คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13262/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปส่ง บ. ที่บ้านแล้วย้อนกลับไปยังกระท่อมที่เกิดเหตุอีกครั้งหนึ่ง และร่วมกับจำเลยที่ 1 ยกร่างของผู้ตายขึ้นรถกระบะคันเกิดเหตุ ทั้งขณะที่จำเลยที่ 1 นำฟางมาคลุมร่างของผู้ตาย และนำยางในรถยนต์มาวางทับ แล้วตระเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นรถกระบะนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุและร่างของผู้ตายเพื่ออำพรางคดี จากนั้นจำเลยที่ 3 ก็นั่งไปด้วยในรถกระบะที่จำเลยที่ 1 ขับ โดยมีจำเลยที่ 2 ขับรถอีกคันหนึ่งแล่นติดตามไป แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุพร้อมร่างของผู้ตายซึ่งอยู่ในรถดังกล่าว การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว เป็นการกระทำโดยมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ใช้ความระมัดระวังตรวจดูให้ดีก่อนว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 และที่ 3 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น
ความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ตาม ป.อ. มาตรา 199 นั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานนี้ ผู้กระทำจะต้องซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพซึ่งหมายความถึงร่างกายของคนที่ตายแล้ว แต่เมื่อขณะที่ผู้ตายถูกเผา ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ร่างกายของผู้ตายในขณะนั้นจึงไม่ใช่ศพ ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพ อันเป็นองค์ประกอบความผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 199, 217, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืน กระสุนปืนและเศษตะกั่ว 2 ชิ้น ของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 217 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ฐานร่วมกันซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย กับฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานฆ่าผู้อื่น คงจำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 3 เดือน ฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น คงจำคุก 1 ปี รวมจำคุก 11 ปี 9 เดือน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ฐานร่วมกันซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพ เพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี ริบอาวุธปืน กระสุนปืน และเศษตะกั่ว 2 ชิ้น ของกลาง สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า นายวิโรจน์ ผู้ตายเป็นสามีของนางพนมพร ผู้เสียหาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน ผู้เสียหายเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นน้องเขยของจำเลยที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 ก่อนเกิดเหตุ ผู้เสียหายกับผู้ตายทำงานอยู่ที่จังหวัดสระบุรี แต่ผู้เสียหายกับผู้ตายทะเลาะกัน ผู้เสียหายและบุตร 2 คน จึงไปอาศัยอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 1 ต่อมาผู้ตายไปอาละวาดถามหาผู้เสียหายกับบุตรที่งานศพนางนุกุล แม่ยายของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงพาผู้เสียหายกับบุตรไปหลบที่กระท่อมของนางคำผม น้องสาวของจำเลยที่ 1 ที่เกิดเหตุ จากนั้นวันที่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ผู้ตายไปถามหาผู้เสียหายกับบุตรที่บ้านของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงพาผู้เสียหายกับบุตรไปหลบซ่อนในป่าอ้อย เวลาประมาณ 14 นาฬิกา นางคำผมนำอาหารไปส่งผู้เสียหาย และชวนจำเลยที่ 1 ออกไปสังสรรค์วันขึ้นปีใหม่กับญาติที่กระท่อมที่เกิดเหตุซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมอยู่ด้วย เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ผู้ตายขับรถกระบะ หมายเลขทะเบียน บม 2515 สระบุรี ของผู้เสียหายคันเกิดเหตุ มายังกระท่อมที่เกิดเหตุ ผู้ตายเมาสุราและถามหาผู้เสียหายกับบุตร แล้วโวยวายด่าทอวงศ์ตระกูลของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงใช้อาวุธปืนยาวของกลางยิงที่ศีรษะผู้ตาย 1 นัด และจำเลยที่ 1 นำร่างของผู้ตายขึ้นรถกระบะคันเกิดเหตุ แล้วนำรถกระบะและร่างของผู้ตายไปเผาที่อำเภอผาขาว จังหวัดเลย ผู้ตายถึงแก่ความตาย ส่วนรถกระบะของผู้เสียหายถูกเผาได้รับความเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ฐานร่วมกันซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเช่นกัน
