คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13790/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยที่ได้ปฏิบัติตามแผนที่กำหนดแต่มีผลไม่เป็นที่พอใจ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยให้แก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเดิม แม้พนักงานสอบสวนจะยังไม่ได้ดำเนินการใดแก่จำเลย แต่ด้วยคดีก่อนจำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และคดีนี้จำเลยก็ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมิใช่กรณีที่จำเลยถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาและไม่ใช่กรณีที่จำเลยต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ดังที่โจทก์กล่าวในคำฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างการรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาและไม่ปรากฏว่ามีเหตุอื่นที่ต้องห้ามมิให้จำเลยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรณีจึงต้องดำเนินการตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อคดีนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามมาตรา 19 ให้แล้วเสร็จเสียก่อน โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า คดีนี้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อรับการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 และปรากฏจากรายงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ความว่าจำเลยเคยถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2551 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุม เพื่อรับการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดตามมาตรา 19 และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานครมีคำวินิจฉัยว่า จำเลยเพิกเฉยไม่ใส่ใจที่จะเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนการที่กำหนด ผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่พอใจตามมาตรา 33 วรรคสอง และมีคำสั่งให้ส่งตัวคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด และต่อมาเกี่ยวกับคดีนี้สำนักงานคุมประพฤติประจำศาลชั้นต้นมีหนังสือลงวันที่ 19 เมษายน 2554 ถึงพนักงานสอบสวนให้รับตัวจำเลยไปดำเนินคดีและวันที่ 22 เมษายน 2554 พนักงานสอบสวนได้รับตัวจำเลยและโจทก์ส่งตัวจำเลยฟ้องต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2554 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ดังกล่าวข้างต้นว่า คดีก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยที่ได้ปฏิบัติตามแผนที่กำหนดแต่มีผลไม่เป็นที่พอใจ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยให้แก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดเดิม แม้พนักงานสอบสวนจะยังไม่ได้ดำเนินการใดแก่จำเลย แต่ด้วยคดีก่อนจำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และคดีนี้จำเลยก็ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมิใช่กรณีที่จำเลยถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาและไม่ใช่กรณีที่จำเลยต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ดังที่โจทก์กล่าวในคำฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องหาหรืออยู่ในระหว่าง ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างการรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาและไม่ปรากฏว่ามีเหตุอื่นที่ต้องห้ามมิให้จำเลยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรณีจึงต้องดำเนินการตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อคดีนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามมาตรา 19 ให้แล้วเสร็จเสียก่อน โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share