คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่คู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่154/2527ของศาลชั้นต้นดังนั้นโจทก์สามารถพิสูจน์ได้ว่าที่ดินส่วนของบ. ในโฉนดเลขที่2505ดังกล่าวเป็นมรดกของบ. จำเลยมิได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา10ปีคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145(2) ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของบ. โดยบ. มีบุตร4คนคือโจทก์ทั้งสองจำเลยและจ.แต่จ.ถึงแก่ความตายก่อนบ. โดยจ. มีบุตร3คนบ.ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมจำเลยจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของบ. เพียงหนึ่งในสี่สวนเท่านั้นเมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนของบ.ทั้งหมดโดยการครอบครองทั้งๆที่จำเลยมิได้ครองครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาถึง10ปีก่อนจำเลยยื่นคำร้องขอเช่นนั้นแล้วจำเลยนำพยานหลักฐานมาไต่สวนในคดีดังกล่าวจนศาลชั้นต้นหลงเชื่อและมีคำสั่งว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนของบ. ในโฉนดที่ดินเลขที่2505โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382แล้วจำเลยนำคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงถือได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากว่าส่วนที่ตนจะได้โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่นจำเลยจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลยตามมาตรา1605วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ที่1เบิกความเป็นพยานในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่154/2527ของศาลชั้นต้นยืนยันว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบ. โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า10ปีโดยเจตนาให้หลานและทายาทอื่นของบ. ไม่ได้รับมรดกด้วยโจทก์ที่1ย่อมต้องได้รับผลในลักษณะคดีในฐานพยานเท็จไม่ได้รับมรดกที่ดินในกรณีพิพาทนี้ด้วยเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามไม่ให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความไม่เมื่อโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ทั้งสองอุทธรณ์จำเลยก็ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความตั้งเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ทั้งไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา249วรรคหนึ่งเช่นกัน แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1639บัญญัติให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกแทนที่ทายาทนั้นได้ในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้นก็ตามแต่มาตรา1607บัญญัติว่าการถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัวผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้วโดยมิได้บัญญัติว่าผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกสืบมรดกต่อไปได้เฉพาะในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้นดังนั้นแม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกของบ. เจ้ามรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้และต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของบ. เลยอันเป็นการถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตายก็ตามบุตรของจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของจำเลยทายาทผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายบุญช่วยย่อมสืบมรดกของบ.ต่อไปได้เหมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วตามบทบัญญัติแห่งมาตรา1607และบทบัญญัติมาตรา1607หาได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา1639ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสอง จำเลย นายจวม รุจิรัตน์เป็นบุตรของนายบุญช่วยหรือช่วย รุจิรัตน์หรืออรุจิรัก นายจวมซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนนายบุญช่วยมีบุตร 3 คน โจทก์ที่ 1จำเลย และนายบุญช่วยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 2505 ตำบลบ้านโพ อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเนื้อที่ 28 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา โดยโจทก์ที่ 1 และจำเลยถือกรรมสิทธิ์ คนละ 7 ไร่ 60 ตารางวา นายบุญช่วยถือกรรมสิทธิ์14 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา นายบุญช่วยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2519 ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2527 จำเลยนำความเท็จไปยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินของนายบุญช่วยที่มีอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 2505 ดังกล่าวโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ศาลชั้นต้นหลงเชื่อตามที่จำเลยร้องขอและมีคำสั่งให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของนายบุญช่วยโดยการครอบครองตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 154/2527 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่26 มิถุนายน 2527 จำเลยนำคำสั่งของศาลไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนดังกล่าวเป็นชื่อของจำเลย ความจริงที่ดินส่วนดังกล่าวเป็นมรดกของนายบุญช่วยโจทก์ที่ 1 