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานที่พบเห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในขณะที่จำเลยที่ 1 จุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุขณะที่ผู้ตายอยู่ในรถดังกล่าวดังทำนองที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาก็ตาม แต่โจทก์มีนางบุญถม ซึ่งเป็นน้องสาวของจำเลยที่ 1 เป็นภริยาของจำเลยที่ 2 และเป็นมารดาของจำเลยที่ 3 เป็นพยานเบิกความว่า วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ขณะพยานนอนหลับอยู่ในกระท่อมที่เกิดเหตุ หลานสาว 2 คน วิ่งร้องไห้มาบอกว่า ให้กลับบ้าน พยานลงจากกระท่อมไปดูเหตุการณ์ พบผู้ตายนอนตะแคงที่ตอไม้ พยานจึงกลับไปที่บ้านของนางคำผม และพาหลานเข้านอน ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับมาที่บ้าน จำเลยที่ 2 บอกพยานว่า พาจำเลยที่ 3 ไปหาจำเลยที่ 1 และไปรับจำเลยที่ 1 หลังจากเอาศพผู้ตายไปทิ้งแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การดังกล่าวแล้ว นางบุญถมให้การในชั้นสอบสวนว่า วันเกิดเหตุขณะพยานกำลังนอนหลับที่กระท่อมที่เกิดเหตุ หลานของพยานร้องไห้วิ่งเข้ามาปลุกพยาน พยานตื่นขึ้นและเห็นผู้ตายนอนตะแคงแน่นิ่งอยู่บริเวณข้างวงสุรา โดยศีรษะหนุนอยู่ระหว่างตอไม้กับก้อนหิน ทั้งเห็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับนายบุญโฮม พี่ชายอีกคนหนึ่งของพยานมายืนดูอยู่ที่ท้ายรถ แล้วตะโกนบอกพยานว่า ผู้ตายเสียชีวิตแล้ว พยานตกใจกลัวและบอกให้จำเลยที่ 2 พาพยานกับหลานกลับบ้าน หลังจากกลับถึงบ้านพักที่เวลาประมาณ 17 นาฬิกา พยานอาบน้ำและดูแลหลาน ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถออกจากบ้านไม่ทราบว่าไปที่ใด และกลับมาอีกครั้งในเวลาประมาณ 22 นาฬิกา พยานสอบถามจำเลยที่ 2 ว่า ไปไหนมา จำเลยที่ 2 ตอบว่า พาจำเลยที่ 3 กลับไปหาจำเลยที่ 1 ยังที่เกิดเหตุ และขับรถไปรับจำเลยที่ 1 กลับบ้านหลังจากนำศพไปทิ้ง โดยนางบุญถมให้การไว้ในชั้นสอบสวนหลังเกิดเหตุไม่นานนัก ซึ่งเป็นเวลาใกล้ชิดกับเหตุที่เกิดขึ้นมากกว่าที่มาเบิกความในชั้นพิจารณา เชื่อว่ายังจดจำรายละเอียดต่าง ๆ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุได้เป็นอย่างดี และไม่ปรากฏว่านางบุญถมให้การไว้โดยไม่สมัครใจแต่อย่างใด จึงรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของนางบุญถมประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ และคำให้การในชั้นสอบสวนของนางบุญถมดังกล่าวยังสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแล้ว จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะที่ผู้ตายขับมาแล่นถอยมายังบริเวณที่ผู้ตายนอนอยู่ จากนั้นจำเลยที่ 1 ขอร้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ช่วยจัดการร่างของผู้ตายโดยช่วยกันยกเสื่อที่รองร่างของผู้ตายขึ้นรถกระบะดังกล่าว โดยวางร่างของผู้ตายไว้ที่เบาะและหันศีรษะไปด้านคนขับ แล้วจำเลยที่ 1 นำเสื่อและยางในรถยนต์โยนไว้ที่กระบะหลังรถ แล้วนำรถกระบะไปจอดบริเวณกองฟางในบริเวณที่เกิดเหตุ นำฟางมาคุลมร่างของผู้ตาย นำยางในรถยนต์ตัดเป็น 2 ท่อน มาวางทับ แล้วใช้เสื้อพลาสติกวางทับอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นนำน้ำมันดีเซล 2 แกลลอน แกลลอนละ 5 ลิตร ที่อยู่ในที่เกิดเหตุขึ้นรถกระบะคันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะออกไปโดยขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปเป็นเพื่อนโดยจำเลยที่ 3 นั่งเบาะหน้าข้างจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ขับรถของตนตามไปจนไปถึงอำเภอผาขาว จังหวัดเลย บริเวณดังกล่าวเป็นที่เปลี่ยวและเป็นซอยแยก จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันเกิดเหตุแล่นเข้าไปแล้วรถติดหล่มเคลื่อนที่ไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงจอดรถกระบะไว้แล้วนำน้ำมันดีเซลที่เตรียมมาเทราดที่ร่างของผู้ตายและกระบะหลังรถ จากนั้นจุดไฟเผา เมื่อเห็นว่าไฟลุกติดแล้ว จำเลยทั้งสามจึงพากันกลับไปยังกระท่อมที่เกิดเหตุโดยจำเลยที่ 3 