แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ได้รับมอบหมายให้เปลี่ยนอะไหล่คอนโซลหน้าปัทม์รถยนต์ที่ลูกค้าซื้อจากบริษัทจำเลยที่ 2 โจทก์จึงเบิกอะไหล่คอนโซลหน้าปัทม์ทั้งชุดซึ่งมีกล่องเก๊ะรวมอยู่ด้วยโจทก์ถอดคอนโซลหน้าปัทม์ที่ชำรุดออกจากรถยนต์ลูกค้าแล้วใส่คอนโซลหน้าปัทม์อันใหม่แทน แต่ไม่ได้เปลี่ยนกล่องเก๊ะอันใหม่ให้ โดยไม่ได้แจ้งให้หัวหน้างานทราบกล่องเก๊ะอันใหม่ที่เบิกมาแล้วไม่ได้ใช้ โจทก์มิได้นำไปคืนศูนย์อะไหล่เพราะเป็นเวลาเลิกงานประกอบกับโจทก์หลงลืมด้วย พฤติการณ์ของโจทก์จึงเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง แม้จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างแต่ก็เป็นกรณีที่ไม่ร้ายแรงทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำการใดหรือมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นเจตนาที่จะเอากล่องเก๊ะไปเป็นของตน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายเมื่อจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 และมาตรา 67
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่สาทร จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 2พฤษภาคม 2523 จำเลยที่ 2 จ้างโจทก์เข้าทำงานที่ศูนย์อะไหล่และศูนย์บริการลุมพินีตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานช่างประกอบ ได้อัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 8,580 บาทวันที่ 14 กันยายน 2543 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรงตามคำสั่งเลิกจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 โจทก์ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่สาทร จำเลยที่ 1 มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 3/2543ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 ว่าโจทก์ทุจริต จำเลยที่ 2 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ ปรากฏตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของจำเลยที่ 1 เหตุที่โจทก์ไม่ได้เปลี่ยนกล่องเก๊ะคอนโซลเพราะยังทำไม่เสร็จเป็นเวลาใกล้เลิกงาน ลูกค้ามีความจำเป็นต้องใช้รถ ที่โจทก์ไม่ได้นำกล่องเก๊ะคอนโซลไปคืนเพราะหลงลืม โจทก์ไม่ได้ทุจริตไม่ได้กระทำความผิด จำเลยที่ 2 ไม่ได้เสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชย 85,800 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 4,290 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน9 วัน เป็นเงิน 2,574 บาท รวมเป็นเงิน 92,664 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์เบิกอะไหล่คอนโซลพร้อมกล่องเก๊ะทั้งชุดจากศูนย์อะไหล่ของจำเลยที่ 2 เพื่อเปลี่ยนให้รถยนต์ของลูกค้า แต่โจทก์ไม่ได้เปลี่ยนกล่องเก๊ะคอนโซลให้ลูกค้าโดยเก็บไว้เองไม่ได้คืนให้ศูนย์อะไหล่ พอถูกถามจึงอ้างว่าลืม โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้อง คำสั่งของจำเลยที่ 1ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยที่ 2 โดยเจตนา โจทก์เบิกอะไหล่คอนโซลหน้าปัทม์รถยนต์ทั้งชุดจากศูนย์อะไหล่เพื่อเปลี่ยนให้ลูกค้า แต่โจทก์มิได้เปลี่ยนกล่องเก๊ะคอนโซลอันใหม่ และมิได้ส่งอะไหล่คืนโดยยึดถือไว้โดยเจตนาทุจริตจนเจ้าหน้าที่ตรวจพบ การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายขาดความเชื่อถือจากลูกค้า ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถส่งคอนโซลหน้าปัทม์ของเก่าทั้งชุดไปเรียกเก็บเงินได้คิดเป็นเงิน 50,355 บาท ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหาย 50,355 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์ชำระเสร็จให้แก่จำเลยที่ 2
