คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284-285/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและบันทึกข้อตกลงการชำระค่าเช่าซื้อ เมื่อโจทก์ร่วมเรียกเก็บเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้ต่อมาโจทก์ร่วมได้ยึดรถที่ให้เช่าซื้อคืนอันเป็นผลทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ก็ไม่ทำให้ความผิดอาญาที่เกิดขึ้นสำเร็จแล้วระงับไป จึงเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ มิได้ระงับหรือสิ้นผลผูกพันไป คดีจึงยังไม่เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ฟ้องเป็นใจความว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สาขาสุพรรณบุรี รวม 6 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 55,000 บาท ฉบับแรก ลงวันที่ 10 มีนาคม 2541 ฉบับที่สอง ลงวันที่ 10 เมษายน 2541 ฉบับที่สาม ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2541 ฉบับที่สี่ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2541 ฉบับที่ห้า ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2541 และฉบับที่หก ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2541 มอบให้บริษัท พี.พี. มอเตอร์เวอร์ค (1989) จำกัด ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้ค่าเช่ารถแทรกเตอร์ อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนด ผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2541 วันที่ 10 เมษายน 2541 วันที่ 14 พฤษภาคม 2541 วันที่ 11 มิถุนายน 2541 วันที่ 13 กรกฎาคม 2541 และวันที่ 14 สิงหาคม 2541 ตามลำดับ โดยให้เหตุผลว่า “ยังไม่มีการตกลงกับธนาคาร” ทั้งนี้จำเลยได้ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และในขณะออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ และออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และนับโทษจำเลยทั้งสองสำนวนติดต่อกัน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัท พี.พี.มอเตอร์เวอร์ค (1989) จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 เดือน และปรับกระทงละ 10,000 บาท รวม 6 กระทง จำคุก 6 เดือน และปรับ 60,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่าเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2540 จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถแทรคเตอร์แบบขุดดินตีนตะขาบจำนวน 1 คัน ไปจากโจทก์ร่วมโดยตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 12 งวด งวดละ 1 เดือน เดือนละ 55,000 บาท และจำเลยได้ออกเช็คชำระค่าเช่าซื้อรวม 12 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 55,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 และบันทึกข้อตกลงการชำระค่าเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาโจทก์ร่วมนำเช็คฉบับแรกและฉบับที่สองไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินตามเช็คได้แล้ว ส่วนเช็คที่เหลือทั้งหมดถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แต่หลังจากนั้นจำเลยได้โอนเงินชำระหนี้ตามเช็คฉบับที่ 3 และที่ 4 ให้แก่โจทก์ร่วม แล้วก็มิได้ชำระให้แก่โจทก์ร่วมอีกเลย เช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ คดีนี้เป็นเช็คที่จำเลยออกเพื่อชำระค่างวดเช่าซื้อรถที่เช่าซื้อคันดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นเช็คที่ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 5 ถึงงวดที่ 10 แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระ หลังจากนั้นโจทก์ร่วมได้พยายามติดตามทวงถามแต่มิได้รับชำระ ในที่สุดโจทก์ร่วมได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยด้วยการยึดรถที่ให้เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2544 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ แล้วประมาณ 3 ปี
คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมยึดรถคันที่ให้เช่าซื้อกลับคืนไปจากจำเลย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2544 เป็นผลให้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเลิกกัน หนี้ที่จะต้องชำระเงินตามเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของโจทก์จึงเป็นอันระงับเนื่องจากคดีเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 นั้น เห็นว่า เช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับเป็นเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 และบันทึกข้อตกลงการชำระค่าเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ในขณะที่มีมูลหนี้ต่อกัน เมื่อโจทก์ร่วมเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับซึ่งจ่ายชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 5 ถึงที่ 10 และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้ต่อมาโจทก์ร่วมได้ยึดรถที่ให้เช่าซื้อคืนอันเป็นผลทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แต่ในกรณีเช่นนี้ก็หาทำให้ความผิดอาญาที่เกิดขึ้นสำเร็จแล้วระงับไปไม่ เพราะในขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับและในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งทำให้ความผิดเกิดขึ้นสำเร็จนั้น จำเลยยังมีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อ เช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับที่จำเลยสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจึงเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ หาได้ระงับหรือสิ้นผลผูกพันไปไม่ คดีจึงยังไม่เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 เมื่อเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับเป็นเช็คที่มีผลมาจากการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยย่อมมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share