เป็นคนขับรถ จำเลยที่ 1 นั่งข้างคนขับ ส่วนจำเลยที่ 2 นั่งเบาะหลัง แล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 แยกย้ายไป ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การไว้หลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน อันเป็นเวลาใกล้ชิดกับเหตุที่เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 คงยังไม่ทันคิดช่วยเหลือหรือปรักปรำจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังให้การไว้ต่อหน้าทนายความซึ่งเข้าร่วมรับฟังการสอบปากคำจำเลยที่ 1 ด้วย เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ให้การไว้ด้วยความสมัครใจ แม้บันทึกคำให้การดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นแล้ว น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ และแม้คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ยิงผู้ตาย และขณะที่มีการเผาร่างของผู้ตาย จำเลยที่ 1 อยู่กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย จึงไม่ได้เป็นการปัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่เพียงสองคนเท่านั้น แต่เป็นการให้การถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ได้ประสบมายิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยทำกริยาท่าทางที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นำร่างของผู้ตายขึ้นรถกระบะคันเกิดเหตุ แล้วจำเลยที่ 1 นำฟางมาคลุมร่างของผู้ตาย และนำน้ำมันเชื้อเพลิงมาตระเตรียมไว้ให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูป ตามภาพถ่ายการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่สมัครใจแต่อย่างใด จึงรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบต่อสู้ประกอบกันว่า วันเกิดเหตุหลังจากจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแล้ว จำเลยที่ 3 ขับรถไปส่งนายบุญโฮมกับญาติ จากนั้นย้อนกลับไปยังที่เกิดเหตุ แล้วขับรถไปส่งจำเลยที่ 2 กับญาติที่บ้านของนางคำผมโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ที่บ้านของนางคำผมด้วย คงมีจำเลยที่ 1 และผู้ตายอยู่ที่ที่เกิดเหตุ ต่อมาเวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ไปรับโดยไม่ระบุสถานที่ โดยให้ขับรถไปทางบ้านท่าช้าง บ้านห้วยหมาก เมื่อถึงแยกคำไฮ ให้ไปทางอำเภอผาขาว จำเลยที่ 2 ชวนจำเลยที่ 3 ไปด้วย โดยจำเลยที่ 2 เป็นคนขับรถ ระหว่างทางจำเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์บอกเส้นทางจำเลยที่ 2 อีก จำเลยที่ 2 จึงทราบว่าขับรถเลยไปแล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 กลับรถ พบจำเลยที่ 1 ยืนอยู่และส่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เห็นแสงไฟจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว จำเลยที่ 1 บอกให้จำเลยที่ 2 จอดรถรอประมาณ 15 นาที และจำเลยที่ 1 กลับมาที่รถ แล้วบอกให้จำเลยที่ 2 ขับรถไปส่งที่บ้านนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กล่าวอ้างขึ้นได้โดยง่าย ประกอบกับในชั้นสอบสวน แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ แต่หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีข้อต่อสู้ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบดีอยู่แล้ว และยังเป็นสาระสำคัญในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็น่าจะให้การต่อพนักงานสอบสวนเพื่อยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของตนเสียตั้งแต่โอกาสแรกที่อาจกระทำได้ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ กลับให้การปฏิเสธไว้เพียงลอยๆ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นพิรุธ ส่อแสดงว่าเป็นเรื่องที่ยกขึ้นกล่าวอ้างในภายหลัง และเมื่อพิจารณาถึงสภาพของสถานที่ที่มีการจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุพร้อมร่างของผู้ตาย เห็นได้ว่าบริเวณดังกล่าวอยู่ลึกจากถนนสายหลักเข้าไปพอสมควรโดยเป็นจุดที่แยกเข้าไปจากถนนสายหลักและต้องเลี้ยวเข้าถนนซอยเล็กๆ ถึง 2 ครั้ง ประกอบกับบริเวณดังกล่าวยังเป็นป่าอ้อย มีลักษณะเปลี่ยว ต้นอ้อยมีความสูงท่วมศีรษะ ทั้งขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน และไม่ปรากฏว่าบริเวณดังกล่าวมีแสงสว่างจากเสาไฟฟ้าสาธารณะ เป็นการยากที่จำเลยที่ 1 