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดที่โจทก์มิได้คืนกล่องเก๊ะคอนโซลให้เพราะหลงลืม เมื่อถูกสอบถาม โจทก์ก็ได้คืนให้ไปเรียบร้อยแล้ว และจำเลยที่ 2 ก็ได้ส่งชิ้นส่วนอะไหล่ไปเรียกเก็บเงินแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ได้เสียหายโจทก์ไม่ต้องใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้แก้ไขคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 3/2543 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 ของจำเลยที่ 1 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีโดยให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน85,800 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 2,574 บาท รวมเป็นเงิน 88,374 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าชดเชยและดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี นับแต่วันที่14 กันยายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาได้ความว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2543 โจทก์ได้รับมอบหมายให้เปลี่ยนอะไหล่คอนโซลหน้าปัทม์รถยนต์ที่ลูกค้าซื้อจากจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาประกันที่จำเลยที่ 2 ต้องเปลี่ยนอะไหล่ที่เสียหายให้ โจทก์ได้เบิกอะไหล่คอนโซลหน้าปัทม์ทั้งชุดซึ่งมีกล่องเก๊ะรวมอยู่ด้วย โจทก์ได้ถอดคอนโซลหน้าปัทม์ที่ชำรุดออกจากรถยนต์ดังกล่าวแล้วใส่คอนโซลหน้าปัทม์อันใหม่แทน แต่ไม่ได้เปลี่ยนกล่องเก๊ะคอนโซลอันใหม่ให้แก่รถยนต์ของลูกค้าโดยไม่ได้แจ้งให้หัวหน้างานทราบแล้วส่งมอบรถให้ลูกค้ารับคืนไปกล่องเก๊ะคอนโซลอันใหม่ที่เบิกมาโดยไม่ได้ใช้ โจทก์ไม่ได้นำไปคืนให้ศูนย์อะไหล่ ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2543 พนักงานซึ่งมีหน้าที่เก็บรวบรวมอะไหล่เก่าไปเรียกเก็บเงินจากศูนย์บริการบริษัทเดมเลอร์ไคลเลอร์ประเทศไทย จำกัด ไม่พบกล่องเก๊ะเก่าที่ถอดออกจากรถของลูกค้า จึงสอบถามโจทก์ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้เปลี่ยนกล่องเก๊ะคอนโซลอันใหม่ให้ลูกค้าและไม่ได้นำกล่องเก๊ะคอนโซลอันใหม่ที่ไม่ได้ใช้ไปคืนให้ศูนย์อะไหล่โจทก์อ้างเหตุผลว่า โจทก์ไม่ได้เปลี่ยนกล่องเก๊ะคอนโซลเนื่องจากไม่สามารถถอดแม่กุญแจกล่องเก๊ะคอนโซลอันเก่าเพื่อใส่กล่องเก๊ะคอนโซลอันใหม่ได้ ประกอบกับเป็นเวลาเลิกงานจึงไม่ได้เปลี่ยนกล่องเก๊ะคอนโซลให้ และที่ไม่ได้นำกล่องเก๊ะคอนโซลไปคืนศูนย์อะไหล่เพราะลืม ดังนี้พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างที่ไม่นำกล่องเก๊ะคอนโซลไปคืนศูนย์อะไหล่ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างในกรณีที่ไม่ร้ายแรง ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาข้างต้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำการใดหรือมีพฤติการณ์ใดที่ส่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาที่จะเอากล่องเก๊ะคอนโซลของจำเลยที่ 2 ไปเป็นของตน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อต่อมาว่า จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดกรณีหนึ่งกรณีใดดังที่จำเลยที่ 2 อ้างอันเป็นเหตุยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างตามมาตรา 118 และต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 ตามฟ้องแย้งหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้ทำความเสียหายให้แก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ที่ยกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเสียหายกรณีที่อาจถูกลูกค้าฟ้องเรียกค่าเสียหายได้และกรณีที่ไม่อาจเรียกเก็บเงินค่าอะไหล่จากศูนย์บริการได้ โจทก์จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการคาดคะเนของจำเลยที่ 2 ถึงความเสียหายที่ไม่ได้เกิดขึ้น ทั้งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน