แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกัน จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสี่โดยมีกำหนดระยะเวลา เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าแล้ว สัญญาเช่าย่อมสิ้นสุดลง คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ โจทก์ทั้งสี่และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมต่างก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในการที่จะครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งแปลงจนกว่าจะแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมตามกฎหมาย การที่จำเลยยังคงครอบทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวย่อมขัดต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่น ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายต้องขาดประโยชน์อันควรได้รับจากที่ดินดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่เป็นค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยยังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตามควรค่าแห่งการใช้นั้นตามมาตรา 391 วรรคสาม
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งเช่าที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนอื่น และโจทก์ทั้งสี่บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว ขอให้บังคับจำเลยไปแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมและเรียกค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า จำเลยกับโจทก์ทั้งสี่บอกเลิกสัญญาเช่าเปลี่ยนเจตนาเป็นทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและจำเลยยังไม่ได้ผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดิน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินและสัญญาจะซื้อขายที่ดิน โดยมีเจตนาให้มีผลผูกพันกันทั้งสองฝ่าย มิได้ยกเลิกสัญญาเช่ากันตามที่จำเลยต่อสู้ ก็เพื่อจะวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ส่วนที่วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินนั้น ในที่สุดศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็หาได้พิพากษาบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินหรือให้ใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาดังกล่าวไม่ จึงไม่ใช่การพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น
คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยกัน เมื่อในส่วนที่มีทุนทรัพย์นั้นศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 32,000 บาท และค่าขาดประโยชน์เป็นรายเดือนหลังฟ้องแก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์เลย จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาตามจำนวนที่จำเลยต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 8932 โดยซื้อมาจากนางเฉลิม ชำนาญกุล เมื่อปี 2528 เพื่อจะนำมาหาประโยชน์และแบ่งปันกันต่อไป ซึ่งได้ทำการครอบครองร่วมกันมาตลอดมิได้มีการแบ่งแยกหรือแบ่งส่วนในกรรมสิทธิ์ ต่อมาจำเลยขอใช้ประโยชน์ในที่ดินชั่วคราวโดยทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ทั้งสี่ หลังจากครบกำหนดระยะเวลาตามข้อตกลงในสัญญาเช่า โจทก์ทั้งสี่มีความประสงค์จะให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นส่วนสัดพร้อมทั้งให้จำเลยจัดการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำเลยปฏิเสธแต่จำเลยยังคงครอบครองและเก็บผลประโยชน์จากที่ดิน โดยนำที่ดินไปทำร้านอาหารและสร้างห้องแถวแผงลอยให้บุคคลทั่วไปเช่า แล้วเก็บรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท โจทก์ทั้งสี่มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์และดอกผลในที่ดินให้ถูกต้องภายใน 30 วัน แต่จำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ ทำให้ได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งสี่ขาดประโยชน์ในดอกผลที่เกิดจากกรรมสิทธิ์รวมตามส่วน ซึ่งโจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับคนละ 10,000 บาทต่อเดือนรวมโจทก์ทั้งสี่จะได้รับเดือนละ 40,000 บาท นับแต่วันครบกำหนดตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าถึงวันฟ้องรวม 8 เดือน เป็นเงินทั้งสิ้น 320,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะมีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 320,000 บาท และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแล้วเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ ให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินแล้วให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่โจทก์ทั้งสี่หากแบ่งไม่ได้ให้ขายโดยประมูลราคาในระหว่างกันเอง หรือขายทอดตลาดที่ดินนำเงินมาแบ่งกัน
