แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าเสียหายจากการที่เจ้าหนี้ต้องลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลงนั้น โดยลักษณะของความเสียหายที่เจ้าหนี้ได้รับไม่ใช่ความเสียหายที่คนปกติทั่ว ๆ ไปจะรู้ได้จึงไม่ใช่ความเสียหายที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้น แต่เป็นความเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษ แม้ลูกหนี้จะประกอบวิชาชีพในการก่อสร้างเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า แต่ในระบบการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของเจ้าหนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเท่าใด ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่อาจทราบได้ และการที่จะใช้กำลังผลิตไฟฟ้าจากแหล่งใด ณ เวลาใด เจ้าหนี้น่าจะต้องมีแผนการปฏิบัติการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของกำลังการผลิตไฟฟ้าในเวลานั้น ๆ อยู่แล้ว เมื่อพิจารณารายละเอียดของค่าเสียหายที่เจ้าหนี้กล่าวอ้างแล้วจึงเห็นว่า ค่าเสียหายดังกล่าวไม่อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็น ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทอิดรีโก เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2541
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงินค่าปรับ ค่าเสียหาย และหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน 2,395,206,947.57 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว บริษัทฟอสเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 1 โต้แย้งว่ามูลหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่ไม่มีความแน่นอนไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในมูลหนี้ละเมิดก็ยังไม่ปรากฏว่าฝ่ายใดเป็นผู้ทำละเมิด ทั้งจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ก็ยังไม่แน่นอน และเจ้าหนี้ได้หักเงินประกันผลงานไว้จำนวนมาก เมื่อระยะเวลาค้ำประกันผลงานได้พ้นไปแล้วโดยผลงานไม่เสียหาย เจ้าหนี้จึงต้องคืนเงินประกันผลงานแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ และเจ้าหนี้ได้เรียกเงินตามหนังสือค้ำประกันจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยยังไม่ปรากฏว่าลูกหนี้จะต้องรับผิดหรือไม่ บริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จ ไทยแลนด์ จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 3 และบริษัทคินซัน (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 10 โต้แย้งทำนองเดียวกันว่า มูลหนี้อันดับที่ 1 และที่ 2 ตามสัญญากำหนดค่าเสียหายที่เป็นตัวเงินไม่ว่ากรณีใดรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 20 ของราคารวมตามสัญญา และศาลอาจลดค่าปรับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิต่อเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องและยังต้องอาศัยพฤติการณ์ว่าเจ้าหนี้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยหรือไม่ จึงยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนและสูงเกินส่วน ตามสัญญากำหนดให้มีหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญาจึงถือว่าเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกัน หากประสงค์จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะต้องคืนหลักประกันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อน ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเจ้าหนี้ได้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนลูกหนี้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่ ข้อพิพาทยังไม่ยุติว่าฝ่ายใดผิดสัญญา และภาระแห่งหนี้ตกอยู่แก่ฝ่ายใด
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของเจ้าหนี้ไม่มีข้อพิรุธสงสัย น่าเชื่อว่ามีมูลหนี้ต่อกันจริง ทั้งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้ เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มูลหนี้อันดับที่ 1 ตามสัญญาติดตั้งและก่อสร้างเครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ข้อ 1 ค่าจ้างจ่ายล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 15,284,106.46 บาท ข้อ 2 ค่าปรับกรณีส่งแบบและเอกสารล่าช้าพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 32,276,767.76 บาท กับค่าปรับกรณีส่งมอบงานล่าช้าพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 489,137,265.74 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 667,383,885.77 บาท ข้อ 3 ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มจากสัญญาเดิมเป็นเงิน 768,176,083.27 บาท ข้อ 4 ดอกเบี้ยของเงินค่าจ้างและค่าปรับซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวมสั่งให้ในหนี้แต่ละรายการแล้ว ข้อ 5 ค่าเสียหายเนื่องจากความล่าช้าของงานเป็นเงิน 827,376,727.34 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,278,220,802.84 บาท หักด้วยเงินที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ชำระตามหนังสือค้ำประกันจำนวน 65,840,499.52 บาท และ 4,098,294.52 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 238,894,674.09 บาท แล้ว คงเป็นเงินค่าเสียหายและค่าปรับ 2,039,326,128.75 บาท มูลหนี้อันดับที่ 2 ตามสัญญาติดตั้งและก่อสร้างระบบกรองน้ำโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำ ค่าปรับกรณีส่งเอกสารทางวิศวกรรมล่าช้า ค่าปรับกรณีทำงานเสร็จล่าช้า ค่าปรับกรณีใช้สารเคมีสิ้นเปลืองเกินกว่าที่กำหนดในสัญญา ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมถังทำน้ำใส ติดตั้งผนังด้านข้างและเพดานหลังคา ภายหลังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตให้เจ้าหนี้หักกลบลบหนี้กับเงินที่ลูกหนี้พึงได้รับตามสัญญา หักแล้วเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนวน 12,664,370.47 บาท มูลหนี้อันดับที่ 3 หนี้ละเมิดกรณีลูกจ้างของลูกหนี้ขับรถเครนประมาทเลินเล่อชนท่อควบคุมของโรงงานไฟฟ้าเสียหาย เป็นค่าเสียหายและดอกเบี้ยจำนวน 922,969.02 บาท มูลหนี้อันดับที่ 4 หนี้ละเมิดกรณีพนักงานของลูกหนี้กระทำการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้น้ำท่วมห้องควบคุมปรับสภาพน้ำและอุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้าของเจ้าหนี้เสียหาย เป็นค่าเสียหายและดอกเบี้ยจำนวน 2,123,011.48 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,055,036,479.72 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 130 (8) (ที่ถูกเป็น (7)) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 โดยมีเงื่อนไขว่าในมูลหนี้อันดับที่ 1 หากเจ้าหนี้ไดรับชำระหนี้จากกิจการร่วมค้าอิดรีโก เอส.พี.เอ-โนเอล เคอาร์ซี อุมเวล เทคนิค จีเอมบีเอส-โนเอล อิงค์-อิดริโก อินเวส เอส.พี.เอ และหรือธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ค้ำประกันไปแล้วเพียงใด ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้ลดลงเพียงนั้น ในมูลหนี้อันดับที่ 2 หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกิจการร่วมค้าอิดรีโก เอส.พี.เอ และหรือธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ค้ำประกันไปแล้วเพียงใด ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้ลดลงเพียงนั้น ในมูลหนี้อันดับที่ 3 หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายสมบูรณ์ และหรือบริษัท ที.เอส.เค อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด และหรือบริษัทสยามอีเลเม็คกรุ๊ป จำกัด ลูกหนี้ร่วมในมูลหนี้ละเมิดไปแล้วเพียงใด ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้ลดลงเพียงนั้น ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เว้นแต่มูลหนี้อันดับที่ 1 ข้อ 2 อนุญาตให้รับชำระหนี้เพียง 60,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยวิธีคำนวณตามความเห็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก มูลหนี้อันดับที่ 1 รายการที่ 5 (ข้อ 5) ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ทั้งหมด มูลหนี้อันดับที่ 2 ข้อ 1 เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 1,250,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก และมูลหนี้อันดับที่ 2 ข้อ 2 เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 5,000,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้มูลหนี้อันดับที่ 1 รายการที่ 5 ได้แก่ ค่าเสียหายจากการที่เจ้าหนี้ต้องลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลงหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โดยลักษณะของความเสียหายที่เจ้าหนี้ได้รับไม่ใช่ความเสียหายที่คนปกติทั่ว ๆ ไปจะรู้ได้ จึงไม่ใช่ความเสียหายที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้น แต่เป็นความเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษ ข้อพิจารณาต่อไปจึงมีว่าลูกหนี้ได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าหรือไม่ ตามฎีกาของเจ้าหนี้อ้างว่า การที่ลูกหนี้ทำงานเสร็จล่าช้าเกินกว่ากำหนด ทำให้เจ้าหนี้ต้องลดกำลังผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ถึง 11 เพื่อควบคุมมลภาวะ (ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์) ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าที่เข้าสู่ระบบเพื่อการจำหน่ายน้อยลงและต้องอาศัยกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอื่นมาทดแทน ทำให้เจ้าหนี้ต้องขาดรายได้ โดยเป็นค่าเสียโอกาสเท่ากับส่วนต่างของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและทำให้เจ้าหนี้ต้องหาถ่านหินหรือน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไม่ก่อให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มาใช้แทน จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมเป็นเงินทั้งหมด 827,376,727.34 บาท ดังนี้ เห็นว่า แม้ลูกหนี้จะประกอบวิชาชีพในการก่อสร้างเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าดังที่เจ้าหนี้อ้างในฎีกา แต่ในระบบการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของเจ้าหนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเท่าใด ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่อาจทราบได้ และการที่จะใช้กำลังผลิตไฟฟ้าจากแหล่งใด ณ เวลาใด เจ้าหนี้น่าจะต้องมีแผนการปฏิบัติการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของกำลังการผลิตไฟฟ้าในเวลานั้น ๆ อยู่แล้ว เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดของค่าเสียหายที่เจ้าหนี้กล่าวอ้างแล้วจึงเห็นว่า ค่าเสียหายดังกล่าวไม่อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็น ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง ฎีกาข้อนี้ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.