คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 458/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินไปประกันตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์โดยทำหนังสือมอบอำนาจระบุข้อความว่า ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจจัดการประกันตัวผู้ต้องหา นำหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินพร้อมทั้งให้ถ้อยคำต่าง ๆแก่เจ้าหน้าที่ แม้จำเลยที่ 1 จะเข้าทำสัญญาในนามตนเอง มิได้ระบุว่ากระทำการแทนจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่ในการตีความแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 132 แสดงว่าจำเลยที่ 1มีเจตนาขอประกันตัวผู้ต้องหาแทนจำเลยที่ 2 ตามที่ได้รับมอบอำนาจมาหาได้กระทำการเป็นส่วนตัว ประกอบกับการมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันผู้ต้องหารายนี้จะต้องมีหลักประกัน และจำเลยที่ 1 ก็ได้ทำสัญญาประกันโดยมอบหลักประกันของจำเลยที่ 2ให้โจทก์ยึดถือไว้ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะขอประกันเป็นการส่วนตัวหาได้ไม่เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีหลักทรัพย์เป็นประกัน จึงถือได้ว่าสัญญาประกันรายนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำแทนจำเลยที่ 2เท่านั้น จำเลยที่ 2 ต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นตัวการส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนหาต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากความควบคุมของพนักงานอัยการแต่ให้โจทก์รับตัวไปเพื่อทำสัญญาประกันและให้โจทก์เป็นคู่สัญญา โดยนำโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์เป็นหลักประกัน ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดสัญญาประกันไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาส่งให้โจทก์ตามกำหนดนัด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญาประกันจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจนำหลักทรัพย์โฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๒ ไปประกันตัวผู้ต้องหากับโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๒ เพียงแต่มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ นำโฉนดที่ดินไปวางเป็นหลักประกันในการประกันตัวผู้ต้องหาเท่านั้น ต่อมาจำเลยที่ ๒ นำเจ้าพนักงานติดตามจับผู้ต้องหาส่งให้โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาประกันแต่จำเลยที่ ๒ ขวนขวายติดตามนำเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้โดยเสียค่าใช้จ่ายประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท จึงสมควรลดค่าปรับให้จำเลยที่ ๒ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท โดยให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ จำนวน ๑๓๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ชำระค่าปรับ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ ๒ มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ นำโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๐๓๖๖ และ ๔๐๓๖๗ อันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ ไปประกันตัวนางสาววนิดา ว่องไว ผู้ต้องหา ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น และมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาตกับโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาดังกล่าวในนามของจำเลยที่ ๑ โดยนำที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเป็นหลักประกันและจำเลยที่ ๑ ได้เข้าทำสัญญาประกันรายนี้ในนามตนเอง พร้อมกับแนบหลักประกันคือโฉนดที่ดินนั้นให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐาน คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า จำเลยที่ ๑ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ตามสัญญาประกันต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ ๒ มีเจตนาที่แท้จริงขอประกันตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ โดยทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้กระทำการแทน อันมีข้อความระบุว่ามอบให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีอำนาจจัดการประกันตัวผู้ต้องหา โดยนำหนังสือรับรองราคาประเมินตามเครื่องหมายเลขที่ดินรวม ๒ โฉนด พร้อมทั้งให้ถ้อยคำต่าง ๆ แก่เจ้าหน้าที่ได้ด้วย แม้จำเลยที่ ๑ จะเข้าทำสัญญาประกันในนามตนเอง มิได้ระบุว่ากระทำการแทนจำเลยที่ ๒ก็ตาม แต่ในการตีความแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษร ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๒ แสดงว่าจำเลยที่ ๑ มีเจตนาขอประกันตัวผู้ต้องหาแทนจำเลยที่ ๒ ตามที่ได้รับมอบอำนาจมา หาได้กระทำการเป็นส่วนตัวแต่อย่างใดไม่ ประกอบกับการมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันผู้ต้องหารายนี้จะต้องมีหลักประกัน และจำเลยที่ ๑ก็ได้ทำสัญญาประกันโดยมอบหลักประกันของจำเลยที่ ๒ ให้โจทก์ยึดถือไว้ แสดงว่าจำเลยที่ ๑ จะขอประกันเป็นการส่วนตัวหาได้ไม่เพราะจำเลยที่ ๑ ไม่มีหลักทรัพย์เป็นประกัน ย่อมถือได้ว่าสัญญาประกันรายนี้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ ๒เท่านั้น จำเลยที่ ๒ จึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นตัวการส่วนจำเลยที่ ๑ เป็นเพียงตัวแทนหาต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๒ด้วยไม่และศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าที่ศาลอุทธรณ์ลดค่าปรับให้จำเลยที่ ๒ เหลือเพียง ๓๐,๐๐๐ บาท นั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ.

Share