จำเลยให้การว่า จำเลยแบ่งแยกครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนสัดเนื้อที่ 1 งาน 31 ตารางวา ตั้งแต่ปี 2533 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2543 จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ทั้งสี่จริง แต่แล้วกลับตกลงกันใหม่เป็นว่าจำเลยจะซื้อที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสี่ในราคา 4,000,000 บาท ภายในหนึ่งปี ในระหว่างนั้นจำเลยไม่ต้องเช่าที่ดิน แต่โจทก์ทั้งสี่ยอมให้จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งหมดเพื่อรวบรวมเงินผลประโยชน์มาชำระค่าที่ดิน จากนั้นจำเลยเคยทวงถามให้โจทก์ทั้งสี่ไปจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและรับเงินค่าที่ดิน โจทก์ทั้งสี่บ่ายเบี่ยง เมื่อพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปี โจทก์ทั้งสี่กลับมีหนังสือบอกเลิกการเช่า โจทก์ทั้งสี่เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสี่ หากแบ่งแยกไม่ได้ให้ขายที่ดินโดยประมูลราคาในระหว่างกันเองหรือขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันตามลำดับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสี่จำนวน 32,000 บาท และค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 4,000 บาทนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมเสร็จสิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินกว่า 200 บาท ให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่าเมื่อปี 2528 โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 นายปรีดา กาญจนปรมาภา บิดาของโจทก์ที่ 3 นายบรรลือศักดิ์ คงคา สามีของโจทก์ที่ 4 และจำเลยลงทุนเป็นเงินคนละ 60,000 บาท ร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8932 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 1 ไร่เศษ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใกล้กับสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำ โดยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินดังกล่าว มีวัตถุประสงค์จะใช้ทำธุรกิจที่พักตากอากาศหลังจากซื้อที่ดินมีการพัฒนาที่ดินได้พักหนึ่งก็เลิกไป จนปี 2533 จำเลยเข้าไปปลูกสร้างบ้านพักและร้านอาหารที่ริมแม่น้ำแคว ในปี 2535 จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินจากเจ้าของรวมคนอื่นเพื่อทำกิจการร้านอาหาร ตกลงให้ค่าเช่าปีละ 1,200 บาทมีกำหนดเวลาการเช่าหนึ่งปี ตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ. 4 ในปี 2537นายปรีดาถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรรับมรดกถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2543 จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากเจ้าของรวมคนอื่นเพื่อค้าขาย ตกลงให้ค่าเช่าปีละ 12,000 บาท มีกำหนดเวลาการเช่าหนึ่งปี ตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ. 5 ในวันเดียวกันนั้นจำเลยยังทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวส่วนของเจ้าของรวมคนอื่นในราคารายละ 1,000,000 บาท ตกลงจะชำระราคาและจดทะเบียนโอนภายในหนึ่งปี ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ. 6 ต่อมาในปี 2544 นายบรรลือศักดิ์ถึงแก่ความตายโจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นภริยาเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล โจทก์ทั้งสี่มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินและให้จำเลยไปแบ่งแยกที่ดินกับโจทก์ทั้งสี่ตามกรรมสิทธิ์รวมมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า จำเลยแบ่งแยกที่ดินไปครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วหรือไม่ ฝ่ายจำเลยมีแต่ตัวจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ในปี 2533 จำเลยจะเข้าไปทำร้านอาหารในที่ดิน จึงตามเจ้าของรวมทุกคนมาแบ่งที่ดินกัน จำเลยชี้เอาที่ดินบริเวณริมแม่น้ำแควและเจ้าของรวมคนอื่นไม่คัดค้าน แต่จำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบสนับสนุนข้ออ้างนี้ ทั้งยังขัดต่อเหตุผลตั้งแต่วัตถุประสงค์ที่ทุกคนร่วมกันซื้อที่ดินดังกล่าวมาเพื่อทำธุรกิจที่พักตากอากาศ ย่อมจะไม่แบ่งแยกที่ดินกันครอบครองเป็นส่วนสัด เมื่อพิจารณาจากรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ. 3 ประกอบภาพถ่ายหมาย จ. 11 ก็เห็นได้ว่าที่ดินดังกล่าวยาวประมาณ 100 เมตร จากริมแม่น้ำแควไปจดถนนสาธารณะ ด้านริมแม่น้ำแควและด้านถนนกว้างประมาณ 20 ถึง 30 เมตรเท่านั้น บริเวณริมแม่น้ำแควที่จำเลยทำร้านอาหารเป็นจุดที่มีทำเลดีที่สุดในการค้าขายและธุรกิจท่องเที่ยว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าของรวมคนอื่นจะยอมแบ่งที่ดินส่วนดังกล่าวให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ในขณะที่โจทก์ทั้งสี่มีโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ไม่มีการแบ่งแยกที่ดินกันครอบครองเป็นส่วนสัดในปี 2535 จำเลยจะเข้าไปทำร้านอาหารยังต้องขอเช่าที่ดินส่วนของเจ้าของรวมคนอื่นโดยมีสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ. 4 เป็นหลักฐาน แสดงให้เห็นว่าเจ้าของรวมคนอื่นสงวนสิทธิของตน ไม่ยอมให้จำเลยทำประโยชน์ในที่ดินไปตามลำพัง ที่จำเลยกล่าวในฎีกาว่า จำเลยไม่ได้เช่าที่ดินส่วนที่คนครอบครองเป็นส่วนสัดด้วยนั้น เห็นว่า ไม่มีเหตุผลที่จะตีความสัญญาเช่าเช่นนั้น หากจำเลยครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดจริงก็ระบุในสัญญาเช่าได้ไม่ยาก กลับไม่มี ทั้งเมื่อมีการทำสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ. 