คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3464/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมิใช่แบบของนิติกรรม ทั้งกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าหลักฐานนั้นจะต้องมีในขณะที่ให้กู้ยืม หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือจึงอาจมีก่อนหรือหลังการกู้ยืมเงินก็ได้
จำเลยที่ 1 จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ เพื่อเป็นประกัน การชำระหนี้เงินกู้ซึ่งจำเลยที่ 1 กู้จากโจทก์ เมื่อหนังสือสัญญาจำนอง ระบุให้ถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้เงินด้วยและจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินที่กู้จากโจทก์ ดังนี้ หนังสือสัญญาจำนองนั้นย่อมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ กู้เงินโจทก์จำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท ในการกู้ยืมเงินจำเลยที่ ๑ ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันและตกลงให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย และจำเลยที่ ๑ ได้มอบเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักพลับพลาไชยสั่งจ่ายเงิน ๖๐๐,๐๐๐ บาท มีจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ ๓เป็นผู้สลักหลังให้กับโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ๑ ฉบับ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามกำหนดนัด โจทก์นำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้เหตุผลว่าโปรดประทับตราผู้สั่งจ่ายด้วย โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานการกู้เงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดง จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีและไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การ เฉพาะจำเลยที่ ๓ ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันชดใช้เงินให้โจทก์ ๖๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ครบ ให้เอาที่ดินที่จำนองขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์ สำหรับจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ซึ่งจำเลยที่ ๑ กู้จากโจทก์จำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาทการกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ เพียงแต่บัญญัติว่าถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอยางหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมิใช่แบบของนิติกรรม ทั้งกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าหลักฐานนั้นจะต้องมีในขณะที่ให้กู้ยืมเงิน ดังนั้น หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือจึงอาจมีก่อนหรือหลังการกู้ยืมเงินก็ได้ เมื่อหนังสือสัญญาจำนองที่จำเลยที่ ๑ ทำกับโจทก์ระบุให้ถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้เงินและจำเลยที่ ๑ เองก็มิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินที่กู้จากโจทก์ หนังสือสัญญาจำนองนั้นย่อมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือไม่มีเหตุอย่างใดที่จะห้ามมิให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดี
พิพากษายืน.

Share