คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4570/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในคำอุทธรณ์ของโจทก์จะไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดในการเสียภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 แต่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านว่าการตัดรายการจำหน่ายหนี้สูญสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 ของโจทก์ออกเป็นผลให้โจทก์ไม่มีผลขาดทุนสุทธิไปหักเป็นรายจ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 ทำให้รอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 มีกำไรสุทธิตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินโจทก์ ถือว่าโจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(9) ที่ใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติว่า “การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้จะกระทำได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้ว” หนี้ดังกล่าวมิได้กำหนดว่าจะต้องเป็นหนี้เฉพาะทางการค้าของโจทก์เท่านั้น หนี้ที่เกิดจากกรรมการของโจทก์ยักยอกถือเป็นหนี้อย่างหนึ่งที่สามารถจำหน่ายเป็นหนี้สูญได้ เพียงแต่โจทก์ต้องปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ เมื่อโจทก์ทราบว่า พ. ยักยอกเงินไป โจทก์ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีอาญาฐานยักยอก ทั้งโจทก์ได้ฟ้องห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ค.ซึ่งพ. เป็นหุ้นส่วนอยู่จนได้รับชำระหนี้มาแล้วส่วนหนึ่ง กรณีเช่นนี้นับได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติการจนสุดความสามารถที่จะให้ได้รับชำระหนี้รายนี้แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้เรียกร้องเอาจากกรรมการคนอื่นที่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คที่ พ.เอาไปเบิกเงินแล้วยักยอกไป เมื่อปรากฏว่า พ.แต่ผู้เดียวเป็นผู้ยักยอกโดยบุคคลที่ลงลายมือชื่อร่วมด้วย มิได้รู้เห็นหรือรับประโยชน์จากการที่ พ.ยักยอกแต่ประการใด ทั้งโจทก์ปฏิบัติการจนสุดความสามารถที่จะให้ได้รับชำระหนี้และไม่สามารถจะเอาทรัพย์สินจาก พ.มาชำระหนี้ได้ โจทก์ย่อมจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด ได้มอบอำนาจให้นายพันธุ์ทองเป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยจำเลยที่ 1 เป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงการคลัง มีหน้าที่จัดเก็บเงินภาษีอากรให้เป็นไปตามประมวลรัษฎากร จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อปี 2525เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520-2522 เป็นเงิน 107,173.69 บาท 3,930,087.58 บาท และ 6,023,186.02 บาทตามลำดับ โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ โจทก์เห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะรายจ่ายที่โจทก์ได้นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 และปี 2522 โดยระบุว่าเป็นรายการพิเศษนั้นไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรรายจ่ายซึ่งโจทก์นำตัดจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 และปี 2522 เป็นเงินที่โจทก์ถูกยักยอกไป เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นรายจ่ายพิเศษต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติห้ามตัดรายจ่ายพิเศษสำหรับกรณีซึ่งโจทก์ถูกยักยอกเงินไป อีกทั้งกรณีที่โจทก์ถูกยักยอกเงินไปไม่อาจนำบทบัญญัติตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรมาปรับใช้ได้เพราะตามมาตรา 65 ตรี ไม่ได้บัญญัติห้ามคำนวณกำไรสุทธิโดยตัดรายจ่ายของนิติบุคคลสำหรับกรณีนิติบุคคลถูกยักยอกทรัพย์และยังไม่ได้รับคืนไว้ ข้อห้ามตามบทบัญญัติมาตรา 65 ตรี (12) คงห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิสำหรับผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ แต่กรณีของโจทก์เป็นความเสียหายอันเนื่องจากการประกอบกิจการที่ไม่มีประกัน โจทก์ย่อมหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ทันที ขอให้พิพากษาว่า การประเมินของเจ้าพนักงานเป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า นายพันธุ์ทองไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ใบมอบอำนาจของโจทก์ไม่สมบูรณ์ ไม่ปรากฏว่ามีคำพิพากษาของศาลใดพิพากษาว่านายพอลยักยอกทรัพย์ จำนวนหนี้ของโจทก์ยังไม่เป็นหนี้สูญและไม่อาจนำไปหักกับรายรับได้ เรื่องหนี้สูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา 65 ทวิ(9) แห่งประมวลรัษฎากรหมายถึงการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ทางการค้าของโจทก์หาได้หมายถึงทรัพย์สินที่ถูกกรรมการโจทก์ร่วมกันยักยอกไปไม่ โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการประเมินในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้สูญของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 จำนวนเงิน 13,448,327.22 บาท และของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 จำนวนเงิน 11,454,826.57 บาท และให้ปรับปรุงกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 ถึงปี 2522 ใหม่คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยประการแรกมีว่า โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า แม้ในคำอุทธรณ์ของโจทก์จะไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดในการเสียภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521แต่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านว่า การตัดรายการจำหน่ายหนี้สูญสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 ของโจทก์ออกเป็นผลให้โจทก์ไม่มีผลขาดทุน สุทธิไปหักเป็นรายจ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521ทำให้รอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 มีกำไรสุทธิตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินโจทก์ ถือว่าโจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
อุทธรณ์ประการต่อไปที่ว่า นายพอลยักยอกเงินโจทก์หรือไม่และโจทก์จำหน่ายหนี้สูญสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 ปี 2522ได้หรือไม่ โจทก์มีนายพันธุ์ทองและนายเติมศักดิ์พยานผู้ทำการตรวจสอบบัญชีของโจทก์ชี้ให้เห็นว่า นายพอลได้เอาเช็คของโจทก์เบิกเงินไปใช้และลงบัญชี เท็จเพื่อเบิกจ่ายเงินโจทก์ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ทั้งนายถนอมพยานจำเลยที่ตรวจสอบภาษีรายนี้เบิกความยอมรับว่า หนี้ที่โจทก์จำหน่ายหนี้สูญ เป็นหนี้ที่นายพอลกรรมการของโจทก์ยักยอกไป พยานหลักฐานดังกล่าวเพียงพอรับฟังได้ว่า หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่นายพอลยักยอกไป ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(9) ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติว่า “การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้ว” หนี้ดังกล่าวมิได้ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นหนี้เฉพาะทางการค้าของโจทก์เท่านั้นหนี้ที่เกิดจากกรรมการของโจทก์ยักยอกถือเป็นหนี้อย่างหนึ่งที่สามารถจำหน่ายเป็นหนี้สูญได้เพียงแต่โจทก์ต้องปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อโจทก์ทราบว่านายพอลยักยอกเงินไป โจทก์ได้แจ้งต่อพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีอาญาฐานยักยอก ทั้งโจทก์ได้ฟ้องห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลคูเปอร์แอนด์ไลย์แบรนด์ ซึ่งนายพอลเป็นหุ้นส่วนอยู่จนได้รับชำระหนี้มาแล้วส่วนหนึ่ง กรณีเช่นนี้นับได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติการจนสุดความสามารถที่จะให้ได้รับชำระหนี้รายนี้แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้เรียกร้องเอาจากนายซ้อน นางประชุมและนายพันธุ์ทอง กรรมการที่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คที่นายพอลเอาไปเบิกเงินแล้วยักยอกไป เมื่อปรากฏว่านายพอลแต่ผู้เดียวเป็นผู้ยักยอกโดยบุคคลที่ลงลายมือชื่อร่วมด้วยมิได้รู้เห็นหรือรับประโยชน์จากการที่นายพอลยักยอกแต่ประการใด ทั้งโจทก์ปฏิบัติการจนสุดความสามารถที่จะให้ได้รับชำระหนี้ และไม่สามารถจะเอาทรัพย์สินจากนายพอลมาชำระหนี้ได้ โจทก์ย่อมจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีได้
พิพากษายืน

Share