คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4554/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาและยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2531 ศาลชั้นต้นมิได้ทำการไต่สวนคำร้องทั้งสองฉบับของโจทก์ในวันดังกล่าว แต่มีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องทั้งสองฉบับให้แก่จำเลยทั้งสี่ และนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 18ตุลาคม 2531 การที่ศาลชั้นต้นให้นัดไต่สวนคำร้อง ของ โจทก์หลังวันยื่นคำร้องถึง 8 วัน จึงมิใช่เป็นการพิจารณาเป็นการด่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 ถือว่าศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องโจทก์อย่างวิธีธรรมดา ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่เป็นที่สุดโจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 247 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่จดแจ้งการโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1และออกใบหุ้นพร้อมกับใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ แต่ตามคำร้องที่โจทก์ขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษากลับเป็นเรื่องโจทก์ต้องการใช้สิทธิเข้าไปดูแลครอบงำการจัดการและเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อจะได้ดำเนินการบริษัทจำเลยที่ 1 ต่อไปชั่วคราว ซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากประเด็นแห่งคำฟ้อง โจทก์ไม่อาจร้องขอให้คุ้มครองดังกล่าวได้ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254(2) มาใช้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 และในวันเดียวกันกรรมการชุดใหม่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์เป็นผู้ร่วมประชุมแต่งตั้งได้ยื่นคำร้องขอถอนทนายจำเลยที่ 1 ที่กรรมการชุดเดิมได้ตั้งไว้ หลังจากนั้นโจทก์กับทนายคนใหม่ของจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เช่นนี้ เป็นที่เห็นได้ว่า กระทำไปโดยไม่สุจริตและกระทำเพื่อเอาเปรียบในเชิงคดีแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งจำเลยดังกล่าวต่างให้การต่อสู้อยู่ว่า หุ้นตามฟ้องมิใช่ของโจทก์ทั้งยังคัดค้านคำร้องขอถอนฟ้องด้วย ย่อมทำให้จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ไม่มีโอกาสต่อสู้คดีกับโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แล้วพิพากษาคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่จดแจ้งการโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 และออกใบหุ้นจำนวน 3,187,479 หุ้นกับชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) ประกอบด้วยมาตรา 266 เพื่อโจทก์จะได้ใช้สิทธิตามกฎหมายในฐานะผู้ถือหุ้นต่อไป
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่ดำเนินการบันทึกจดทะเบียนในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 จำนวน 3,187,479 หุ้นเป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษา
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอโดยพลันให้ศาลชั้นต้นยกเลิกคำสั่งให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเสีย
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์คำสั่ง
การพิจารณายังคงดำเนินต่อมา จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้คดีปรากฏว่า โจทก์ดำเนินการเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1โดยอาศัยคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลชั้นต้นถอดถอนกรรมการชุดเก่าทั้งหมดและแต่งตั้งกรรมการใหม่จำนวน 5 คน กรรมการชุดใหม่ยื่นคำร้องในนามของจำเลยที่ 1 ถอนทนายจำเลยที่ 1 ซึ่งกรรมการชุดเดิมได้ตั้งไว้พร้อมกันนั้นโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำแถลงคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ถอนทนายความคนเดิมได้และอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จากสารบบความ
ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 โดยทนายความคนใหม่ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 1 ตกลงปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา และการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากนั้นจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม ยกเว้นการสืบพยานโจทก์ที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปจนเสร็จ แล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีตามกฎหมาย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ก่อนว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาคำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 วรรคสองหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาและยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2531 ศาลชั้นต้นก็มิได้ทำการไต่สวนคำร้องทั้งสองฉบับของโจทก์ในวันดังกล่าว แต่มีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องทั้งสองฉบับให้แก่จำเลยทั้งสี่ และนัดทำการไต่สวนคำร้องในวันที่ 18ตุลาคม 2531 การที่ศาลชั้นต้นให้นัดไต่สวนคำร้องของโจทก์หลังวันยื่นคำร้องถึง 8 วัน จึงมิใช่เป็นการพิจารณาเป็นการด่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 ถือว่าศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องโจทก์อย่างวิธีธรรมดา ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่เป็นที่สุดโจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 247
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า กรณีมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้บังคับหรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่จดแจ้งการโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1จำนวน 3,187,479 หุ้น และออกใบหุ้นตามจำนวนดังกล่าวพร้อมกับใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ แต่ตามคำร้องที่โจทก์ขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษากลับเป็นเรื่องโจทก์ต้องการใช้สิทธิเข้าไปดูแลครอบงำการจัดการและเรียกประชุมผู้ถือหุ้นจะได้ดำเนินกิจการบริษัทจำเลยที่ 1 ต่อไปชั่วคราว ซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากประเด็นแห่งคำฟ้อง โจทก์ไม่อาจร้องขอให้คุ้มครองดังกล่าวได้กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) มาใช้ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้คุ้มครองไว้ตามคำขอของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แล้วพิพากษาคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 และในวันเดียวกันกรรมการชุดใหม่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์เป็นผู้ร่วมประชุมแต่งตั้งได้ยื่นคำร้องขอถอนทนายจำเลยที่ 1 ที่กรรมการชุดเดิมได้ตั้งไว้ หลังจากนั้นโจทก์กับทนายคนใหม่ของจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เช่นนี้ เป็นที่เห็นได้ว่า กระทำไปโดยไม่สุจริตและกระทำเพื่อเอาเปรียบในเชิงคดีแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งจำเลยดังกล่าวต่างให้การต่อสู้อยู่ว่า หุ้นตามฟ้องมิใช่ของโจทก์ ทั้งยังคัดค้านคำร้องขอถอนฟ้องด้วย ย่อมทำให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ไม่มีโอกาสต่อสู้คดีกับโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แล้วพิพากษาคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายืน

Share