คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และบิดาเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าเป็นการหักหนี้ที่จำเลยที่ 1 และบิดามีต่อ พ. และที่ พ. เป็นหนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งไม่สมเหตุผล เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานใดน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และบิดาเป็นหนี้ พ. ต่อมาอีกประมาณ 2 เดือน จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นมารดาเลี้ยงของจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 โดยไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการชำระเงินค่าซื้อที่ดินพิพาท ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามีการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 กันจริง การรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ โจทก์ชอบที่จะขอให้เพิกถอนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดมีนบุรีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 525/2541 ในระหว่างโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 กับพวก เพื่อยึดตามคำพิพากษา โจทก์พบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกับนายดำรงซึ่งเป็นบิดา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 และนายดำรงได้โอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 3,800,000 บาท โดยในขณะที่โอนขายที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าตนมีภาระตามสัญญาค้ำประกันที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ทราบถึงภาระหนี้ดังกล่าวและต้องการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิให้โจทก์บังคับเอาแก่ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2540 จำเลยที่ 2 ได้โอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งมีฐานะเป็นมารดาเลี้ยงของจำเลยที่ 1 ในราคา 1,500,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งแรกและต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน จึงถือว่าเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริตเพื่อต้องการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ไม่สามารถยึดที่ดินแปลงดังกล่าวมาชำระหนี้โจทก์ได้ เป็นการกระทำโดยรู้อยู่แล้วว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลต่อโจทก์ ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 3 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 คืนให้แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 3 ไม่ดำเนินการก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ขายเฉพาะที่ดินไม่รวมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้รับซื้อไว้โดยสุจริตและค่าเสียค่าตอบแทน การทำนิติกรรมซื้อขายในระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำก่อนที่โจทก์จะใช้สิทธิฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ. 7 และ จ. 11 ในเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นมารดาเลี้ยงของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2541 ศาลจังหวัดมีนบุรีได้มีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 525/2541 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1599/2541 เป็นเงิน 4,290,370.21 บาท พร้อมดอกเบี้ย และจำนวนเงิน 8,563,993.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามลำดับ เดิมจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6576 ตำบลบางกอบัว (บางกะเจ้า) อำเภอพระประแดง (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีนายดำรง ยังให้ผล บิดาจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม วันที่ 30 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 และนายดำรงโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 3,800,000 บาท หลังจากนั้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2540 จำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 ในราคา 1,500,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ทำนิติกรรมรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรนายดำรง นายดำรงเป็นสามีของจำเลยที่ 3 นางเพ็ญพร ยังให้ผล เป็นน้องสะใภ้ของนายดำรง บุคคลดังกล่าวย่อมเป็นญาติใกล้ชิดกัน นางเพ็ญพรยังมาเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2 ว่า นางเพ็ญพรเป็นลูกหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 2 จำนวนเงิน 1,500,000 บาท แต่นางเพ็ญพรเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ยืมของนายดำรงและจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 1,500,000 บาท นายดำรงและจำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่นางเพ็ญพรโดยโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อมิให้เสียค่าธรรมเนียมและภาษี 2 ครั้ง เพื่อการชำระหนี้ที่นางเพ็ญพรมีต่อจำเลยที่ 2 และที่นายดำรงและจำเลยที่ 1 มีต่อนางเพ็ญพรทั้งหมดไปในคราวเดียวกัน ส่วนการที่จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ก็เพราะจำเลยที่ 3 เห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่เก่าแก่และรู้สึกเสียดายจึงติดต่อนางเพ็ญพรให้เจรจากับจำเลยที่ 2 ขอซื้อที่ดินพิพาท พฤติการณ์ในการซื้อขายที่ดินพิพาทส่อไปในทางสมรู้กันเพราะจำเลยที่ 3 อ้างว่าจำเลยที่ 1 และนายดำรงเป็นหนี้นางเพ็ญพร นางเพ็ญพรเป็นหนี้จำเลยที่ 2 มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททอดเดียวจากจำเลยที่ 1 และนายดำรงให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการหักหนี้ทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 และนายดำรงมีต่อนางเพ็ญพร และที่นางเพ็ญพรเป็นหนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งไม่สมเหตุผลเนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานใดที่น่าเชื่อถือได้ว่า จำเลยที่ 1 และนายดำรงซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาทเป็นหนี้นางเพ็ญพร อีกทั้งจำเลยที่ 3 เป็นภรรยานายดำรงแต่กลับมีเงินซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 นอกจากนั้นจำเลยที่ 3 ไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่ามีการชำระเงินค่าซื้อที่ดินพิพาท ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามีการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 กันจริง การรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ชอบที่จะขอให้เพิกถอนได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share