คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 456/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา474บัญญัติไว้ว่า”ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้นท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง”โจทก์พบเสื้อเกียร์แตกครั้งแรกเมื่อวันที่27มีนาคม2532และจำเลยที่1ได้รับไปซ่อมเมื่อวันที่29มีนาคม2532แล้วนำมาส่งคืนเมื่อวันที่24สิงหาคม2532เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่1กระทำการอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์แล้วอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่29มีนาคม2532ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา172(เดิม)ต่อมาวันที่16ธันวาคม2532โจทก์ติดตั้งเกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นครั้งที่2ใช้งานจนถึงวันที่25ธันวาคม2532ปรากฎว่าเสื้อเกียร์ได้แตกเหมือนเดิมจำเลยที่1ได้รับคืนไปซ่อมอีกแล้วส่งคืนโจทก์เมื่อวันที่9สิงหาคม2533และมีการติดตั้งเกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นครั้งที่3จากนั้นวันที่20พฤศจิกายน2533โจทก์ได้ใช้เกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวใช้ได้ประมาณ2ถึง3วันเสื้อเกียร์ก็แตกอีกดังนี้แสดงว่าจำเลยที่1ยังไม่สามารถแก้ไขความชำรุดบกพร่องในจุดเดิมคือที่เสื้อเกียร์ของเกียร์ทดและอุปกรณ์นั้นให้โจทก์สามารถใช้งานได้ตามปกติอันเป็นประโยชน์ที่มุ่งหมายในสัญญาอายุความจึงยับคงสะดุดหยุดลงอยู่ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้แต่จำเลยที่1ส่งช่างไปแก้ไขแต่จำเลยที่1กลับปฎิเสธความรับผิดเมื่อวันที่28พฤศจิกายน2533จึงเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นได้สิ้นสุดลงต้องเริ่มนับอายุความเดิม1ปีใหม่ตั้งแต่วันที่28พฤศจิกายน2533

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2531 โจทก์ทำสัญญาซื้อเกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ 1 ชุด เป็นเงิน 199,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการปฎิบัติตามสัญญาไว้ต่อโจทก์ในจำนวนเงิน 19,900 บาท ครั้นวันที่ 26 มีนาคม 2532 โจทก์นำไปติดตั้งและใช้งานที่โรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี แต่ใช้งานได้ 1 วันเสื้อเกียร์ได้แตกชำรุด จำเลยที่ 1 รับเกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ไปซ่อมและส่งมอบคืนโจทก์ ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2532 เกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ชำรุดอีก จำเลยที่ 1 ได้รับคืนไปซ่อมแล้วส่งมอบคืนโจทก์ แต่ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2533 เกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์เกิดชำรุดโดยเสื้อเกียร์แตก โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขจำเลยที่ 1 ปฎิเสธการแก้ไขโดยแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่28 พฤศจิกายน 2533 โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาแล้วแต่จำเลยทั้งสองปฎิเสธความรับผิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 21,380.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 19,900 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 192,422.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 199,000 บาท นับแต่วันฟ้องถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา474 แล้ว จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เพียงนำส่งสินค้าแก่โจทก์เท่านั้น และจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบเกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ให้โจทก์ตรวจรับไว้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญา เมื่อวันที่ 21กรกฎาคม 2531 แล้วตามสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้าภายใน 12 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ตรวจรับสินค้าไว้ คือเพียงถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2532 เท่านั้นความเสียหายตามฟ้องมิได้เกิดจากความบกพร่องของสินค้า แต่เกิดจากโจทก์ติดตั้งเครื่องจักรพิพาทโดยมีข้อบกพร่องอันเป็นความผิดของโจทก์เอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์จริง แต่สัญญาค้ำประกันจำกัดวงเงินต้นและดอกเบี้ยไว้ไม่เกิน 19,900 บาท หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 2คงต้องรับผิดในวงเงินตามสัญญาค้ำประกันเพียง 19,900 บาท เท่านั้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474บัญญัติไว้ว่า “ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง” ซึ่งโจทก์พบเสื้อเกียร์แตกครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม2532 และจำเลยที่ 1 ได้รับไปซ่อมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2532แล้วนำมาส่งคืนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2532 เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์แล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2532 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 (เดิม) ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2532 โจทก์ติดตั้งเกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 ใช้งานจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2532 ปรากฎว่าเสื้อเกียร์ได้แตกเหมือนเดิมจำเลยที่ 1 ได้รับคืนไปซ่อมอีกแล้วส่งคืนโจทก์เมื่อวันที่ 9สิงหาคม 2533 และมีการติดตั้งเกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นครั้งที่ 3 จากนั้นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2533 โจทก์ได้ใช้เกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าว ใช้ได้ประมาณ 2 ถึง 3 วัน เสื้อเกียร์ก็แตกอีก ดังนี้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถแก้ไขความชำรุดบกพร่องในจุดเดิม คือที่เสื้อเกียร์ของเกียร์ทดและอุปกรณ์นั้นให้โจทก์สามารถใช้งานได้ตามปกติอันเป็นประโยชน์ที่มุ่งหมายในสัญญาอายุความจึงยังคงสะดุดหยุดลงอยู่ ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งช่างไปแก้ไข แต่จำเลยที่ 1 กลับปฎิเสธความรับผิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2533 จึงเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นได้สิ้นสุดลง ต้องเริ่มนับอายุความเดิม 1 ปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2533 เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่25 พฤศจิกายน 2534 ยังไม่พ้น 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความและศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า เสื้อเกียร์แตกเพราะความชำรุดบกพร่อง มิได้เป็นเพราะการติดตั้งไม่ถูกต้องแต่อย่างใด
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 199,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 14,802.32 บาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 19,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share