คำสั่งคำร้องที่ 2327/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา ฉบับแรกลงวันที่ 20 กันยายน2532 ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอ้างว่าเป็นการฎีกาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ส่งฎีกาให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นสั่งฎีกาว่า รวม และสั่งคำร้องว่ากรณีเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องดำเนินการเอง มิใช่ให้ศาลดำเนินการให้ ให้ยกคำร้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสองแม้จะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงแต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญมีผลโดยตรงในการพิพากษาคดี โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 80 แผ่นที่ 2)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297,83 จำคุกคนละ 5 ปี
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาฉบับแรก ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับ ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ส่งฎีกาให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 71,76,75)
จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 78)

คำสั่ง
จำเลยทั้งสองยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2532 ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาในวันเดียวกันนั้น จำเลยทั้งสองทราบคำสั่งศาลชั้นต้นในวันนั้นแล้วจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาเข้ามาอีกฉบับหนึ่งในวันที่ 20ตุลาคม 2532 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรวม แสดงว่าศาลชั้นต้นไม่สั่งฎีกาของจำเลยทั้งสองอีกเพราะได้สั่งไม่รับฎีกาฉบับแรกไปแล้ว จำเลยทั้งสองยื่นฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาโดยยื่นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2532 พ้นกำหนดสิบห้าวันนับตั้งแต่วันฟังคำสั่งไม่รับฎีกาจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532มาตรา 14 ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสอง

Share