และจำเลยร่วมกันครอบครองที่ดินดังกล่าวแทนทายาทของนายบุญช่วยคนอื่นๆการกระทำของจำเลยเป็นการปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลย ที่ดินส่วนของนายบุญช่วยจึงต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน ให้แก่โจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 2 และทายาทของนายจวม โดยได้ส่วนแบ่งคนละ 4 ไร่3 งาน 6.6 ตารางวา ขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 154/2527 และให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของนายบุญช่วยที่มีอยู่ในโฉนดเลขที่ 2505 ตำบลบ้านโพอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนเพิกถอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและพิพากษาว่าจำเลยถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของนายบุญช่วยให้โจทก์ทั้งสองและทายาทของนายจวมได้รับมรดกที่ดินส่วนของนายบุญช่วยคนละ 4 ไร่ 3 งาน 6.6 ตารางวา
จำเลยให้การว่า นายเจิม ไวภารา ตาของโจทก์ที่ 1 และจำเลยได้จดทะเบียนการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 2505 ตำบลบ้านโพอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้แก่โจทก์ที่ 1และจำเลยคนละ 7 ไร่ 60 ตารางวา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2478ส่วนที่เหลืออีก 14 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา (ที่ถูกน่าจะเป็น14 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา ) เป็นของนายบุญช่วย ต่อมาจำเลยแต่งงาน นายบุญช่วยยกที่ดินส่วนของนายบุญช่วยให้จำเลยจำเลยครอบครองทำนาในที่ดินดังกล่าวตลอดมาจนกระทั่งนายบุญช่วยถึงแก่ความตายโดยไม่ได้นำไปจดทะเบียนการให้ จำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นในปี 2527 ให้มีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของนายบุญช่วยโดยการครอบครอง โจทก์ที่ 1 เบิกความเป็นพยานยืนยันการครอบครองของจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่ดินส่วนของนายบุญช่วยเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่นายบุญช่วยถึงแก่ความตาย ฟ้องของโจทก์ทั้งสองขาดอายุความมรดกแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของนายบุญช่วยหรือช่วย รุจิรัตน์หรือรุจิรัก ในโฉนดเลขที่ 2505 ตำบลบ้านโพ อำเภอบางประอินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของจำเลยให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ดังกล่าว หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยให้กำจัดจำเลยมิให้รับมรดกของนายบุญช่วย และให้โจทก์ทั้งสองได้ที่ดินมรดกส่วนของนายบุญช่วยที่มีอยู่ในโฉนดเลขที่ 2505 คนละหนึ่งในสี่ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ ทั้ง สอง และ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์ทั้งสองจำเลย และนายจวม รุจิรัตน์ เป็นบุตรของนายบุญช่วยหรือช่วย รุจิรัตน์หรือรุจิรัก นายจวมซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนนายบุญช่วยมีบุตร 3 คน โจทก์ที่ 1 จำเลยและนายบุญช่วยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2505 ตำบลบ้านโพอำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ 28 ไร่2 งาน 40 ตารางวา ตามใบแทนโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ร่วมกันโดยนายบุญช่วยถือกรรมสิทธิ์ 14 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวาโจทก์ที่ 1 และจำเลยถือกรรมสิทธิ์คนละ 7 ไร่ 60 ตารางวา ทั้งนี้โดยนายเจิม ไวภารา ตาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยยกที่ดินส่วนของนายบุญช่วยให้นายบุญช่วยในปี 2484 และยกที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 1 และจำเลยให้โจทก์ที่ 1 และจำเลยในปี 2487 ขณะโจทก์ที่ 1 และจำเลยอายุ 7 ปี และ 13 ปี ตามลำดับ นายบุญช่วยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2519 ตามมรณบัตรเอกสารหมาย จ.2 โดยมิได้ทำพินัยกรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 154/2527 ของศาลชั้นต้นว่าที่ดินเฉพาะส่วนของนายบุญช่วยในโฉนดเลขที่ 2505 ตำบลบ้านโพ อำเภอบางปะอินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ตามคำร้องขอของจำเลย จำเลยได้นำคำสั่งศาลดังกล่าวไปจดทะเบียนลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของนายบุญช่วยในโฉนดที่ดินเลขที่ 2505 แล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกตามฎีกาของจำเลยว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 มิใช่เป็นมรดกของนายบุญช่วยหรือไม่ ในปัญหานี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายบุญช่วยบิดาโจทก์ทั้งสองและจำเลยมิได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยในระหว่างที่นายบุญช่วยยังมีชีวิตอยู่ และฟังได้ว่าจำเลยมิได้ครอบครองที่ดินส่วนของนายบุญช่วยในโฉนดเลขที่ 2505 ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของก่อนนายบุญช่วยถึงแก่ความตาย ที่ดินส่วนของนายบุญช่วยในโฉนดเลขที่ 2505 จึงเป็นมรดกของนายบุญช่วยโดยจำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของนายบุญช่วยดังกล่าวโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่บุคคลภายนอก คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 154/2527 ว่าที่ดินส่วนของนายบุญช่วยในโฉนดเลขที่ 2505 ตำบลบ้านโพ อำเภอบางปะอินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ย่อมผูกพันโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่คู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 154/2527 ของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองจึงเป็นบุคคลภายนอก ดังนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสองสามารถพิสูจน์ได้ว่าที่ดินส่วนของนายบุญช่วยในโฉนดเลขที่ 2505 ดังกล่าว ดังกล่าวเป็นมรดกของนายบุญช่วย จำเลยมิได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 (2)
