แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินโบนัสที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นรางวัลในการปฏิบัติงานมิใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง จึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ในคำนิยามของคำว่าสภาพการจ้าง การที่นายจ้างไม่จ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างจึงมิใช่กรณีที่นายจ้างจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างที่ต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินค่าจ้างค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวันตามมาตรา 9 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
คู่มือการบริหารงานบุคคลระบุว่า ธนาคารนายจ้างจะจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานปีละ 2 ครั้ง พนักงานที่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสจะต้องปฏิบัติงานในงวดนั้นไม่ต่ำกว่า 1 เดือน และต้องอยู่ปฏิบัติงานจนถึงวันสิ้นงวดบัญชีงวดแรกคือวันที่ 30 มิถุนายน 2541 โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ทำงานกับจำเลยมาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2541 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสในงวดบัญชีแรกของจำเลยตามข้อบังคับของจำเลยและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อจำเลยไม่จ่ายให้ครบถ้วนจึงตกเป็นผู้ผิดนัด การที่จำเลยยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2541 แต่มีการจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นภายหลังโจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จัดทำขึ้นดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์
ย่อยาว
คดีทั้งหกร้อยห้าสิบห้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้ากับคดีอื่นอีกหนึ่งสำนวน ซึ่งโจทก์ได้ขอถอนฟ้องในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางโดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 222 และโจทก์ที่ 224 ถึงที่ 656 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งหกร้อยห้าสิบห้าสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินโบนัสและเงินเพิ่มตามฟ้องแต่ละสำนวนและจ่ายเงินเพิ่มต่อไป นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทุกคน
จำเลยทั้งหกร้อยห้าสิบห้าสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ที่ 223 ขอถอนฟ้องศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแต่ละสำนวนแก่โจทก์ทั้งหกร้อยห้าสิบหกคน (ที่ถูกน่าจะเป็นโจทก์ทั้งหกร้อยห้าสิบห้าคน) รายละเอียดจำนวนเงินโบนัสของโจทก์แต่ละคนอยู่ในช่องโบนัสที่เรียกเพิ่มตามบัญชีท้ายคำพิพากษา
โจทก์และจำเลยทั้งหกร้อยห้าสิบห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งหกร้อยห้าสิบห้าสำนวนอุทธรณ์ในข้อ 2.1 ว่า ตามข้อบังคับเอกสารหมาย จ.ล. 4 กำหนดจ่ายเงินโบนัสภายหลังวันปิดบัญชีประจำงวด ซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จ่ายภายหลังสิ้นเดือนมิถุนายน 2541 โจทก์ทุกคนเห็นว่าเงินโบนัสเป็นหนี้ที่มีกำหนดชำระหรือกำหนดจ่ายที่แน่นอน จำเลยจะต้องจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ทุกคนภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2541 เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 หรือหากเห็นว่าจะต้องชำระตามข้อบังคับเอกสารหมาย จ.ล. 4 ก็ต้องจ่ายไม่เกินวันที่ 7 กรกฎาคม 2541 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง เพราะเงินโบนัสถือว่าเป็นค่าจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลาการชำระเงินไว้เพียง 7 วัน มิใช่จนกว่าโจทก์ทุกคนจะทวงถาม เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2541 และที่โจทก์ทุกคนอุทธรณ์ข้อ 2.2 ว่า โจทก์ทุกคนมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเจ็ดวัน ทั้งเงินโบนัสเป็นสภาพการจ้าง เป็นค่าจ้างและเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อไปพร้อมกันเห็นว่า ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้คำนิยามคำว่า “สภาพการจ้าง” หมายความว่า “เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน” กับมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้คำนิยามคำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า “เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง…” และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้าง…ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด… ค่าชดเชยตามมาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 มาตรา 121 มาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี” และตามมาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างจงใจ…ไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนด…จ่าย ให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน” นั้น เห็นได้ว่า เงินโบนัสเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นรางวัลในการปฏิบัติงานเท่านั้น มิใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง เงินโบนัสจึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ในคำนิยามของคำว่า สภาพการจ้าง เช่นนี้ เมื่อเงินโบนัสไม่ใช่ค่าจ้างแล้ว การที่นายจ้างไม่จ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างจึงมิใช่กรณีที่นายจ้างจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างและต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินค่าจ้างค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน ตามมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังที่โจทก์ทุกคนอ้างมาในอุทธรณ์ ทั้งกรณีที่จะถือว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินโบนัสวันใดนั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าเงินโบนัสไม่ใช่ค่าจ้าง กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 9 วรรคสอง ที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ถึงกำหนดจ่าย …
ตามคู่มือการบริหารงานบุคคล ระบุว่า ธนาคารจะจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานปีละ 2 ครั้ง พนักงานที่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสจะต้องปฏิบัติงานในงวดนั้นไม่ต่ำกว่า 1 เดือน และต้องอยู่ปฏิบัติงานจนถึงวันสิ้นงวดบัญชีงวดแรกคือวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ปรากฏว่าโจทก์ทุกคนทำงานกับจำเลยมาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2541 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 โจทก์ทุกคนจึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสในงวดบัญชีแรกของจำเลย ตามข้อบังคับของจำเลยและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อจำเลยไม่จ่ายให้ครบถ้วนจึงตกเป็นผู้ผิดนัดดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น การที่จำเลยยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานธนารคารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2541 และต่อมาได้มีการจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นภายหลังที่โจทก์ทุกคนพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว ดังนั้นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2541 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2541 จึงหามีผลผูกพันโจทก์ทุกคนไม่ โจทก์ทุกคนมีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.ล. 2 เดิม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งหกร้อยห้าสิบห้าสำนวนทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.