คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินชำระราคาแล้วบางส่วน จำเลยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อแบ่งแยกโฉนดเสร็จต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินรายเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 1 ตกลงโอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยให้แก่โจทก์ที่ 2 ส่วนหนี้ของโจทก์ที่ 1 ที่จะต้องชำระราคาส่วนที่เหลือยังคงอยู่กับโจทก์ที่ 1 ตามเดิม ดังนี้ สิทธิที่จะขอให้ศาลบังคับให้จำเลยโอนที่ดินให้โดยสภาพย่อมเปิดช่องให้โอนกันได้ ไม่เป็นการเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอนแต่ประการใดกรณีนี้โจทก์ที่ 1 ยังคงเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระค่าที่ดินให้จำเลยและจำเลยก็ยังคงเป็นลูกหนี้ที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ ไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะต้องมีการทำสัญญากันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 โจทก์ที่ 1 มีสิทธิโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์ที่ 2 ได้เมื่อการโอนได้ทำเป็นหนังสือและโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงร่วมกันฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๐๒๕ จากจำเลยในราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท สัญญาว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อแบ่งแยกโฉนดแล้ว จำเลยได้แบ่งแยกที่ดินจะขายออกเป็นโฉนดเลขที่ ๑๗๘๓๔ แล้ว โจทก์ที่๑ ได้เข้าถมดินชำระราคาให้จำเลยแล้วรวม ๒๕๐,๐๐๐ บาท แต่สามีของโจทก์ที่ ๑ ยังไม่ได้รับอนุมัติให้แปลงสัญชาติโจทก์ที่ ๑ จึงไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ จึงขายให้แก่โจทก์ที่ ๒ พร้อมกับโอนสิทธิเรียกร้องในส่วนที่จำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ที่ ๒ โดยโจทก์ที่ ๑ ต้องชำระค่าที่ดินที่เหลืออีก ๒๕๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑ แจ้งให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ที่ ๒ แต่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมโอน ปรากฏว่าจำเลยได้นำที่ดินทั้งแปลงไปจำนองผู้อื่นไว้ก่อนจะแบ่งแยกส่วนที่จะขายให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นการผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๘๓๔ ให้แก่โจทก์ที่ ๒ โดยปลอดจำนองและให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอน ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท โดยหักจากเงินที่โจทก์ที่ ๑ จะต้องชำระแก่จำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โดยให้จำเลยนำโฉนดเลขที่ ๑๗๘๓๔ มามอบต่อศาลภายใน ๑๕ วัน และให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามระเบียบของกรมที่ดิน
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์ที่ ๑ ทำสัญญาขายที่ดินให้แก่โจทก์ที่ ๒ จำเลยไม่ทราบและไม่มีส่วนผูกพันด้วย จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวเรื่องโจทก์ที่ ๑ ขายที่ดินต่อให้โจทก์ที่ ๒ จึงไม่มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้โจทก์ที่ ๒
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑ มีสิทธิโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายให้โจทก์ที่ ๒ ได้ และโจทก์ที่ ๑ ได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้โจทก์ที่ ๒ และได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ ๒ โดยปลอดจำนองและให้จำเลยรับเงินจากโจทก์ที่ ๑ จำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท หากจำเลยไม่อาจโอนโดยปลอดจำนองได้ให้จำเลยโอนโดยติดจำนอง เฉพาะส่วน แล้วให้โจทก์เอาค่าที่ดินที่เหลืออยู่ ๒๕๐,๐๐๐ บาท เป็นค่าไถ่ถอนจำนอง ถ้ายังไม่พอให้โจทก์ที่ ๒ ใช้ไปก่อนแล้วบังคับเอาจากจำเลยพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันไถ่ถอนจำนองจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยไม่ไปโอนให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทนโดยให้จำเลยเอาโฉนดที่แบ่งแยกแล้วมาวางศาล เพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการเอง โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณีระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นเรื่องแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ลูกหนี้ต้องทำสัญญาต่อกันระหว่างโจทก์ที่ ๒ กับจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๕๐ เมื่อไม่มีสัญญาต่อกันโจทก์ที่ ๒ ย่อมไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้โอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ที่ ๒ ได้ และจะบังคับจำเลยให้โอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ที่ ๑ ก็ไม่ได้เพราะไม่ใช่ความประสงค์ของโจทก์ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ ๑ ซึ่งมีสามีเป็นคนต่างด้าวได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินบางส่วนจากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินขายเนื้อที่ประมาณ ๓๓๐ ตารางวา ราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อแบ่งแยกโฉนดเสร็จ โจทก์ที่ ๑ ได้เข้าถมที่ดินและจ่ายค่าที่ดินรวมทั้งมัดจำให้จำเลยไปแล้ว ๒๕๐,๐๐๐ บาท คงค้างชำระอยู่ ๒๕๐,๐๐๐ บาท เมื่อจัดการแบ่งแยกโฉนดเสร็จจำเลยนัดโจทก์ไปจดทะเบียนการโอน ณ สำนักงานที่ดิน แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมโอนให้เพราะจำเลยที่ ๑ มีสามีเป็นคนต่างด้าว ต่อมาโจทก์ที่ ๑ ได้ทำหนังสือสัญญาจะขายที่ดินรายเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์ที่ ๒ และโจทก์ที่ ๑ ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยให้แก่โจทก์ที่ ๒ แล้วพร้อมกับนัดให้จำเลยไปโอนที่ดินให้โจทก์ที่ ๒ แต่จำเลยไม่ไปโอนให้อ้างว่าไม่ได้ตกลงยินยอมให้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ที่ ๒ แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าการโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ ๑ ตามสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์ที่ ๑ และจำเลยให้แก่โจทก์ที่ ๒ มีผลบังคับได้และไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่นั้น เห็นว่าตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๒ นั้น ข้อ ๕ และข้อ ๓ มีความว่าถ้าโจทก์ที่ ๑ ไม่สามารถรับโอนที่ดินจากจำเลยได้เพราะสามีโจทก์ที่ ๑ เป็นคนต่างด้าวให้ถือว่าการซื้อขายตามสัญญานั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ ๑ โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยในอันที่จะบังคับให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ที่ ๒ และโจทก์ที่ ๑ คงมีหน้าที่ชำระราคาที่ดินส่วนที่ยังติดค้างอยู่แก่จำเลยต่อไป ข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ ๑ ได้โอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ ๑ ตามสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยให้แก่โจทก์ที่ ๒ ส่วนหนี้ของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งจะต้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือยังคงตกอยู่กับโจทก์ที่ ๑ ตามเดิม หาได้มีการตกลงให้โอนไปยังโจทก์ที่ ๒ ด้วยไม่โจทก์ที่๑ ยังคงเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระค่าที่ดินให้จำเลย และจำเลยก็ยังคงเป็นลูกหนี้ที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ หาได้มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะต้องมีการทำสัญญากันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๕๐ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ การโอนสิทธิเรียกร้องนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๓ บัญญัติว่าพึงโอนกันได้เว้นแต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองไม่เปิดช่องให้โอนกันได้หรือคู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ ๑ ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยโดยสภาพย่อมเปิดช่องให้โอนกันได้ ไม่เป็นการเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอนแต่ประการใดและเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเป็นผู้จัดสรรที่ดินขาย จำเลยขายที่ดินให้แก่คนทั่วไป การทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยคู่กรณีคงไม่มีเจตนาจะให้ผูกพันกันเป็นการเฉพาะตัว โดยโจทก์ที่ ๑ จะโอนสิทธิตามสัญญาให้ผู้อื่นไม่ได้ ฯลฯ ฉะนั้นโจทก์ที่ ๑ จึงมีสิทธิที่จะโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์ที่ ๒ ได้ แม้ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ที่ ๑และจำเลยก่อให้เกิดหนี้ที่จำเลยจะต้องโอนที่ดินให้โจทก์ที่ ๑ ถือว่าเป็นหนี้อันพึงชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงตามมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ ๑ ตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ ๒ ได้ทำเป็นหนังสือ และโจทก์ที่ ๑ ได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงเป็นอันสมบูรณ์ โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ จึงร่วมกันฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ ได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช่ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๒๐,๐๐๐ บาท

Share