คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา 6 คดี รวมทั้งคดีของผู้ร้องทั้งสองและคดีของโจทก์คือคดีนี้ด้วยเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทุกคดีต่างขอให้ดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีในแต่ละคดีจึงขออายัดเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยทำหนังสือแจ้งอายัดไปยังองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยรวม 6 ฉบับ แต่เนื่องจากเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับมีเพียง 795,912.13 บาท องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไม่สามารถส่งเงินตามจำนวนที่แจ้งอายัดได้ทุกคดี จึงส่งเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับทั้งหมดไปให้กรมบังคับคดีคราวเดียวโดยชำระเป็นเช็คจำนวน 1 ฉบับ แต่มิได้ระบุว่าเงินจำนวนดังกล่าวส่งให้ตามหนังสือแจ้งอายัดในคดีใด ดังนั้น ในวันที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยส่งเงินไปให้กรมบังคับคดีนั้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทุกคดีย่อมไม่อาจทราบได้ว่าจะมีการส่งเงินที่แจ้งอายัดเข้ามาในคดีใดบ้าง จำนวนเท่าใด และจะต้องไปขอเฉลี่ยเงินดังกล่าวในคดีอื่นหรือไม่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดสรรเงินให้ตามหนังสือแจ้งอายัดในคดีหมายเลขแดงที่ ย.711/2544 และคดีของโจทก์คดีนี้แล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงทราบว่าคดีของผู้ร้องทั้งสองไม่มีการส่งเงินให้ตามที่แจ้งอายัดไว้ จึงต้องมายื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงินในคดีนี้ กรณีต้องถือว่าเงินที่แจ้งอายัดไว้ส่งเข้ามาในคดีนี้เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดสรรเงินจำนวน 474,087.25 บาท ให้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2545 ระยะเวลาที่กำหนดไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคห้า ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ภายใน 14 วัน นับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้จึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว หาใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยส่งเงินที่อายัดไปให้บังคับคดีไม่ เมื่อผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงินในคดีนี้เมื่อวันที่ 23 และ 30 กรกฎาคม 2545 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งค่าฤชาธรรมเนียม แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม และในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนผู้ร้องทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท ก็ไม่ถูกต้อง เพราะแม้คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลจะสั่งให้พิจารณารวมกัน แต่การสั่งค่าฤชาธรรมเนียมต้องพิจารณาสั่งแยกเป็นรายสำนวน ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณารวมกัน โดยให้เรียกผู้ร้องสำนวนแรกและสำนวนที่สามว่า ผู้ร้องที่ 1 และเรียกผู้ร้องสำนวนที่สองว่า ผู้ร้องที่ 2
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 430,000 บาท แก่โจทก์ โดยผ่อนชำระภายในวันที่ 27 ของทุกเดือน เดือนละ 10,000 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จ เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 27 มีนาคม 2544 หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดยอมให้โจทก์บังคับคดีในเงินที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์จึงขอให้บังคับคดีอายัดเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับเนื่องจากการลาออกจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเพื่อชำระหนี้ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม 2545 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยส่งเงินมาให้กรมบังคับคดี 795,912.13 บาท
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้อง ขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสองเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ หากโจทก์สละสิทธิการบังคับคดี ผู้ร้องทั้งสองขอสวมสิทธิการบังคับคดีต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองเข้าเฉลี่ยเงินในคดีนี้ได้ หากโจทก์สละสิทธิการบังคับคดีให้ผู้ร้องทั้งสองเข้าสวมสิทธิการบังคับคดีต่อไป
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนผู้ร้องทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เห็นว่า ระยะเวลาในการขอเฉลี่ยทรัพย์ในกรณีที่มีการอายัดทรัพย์สินนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคห้า บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งหมด 6 คดี รวมทั้งคดีของผู้ร้องทั้งสองและคดีของโจทก์คือคดีนี้ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทุกคดีต่างขอให้ดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีในแต่ละคดีจึงขออายัดเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยทำเป็นหนังสือแจ้งอายัดไปยังองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย รวม 6 ฉบับ กล่าวคือ คดีหมายเลขแดงที่ ย.711/2544 ขออายัดเงิน 321,824.88 บาท คดีหมายเลขแดงที่ ย.103/2544 คือคดีของโจทก์คดีนี้ขออายัดเงิน 537,499 บาท คดีหมายเลขแดงที่ ย.712/2544 ขออายัดเงิน 331,727 บาท คดีหมายเลขแดงที่ ย.390/2544 ขออายัดเงิน 602,534.26 บาท คดีหมายเลขแดงที่ ย.391/2544 ขออายัดเงิน 435,774.31 บาท และคดีหมายเลขแดงที่ ย.150/2545 ขออายัดเงิน 320,197.13 บาท แต่เนื่องจากเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีเพียง 795,912.13 บาท องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไม่สามารถส่งเงินให้ตามจำนวนที่แจ้งอายัดได้ทุกคดีจึงส่งเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับทั้งหมดไปให้กรมบังคับคดีคราวเดียวโดยชำระเป็นเช็คจำนวน 1 ฉบับ แต่มิได้ระบุว่าเงินจำนวนดังกล่าวส่งให้ตามหนังสือแจ้งอายัดในคดีใด ดังนั้น ในวันที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยส่งเงินไปให้กรมบังคับคดีนั้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทุกคดีรวมทั้งโจทก์และผู้ร้องทั้งสองย่อมไม่อาจทราบได้ว่าจะมีการส่งเงินที่แจ้งอายัดเข้ามาในคดีใดบ้าง จำนวนเท่าใดและจะต้องไปขอเฉลี่ยเงินดังกล่าวในคดีอื่นหรือไม่ หากมีการส่งเงินเข้ามาในคดีของผู้ร้องทั้งสองเต็มตามจำนวนที่แจ้งอายัดไว้ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้ร้องทั้งสองจะต้องไปขอเฉลี่ยเงินในคดีอื่นอีก แต่เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดสรรเงินดังกล่าวให้ตามหนังสือแจ้งอายัดในคดีหมายเลขแดงที่ ย.711/2544 และคดีของโจทก์คดีนี้แล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงทราบว่าคดีของผู้ร้องทั้งสองไม่มีการส่งเงินให้ตามที่แจ้งอายัดไว้ จึงต้องมายื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงินในคดีนี้ กรณีต้องถือว่าเงินที่แจ้งอายัดไว้มีการส่งเข้ามาในคดีนี้เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดสรรเงินจำนวนดังกล่าวให้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2545 ระยะเวลาสิบสี่วันจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว หาใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2545 ซึ่งเป็นวันที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยส่งเงินที่อายัดไปให้กรมบังคับคดีไม่ เมื่อผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงินในคดีนี้เมื่อวันที่ 23 และ 30 กรกฎาคม 2545 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แต่ตามคำสั่งศาลชั้นต้นปรากฏว่าศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม และในชั้นอุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนผู้ร้องทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ก็เป็นการไม่ถูกต้องเพราะแม้คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลจะสั่งให้พิจารณารวมกัน แต่ในการสั่งค่าฤชาธรรมเนียมต้องพิจารณาสั่งแยกเป็นรายสำนวน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนผู้ร้องแต่ละสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 1,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาทั้งสามสำนวนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share