5 พร้อมสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ. 6 ในปี 2543 ก็ยังระบุเป็นการเช่าที่ดินส่วนที่เป็นของเจ้าของรวมคนอื่นในลักษณะเดิม พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่มีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าไม่มีการแบ่งแยกกันครอบครองที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ทั้งสี่และจำเลยออกเป็นส่วนสัด ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ส่วนที่คู่ความมิได้ฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ทั้งสี่บอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวไปยังจำเลยโดยชอบแล้ว เป็นผลให้สัญญาเช่าที่ดินระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสี่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่า คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ โจทก์ทั้งสี่และจำเลยต่างก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในการที่จะครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งแปลง จนกว่าจำเลยจะไปแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ทั้งสี่ตามกฎหมาย การที่จำเลยยังคงครอบครองทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวย่อมขัดต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่น ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายต้องขาดประโยชน์อันควรได้รับจากที่ดินดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่เป็นค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยยังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตามควรค่าแห่งการใช้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่และจำเลยว่า ค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้เดือนละ 4,000 บาท นั้นเหมาะสมหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีรายได้จากการประกอบกิจการร้านอาหารและให้เช่าร้านค้าแผงลอยในที่ดินดังกล่าวเดือนละไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท นั้น เห็นว่า จะนำรายได้ของจำเลยมาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ทั้งสี่หาได้ไม่ เพราะธุรกิจของจำเลยต้องมีการลงทุน ส่วนหนึ่งของทุนเป็นค่าเช่าที่ดินส่วนของเจ้าของรวมคนอื่นที่จำเลยต้องจ่ายคือค่าใช้ที่ดินดังกล่าวนั่นเอง โจทก์ทั้งสี่มิได้นำสืบพยานหลักฐานใดให้ เห็นว่าโจทก์ทั้งสี่อาจนำที่ดินดังกล่าวให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าเท่าใด จะมากกว่าปีละ12,000 บาท ที่จำเลยตกลงให้ตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ. 5 เพียงใด แต่พิจารณาจากการที่จำเลยเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งด้วย โจทก์ทั้งสี่อาจจะยอมคิดค่าเช่าต่ำกว่าให้บุคคลอื่นเช่า ประกอบทำเลและสภาพที่ดิน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ทั้งสี่เดือนละ 4,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่และของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งเช่าที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนอื่น และโจทก์ทั้งสี่บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว ขอให้บังคับจำเลยไปแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมและเรียกค่าเสียหาย จำเลยให้การยกข้อต่อสู้ขึ้นเองว่า จำเลยกับโจทก์ทั้งสี่บอกเลิกสัญญาเช่าเปลี่ยนเจตนาเป็นทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและจำเลยยังไม่ได้ผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดิน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินและสัญญาจะซื้อขายที่ดิน โดยมีเจตนาให้มีผลผูกพันกันทั้งสองฝ่าย มิได้ยกเลิกสัญญาเช่ากันตามที่จำเลยต่อสู้ ก็เพื่อจะวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ส่วนที่วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินนั้น ในที่สุดศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็หาได้พิพากษาบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินหรือให้ใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาดังกล่าวไม่ จึงไม่ใช่การพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยกัน ส่วนที่มีทุนทรัพย์นั้นศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 32,000 บาทและค่าขาดประโยชน์เป็นรายเดือนหลังฟ้องแก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์เลย จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาตามจำนวนที่จำเลยต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เท่านั้น แต่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมาให้จำเลย
พิพากษายืน แต่สำหรับค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้แทนตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ทั้งสี่ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลย 7,200บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