสินค้าดังกล่าวออกเดินทางจาก ท่าเรือต้นทางแล้วก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าเรือดังกล่าวถึงท่าปลายทางภายหลังวันที่โจทก์รับประกันภัยสินค้าที่ขนส่ง ทางทะเล ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้แย้งว่าความเสียหายมิได้เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 1 และ มิได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวโดยโจทก์รู้อยู่แล้วเช่นนั้นยังจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งไป การจ่ายค่าสินไหมทดแทนของโจทก์แก่ผู้รับตราส่งจึงเป็นการชำระหนี้ไปตามความรับผิดตามสัญญาประกันภัย ทางทะเล หาใช่การชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและไม่สุจริต
มาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 เป็นเรื่องการคำนวณราคาของที่สูญหายหรือ เสียหายว่าผู้ขนส่งทางทะเลจะต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลเพียงใด ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็น ผู้รับประกันภัยทางทะเลได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 384,833.75 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับจากวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 อันเป็นวันที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทน แก่ผู้เอาประกันภัยไปจนกว่าจำเลยชำะหนี้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันร้องขอให้โอนคดีนี้ไปพิจารณาพิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางภายในกำหนดระยะเวลาตามบทบัญญัติมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีนี้ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 385,150.05 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 384,833.75 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดเป็น ค่าทนายความ 7,500 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาเฉพาะจำเลยที่ 1 ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประเด็นแรกว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ประกอบกิจการเป็นตัวแทนในการทำพิธีการทางเรือหรือเรียกว่าชิปปิ้ง เท่านั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นตัวแทนประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร ที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 3 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง
(2) ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร
(ข) ถ้าจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักรไม่ว่าโดยตนเองหรือตัวแทน หรือโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือการติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้อง หรือภายในกำหนดสองปีก่อนนั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย” บทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตรานี้เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลที่ให้โอกาสโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรได้ หากจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักรทั้งโดยตนเองหรือตัวแทนหรือเพียงแต่จำเลยมีผู้ติดต่อในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรเท่านั้นก็ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าวหรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนด 2 ปี ก่อนนั้นเป็น ภูมิลำเนาของจำเลย ซึ่งโจทก์สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลที่สถานที่ดังกล่าวอยู่ในเขตศาลได้
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อในการนำเรือให้ถึงท่าปลายทางและติดต่อนำเรือออกจากท่าปลายทาง ตลอดจนการติดต่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนเรือในกิจการขนส่งทางทะเลอันเป็นธุรกิจบริการของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการขนส่งของจำเลยที่ 1 ในราชอาณาจักร เมื่อปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงถือว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 3 (2) (ข) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อันเป็นศาลที่ถือว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตามมาตรา 4 (1) แห่ง ป.วิ.พ. ก่อนที่คดีนี้จะโอนมายังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาในประเด็นนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยและ มีสิทธิรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัย ทางทะเล กับบริษัทคาร์โนด์เมตัลบ๊อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งสินค้าที่ เอาประกันภัยดังกล่าวแล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว แก่บริษัทดังกล่าวผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งสินค้าที่เอาประกันภัยโจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพราะภัยที่เกิดขึ้น อยู่ในข้อยกเว้นความรับผิดของโจทก์ผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยและภัยมิได้เกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาแห่งความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยหรือไม่
เห็นได้ว่าการรับประกันภัยของโจทก์เป็นการรับประกันภัยสินค้า ตามจำนวนหน่วย การระบุน้ำหนักไว้เป็นเพียงให้ทราบถึงน้ำหนักของสินค้าจำนวนทั้งหมด 175 หน่วย เท่านั้น หาใช่การรับประกันภัยสินค้าเป็นจำนวนน้ำหนักดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ไม่ และความเสียหายที่เกิดแก่สินค้าดังกล่าว ในระหว่างการขนส่สงก็มิใช่ความเสียหายในกรณีที่น้ำหนักของสินค้าขาดหายไป เพราะสินค้าที่จำเลยทั้งสองส่งมอบแก่ผู้รับตราส่งโจทก์มิได้ฟ้องและนำสืบว่าน้ำหนักได้ขาดหายไปในระหว่างการขนส่งแต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่สินค้านั้นสูญหายไปบางส่วนจำนวน 10 หน่วย และสินค้าเสียหายเพราะแผ่นเหล็กบุบย่นไปบางส่วน ซึ่งการประกันภัย ตามสัญญาประกันภัย ได้ให้ความคุ้มครองถึงความสูญหายและเสียหายของวัตถุที่เอาประกันภัยดังกล่าว กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่สัญญาประกันภัยไม่ให้ความคุ้มครองถึงความเสียหาย ในกรณีที่น้ำหนักของสินค้าขาดหายไป โจทก์ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยทางทะเลต่อผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย และแม้โจทก์จะรับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลดังกล่าวไว้จากผู้รับตราส่งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นภายหลังจาก ที่เรือแองเจลิกซึ่งรับขนส่งสินค้าดังกล่าวออกเดินทางจากท่าเรือต้นทางเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 แล้วก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าเรือแองเจลิกถึงท่าปลายทางที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งข้อนี้จำเลยที่ 1 มิได้ นำสืบโต้แย้งว่าความเสียหายมิได้เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 1 และมิได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว โดยโจทก์รู้อยู่แล้วเช่นนั้นยังจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งไป การจ่ายค่าสินไหมทดแทนของโจทก์แก่ ผู้รับตราส่งจึงเป็นการชำระหนี้ไปตามความรับผิดตามสัญญาประกันภัยทางทะเล หาใช่การชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ไม่
ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายจำนวน 384,833.75 บาท ดังกล่าวจาก จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะโจทก์มิได้คำนวณราคาสินค้าตามส่วนโดยเทียบกับราคาสินค้าอย่างเดียวกันและคุณภาพ เท่าเทียมกันที่ยังเหลืออยู่ในเวลาส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 61 นั้น เห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องการคำนวณราคาของที่สูญหายหรือ เสียหายว่าผู้ขนส่งของทางทะเลจะต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลเพียงใด บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผลอุทธรณ์ของ จำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท แทนโจทก์.