คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4563/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาอายุความขึ้นแล้ววินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ก่อนฟ้องไม่เกินห้าปีจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 183 ถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้ปัญหานี้โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้แย้งในฎีกาโดยตรง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536 จากนั้นไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่าธนาคารยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีอีก คงมีแต่ในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ธนาคารได้นำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 มาหักชำระหนี้เท่านั้น โดยมีการหักทอนบัญชีกันตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2536 แสดงให้เห็นเจตนาของธนาคารและจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป สัญญาจึงเลิกกันโดยปริยายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2536
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด แม้สัญญาจะระบุให้ธนาคารเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยก็หมายความถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกได้จากลูกค้าที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา แม้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจะระบุให้คิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาก็เป็นการให้สิทธิแก่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าที่คิดตามปกติเท่านั้น ส่วนจะปรับได้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากสัญญานั้นว่ามีข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ ทั้งการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหนี้จึงต้องตีความข้อตกลงในสัญญาอย่างเคร่งครัด เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด โจทก์ไม่อาจคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้สูงสุดในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้าประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ไม่ผิดนัดเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 263,624.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี ของต้นเงิน 136,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ของต้นเงิน 39,227.17 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 147,735.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใด เห็นว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด แม้ตามสัญญาข้อ 2 จะระบุให้ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวย่อมหมายความถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกได้จากลูกค้าที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา และแม้ตามประกาศของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เรื่อง อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดในเงินให้สินเชื่อ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด จะระบุให้คิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญา ก็เป็นการให้สิทธิแก่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าที่คิดตามปกติเท่านั้น ส่วนจะปรับได้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากสัญญานั้นว่ามีข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ ทั้งการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหนี้ จึงต้องตีความข้อตกลงในสัญญาอย่างเคร่งครัด เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด โจทก์ไม่อาจคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้สูงสุดในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้าประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ไม่ผิดนัดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ แต่คดีนี้เมื่อโจทก์อ้างส่งประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2540 โดยมิได้ส่งประกาศอัตราดอกเบี้ยในระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2536 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2540 ว่าโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าใด และขณะที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันก็ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราใด จึงเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน 303,557.82 บาท ในระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2536 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2540 ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และนับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป ให้คิดอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้าประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชี อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนวณรายการเดินสะพัดทางบัญชีที่ปรากฏในการ์ดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งได้ความว่าในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้หักเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้ 2 รายการ รวมจำนวน 460,267.54 บาท ทั้งสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) กับจำเลยที่ 1 เลิกกันในวันที่ 31 มีนาคม 2536 ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงต้องนำเงินดังกล่าวมาหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระแก่โจทก์ในจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ด้วยส่วนจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 31 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 303,557.82 บาท และเมื่อคำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แบบไม่ทบต้นของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2536 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2540 และดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้าประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชีเท่ากับร้อยละ 18.5 ต่อปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 เป็นเงินประมาณ 109,530.31 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินประมาณ 413,088.13 บาท น้อยกว่าจำนวนเงินฝากประจำที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้นำมาหักชำระหนี้ดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share