ที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยนำคำสั่งของศาลชั้นต้นไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนของนายบุญช่วยในโฉนดเลขที่ 2505 ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ไม่เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกอันจะเป็นเหตุให้จำเลยถูกกำจัดมิให้ได้มรดกนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวข้างต้นแล้วว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา เป็นมรดกของนายบุญช่วย โดยนายบุญช่วยมีบุตร 4 คน คือโจทก์ทั้งสองจำเลย และนายจวม แต่นายจวมถึงแก่ความตายก่อนนายช่วยโดยนายช่วยโดยนายจวมมีบุตร 3 คน นายบุญช่วย ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรม จำเลยจึงมีสิทธิได้ส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของนายบุญช่วยเพียงหนึ่งในสี่ส่วน คือ 3 ไร่เศษเท่านั้น เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนของนายบุญช่วยทั้งหมดโดยการครอบครอง ทั้ง ๆ ที่จำเลยมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาถึง 10 ปี ก่อนจำเลยยื่นคำร้องขอเช่นนั้น แล้วจำเลยนำพยานหลักฐานมาไต่สวนในคดีดังกล่าวจนศาลชั้นต้นหลงเชื่อและมีคำสั่งว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนของนายบุญช่วยในโฉนดเลขที่ 2505 โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้วจำเลยนำคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงถือได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น จำเลยจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง
ส่วนจำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 เบิกความเป็นพยานในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 154/2527 ของศาลชั้นต้น ยืนยันว่าจำเลยครอบครองที่ดินของนายบุญช่วยโดยสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี โดยเจตนาให้หลานและทายาทอื่นของนายบุญช่วยไม่ได้มารับมรดกด้วย โจทก์ที่ 1 ย่อมต้องได้รับผลในลักษณะคดีในฐานพยานเท็จไม่ได้รับมรดกที่ดินในกรณีพิพาทนี้ด้วยนั้น เห็นว่า เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามไม่ให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยและที่จำเลยฎีกาว่า คดีของโจทก์ทั้งสองขาดอายุความแล้วนั้นปรากฎว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ จำเลยก็ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความตั้งเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความจึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ทั้งไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งเช่นกันศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลและรู้อยู่ว่าทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่น จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกแต่จำเลยมีบุตร บุตรของจำเลยจึงสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1607 เป็นการไม่ชอบเพราะจำเลยถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตาย มิใช่ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย จำเลยรวมทั้งผู้สืบสันดานของจำเลยจึงไม่อาจสืบมรดกของของนายบุญช่วยได้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1607 ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1639 จะนำบทบัญญัติมาตรา 1607 มาใช้ไม่ได้ที่ดินมรดกส่วนของนายบุญช่วยในโฉนดเลขที่ 2505 จึงต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน ตามฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นว่าแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639บัญญัติให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกแทนที่ทายาทนั้นได้ในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้นก็ตามแต่มาตรา 1607 บัญญัติว่า “การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัวผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว” โดยมิได้บัญญัติว่า ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกสืบมรดกต่อไปได้เฉพาะในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกของนายบุญช่วย เจ้ามรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้และต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตายก็ตาม บุตรของจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของจำเลยทายาทผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายบุญช่วยย่อมสืบมรดกของนายบุญช่วยย่อมสืบมรดกของนายบุญช่วยต่อไปได้เหมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1607 และบทบัญญัติมาตรา 1607 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 1639 ตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองได้ที่ดินมรดกส่วนของนายบุญช่วยที่มีอยู่ในโฉนดเลขที่ 2505 คนละหนึ่งในสี่ส่วนนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share