จะสามารถบอกเส้นทางให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปรับได้ถูกต้องหากจำเลยที่ 3 ไม่ได้นั่งรถไปด้วยและจำเลยที่ 2 ไม่ได้ขับรถติดตามไป ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่สมต่อเหตุผล และไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปส่งนางบุญถมที่บ้านแล้วย้อนกลับไปยังกระท่อมที่เกิดเหตุอีกครั้งหนึ่ง และร่วมกับจำเลยที่ 1 ยกร่างของผู้ตายขึ้นรถกระบะคันเกิดเหตุ ทั้งขณะที่จำเลยที่ 1 นำฟางมาคลุมร่างของผู้ตาย และนำยางในรถยนต์มาวางทับ แล้วตระเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นรถกระบะนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุและร่างของผู้ตายเพื่ออำพรางคดี จากนั้นจำเลยที่ 3 ก็นั่งไปด้วยในรถกระบะที่จำเลยที่ 1 ขับ โดยมีจำเลยที่ 2 ขับรถอีกคันหนึ่งแล่นติดตามไป แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุพร้อมร่างของผู้ตายซึ่งอยู่ในรถดังกล่าว อย่างไรก็ดีการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว เป็นการกระทำโดยมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ใช้ความระมัดระวังตรวจดูให้ดีก่อนว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 และที่ 3 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า มีเหตุแห่งการสงสัยว่าผู้ตายถึงแก่ความตายในขณะที่ถูกจำเลยที่ 1 ยิงที่อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ไม่ใช่ถึงแก่ความตายที่อำเภอผาขาว จังหวัดเลย ผู้ตายจึงไม่ได้ถึงแก่ความตายเนื่องจากการถูกเผานั้น ข้อนี้เห็นว่า ตามรายงานการตรวจศพ ระบุว่า พบเขม่าในหลอดลมของผู้ตายเล็กน้อย และสาเหตุแห่งการตายคือถูกไฟคลอก โดยนายสมบัติ แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ให้ความเห็นไว้ตามบันทึกคำให้การของพยาน ว่า จากการตรวจศพพบเขม่าในหลอดลม ดังนั้น สาเหตุการตายของผู้ตายน่าจะเกิดจากถูกไฟคลอก นายสมบัติเป็นแพทย์ผู้ตรวจชันสูตรพลิกศพผู้ตายไปตามหน้าที่ทางวิชาชีพ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ใดในคดี และไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาก่อน ไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 2 และที่ 3 ความเห็นของนายสมบัติประกอบรายงานการตรวจศพ ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง แสดงให้เห็นว่าขณะที่ผู้ตายถูกเผาที่อำเภอผาขาว จังหวัดเลย ผู้ตายยังหายใจและสูดลมหายใจเข้าไปหลอดลมได้ ผู้ตายจึงยังมีสภาพบุคคลและไม่ได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้วตั้งแต่ขณะถูกยิงที่อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา แต่ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากถูกไฟคลอกจากการถูกเผานั่นเอง ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในเรื่องนี้จึงฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199 นั้น เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานนี้ ผู้กระทำจะต้องซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพซึ่งหมายความถึงร่างกายของคนที่ตายแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่ผู้ตายถูกเผา ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ร่างกายของผู้ตายในขณะนั้นจึงไม่ใช่ศพ ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพ อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการต่อมาว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำโดยประมาทเผาร่างของผู้ตายในขณะยังมีชีวิตอยู่จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และยังร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น นับว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรง และโดยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย แม้จะรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กล่าวอ้างในฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับเหตุที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างแล้ว ยังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 และ ที่ 3 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 199 ประกอบมาตรา 83 โดยให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share