แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเขตชลประทานประเภท 2 ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ.2485 มาตรา 23, 37 วรรคหนึ่ง และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกจากเขตชลประทานชานคลอง 17 มิใช่กรณีที่พนักงานอัยการขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43, 44, 50 ผู้ร้องซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาเขตชลประทานชานคลอง จึงมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากที่โจทก์สามารถร้องขอได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485 มาตรา 23, 37 และให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกจากเขตชลประทานชานคลอง 17
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดี ศาลชั้นต้นอนุญาต หมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดีจำเลย ผู้ร้องนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศเพื่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างแล้ว จำเลยยื่นคำร้องว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีผิดระเบียบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีอำนาจขอเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดี โดยการยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากเขตชลประทานชานคลอง 17 ตามคำพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเขตชลประทานซึ่งเป็นทางน้ำชลประทานประเภท 2 ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 มาตรา 23, 37 วรรคหนึ่ง และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำ 3 หลัง ออกจากเขตชลประทานชานคลอง 17 คดีถึงที่สุดไปแล้ว ความผิดฐานดังกล่าวนี้เป็นความผิดฐานปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเขตชลประทาน กรมชลประทานผู้ร้องย่อมได้รับความเสียหาย ทั้งกรมชลประทานได้แจ้งความร้องทุกข์แก่พนักงานสอบสวน การฟ้องคดีของพนักงานอัยการเป็นไปตามอำนาจที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยและให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากเขตชลประทาน ตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง จึงไม่ใช่กรณีที่พนักงานอัยการขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43, 44, 50 ดังที่จำเลยฎีกา กรมชลประทานซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาเขตชลประทานชานคลองจึงมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากที่โจทก์สามารถร้องขอได้ ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3979/2549 ที่จำเลยอ้าง มีข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ เพราะคดีดังกล่าวมีประเด็นแต่เพียงว่า ผู้ร้องมีอำนาจเข้ามาดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 50 หรือไม่ ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาออกหมายบังคับคดีของผู้ร้องจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว จึงเป็นกระบวนการบังคับคดีที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ เพิกถอนหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