คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3962/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อายุความฟ้องร้องคดีมรดก ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกตาย
มารดาของจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์และเจ้ามรดก เมื่อมารดาจำเลยสละมรดก จำเลยซึ่งเป็นบุตรจึงมีสิทธิ สืบมรดกได้ตามมาตรา 1615 และมีฐานะเป็นทายาทของเจ้ามรดก ในลำดับเดียวกับโจทก์ มีสิทธิยกอายุความ 1 ปีขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ตามมาตรา 1755

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยสำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้ากับนายหยี่และนางไทเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับนางสี สร้อยเพ็ชร เจ้ามรดก มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทรวม ๓ โฉนด ของเจ้ามรดกซึ่งถึงแก่กรรม แต่จำเลยได้ยึดโฉนดที่ดินพิพาททั้ง ๓ ฉบับไว้ จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับแก่โจทก์ หากส่งให้ไม่ได้ก็ขอให้ศาลมีคำสั่งไปยังหอทะเบียนที่ดินให้ออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่แก่โจทก์และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องมีใจความว่า นอกจากที่ดินพิพาท ๓ แปลงตามฟ้องสำนวนแรกแล้ว เจ้ามรดกยังมีบ้านไม้ ๑ หลัง ราคาประมาณ ๓,๐๐๐ บาท ยุ้งข้าว ๑ หลัง ราคาประมาณ ๒,๐๐๐ บาท และควาย ๒ ตัว ราคาประมาณ ๓,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยครอบครองอยู่ในฐานะจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกแต่ไม่ได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมและจำเลยเข้าทำนาในที่ดินทั้งสามแปลงตามฟ้องสำนวนแรก จำเลยจึงควรเสียค่าเช่านาให้แก่ทายาทผู้รับมรดก รวมค่าเช่า ๒๒,๒๐๐ บาท เมื่อรวมกับทรัพย์สินอื่นที่กล่าวมา ๘,๐๐๐ บาท รวมเป็นทรัพย์มรดก ๓๐,๒๐๐ บาท โจทก์มีสิทธิได้รับ ๕ ใน ๗ ส่วน เป็นเงิน ๒๑,๕๖๕ บาท ขอให้บังคับจำเลยมอบคืนบ้าน ยุ้งข้าว และควาย ๒ ตัวแก่โจทก์ ถ้าไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคาตามสิทธิของโจทก์ ๕ ใน ๗ ส่วน เป็นเงิน ๕,๗๑๐ บาท กับชำระค่าเช่านาตามสิทธิของโจทก์เป็นเงินประมาณ ๑๕,๘๕๕ บาทแก่โจทก์ กับให้จำเลยเสียค่าเช่านาให้แก่โจทก์ในปีต่อไปปีละ ๑๒๐ ถัง คิดราคาถังละ ๓๐ บาท เป็นเงินปีละ ๒,๕๗๐ บาท ตามส่วนได้ของโจทก์จนกว่าจะส่งมอบที่ดินให้โจทก์
ในสำนวนแรกจำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยเป็นบุตรของนางไท มิ่งขวัญ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ทั้งห้า นายหยี่สร้อยเพ็ชร และนายบุญ สร้อยเพ็ชร นายหยี่ สร้อยเพ็ชร และนางไท มิ่งขวัญได้สละมรดกแล้ว จำเลยในฐานะผู้สืบสันดานของนางไทก็เข้าสืบมรดกแทนที่นางไท จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาททั้งสามแปลงอย่างเป็นเจ้าของ ๖-๗ ปีแล้วโจทก์ทั้งห้าไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องด้วยเลย โจทก์ฟ้องคดีเกิน ๑ ปีนับตั้งแต่วันที่นางสีตาย คดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สอง จำเลยให้การเหมือนกับสำนวนแรกและมีข้อความเพิ่มเติมว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่านาจากจำเลย บ้านไม้และยุ้งข้าวของเดิมได้ผุพังหมดแล้วที่มีอยู่ขณะนี้เป็นของจำเลยปลูกสร้างขึ้นใหม่ ควาย ๒ ตัว นางสีได้ยกให้จำเลยแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า นางทวน แสงเพ็ชร โจทก์ที่ ๑ เบิกความว่า ก่อนนางสีตายนางจ้อยเป็นคนทำนาในที่ดินแปลง ๒ ไร่เศษ (ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๑๕๑) ส่วนจำเลยทำนาในที่ดินแปลง ๗ ไร่ และ ๘ ไร่ (ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕๗๐ และ ๔๕๗๙) เมื่อนางสีตายแล้ว นางจ้อยและจำเลยก็ยังคงทำนาอยู่ในที่ดินดังกล่าวและยังเบิกความอีกตอนหนึ่งว่าตอนที่นางสีตายใหม่ ๆ พยานกับพี่น้องทุกคนจะไม่เอาที่ดินมรดกของนางสี โดยจะให้จำเลยและนางจ้อยแบ่งกันเอง แสดงว่าโจทก์ทั้งห้ามิได้ครอบครองที่พิพาททั้งสามแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากนางสีตายแล้ว ๒ ปี จำเลยได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่พิพาททั้งสามแปลงโดยการครอบครองปรปักษ์ดังกล่าวแล้ว ประกอบกับจำเลยเบิกความว่าที่ดินแปลง ๒ ไร่เศษ (ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๑๕๑) นางจ้อยเป็นคนทำจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ส่วนจำเลยทำนาในที่พิพาทอีก ๒ แปลง บ้านไม้ ยุ้งข้าว และกระบือที่พิพาทนางสียกให้จำเลยก่อนนางสีตาย แสดงให้เห็นว่าหลังจากนางสีตายแล้วจำเลยและนางจ้อยได้แบ่งกันครอบครองทรัพย์มรดกของนางสีเพื่อตนเองเป็นส่วนสัดตลอดมา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนางสีไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกของนางสี และจำเลยก็มิได้ครอบครองทรัพย์มรดกของนางสีแทนทายาทคนอื่น ๆ แต่ประการใด ฉะนั้นเมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔ วรรคแรก บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย ฯลฯ” อายุความฟ้องร้องคดีมรดกจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกตาย เมื่อนางสีตาย พ.ศ. ๒๕๑๗ อายุความ ๑ ปี ก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่นั้นมา หาใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๒๔ ซึ่งเป็นวันฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๑๕/๒๕๒๑ ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ดังโจทก์ทั้งห้าฎีกาไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ทั้งห้าเพิ่งฟ้องคดีทั้งสองนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ และ พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นการฟ้องภายหลังนางสีเจ้ามรดกตายเกินกว่า ๑ ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว
มีปัญหาต่อไปว่า จำเลยมีสิทธิยกอายุความ ๑ ปีขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งห้าผู้เป็นทายาทโดยธรรมาอันดับ ๓ ของนางสีได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.๖ ที่นางไท มารดาจำเลยกับนายหยี่ สร้อยเพ็ชร ได้ตกลงกันระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนางสีโดยทั้งสองฝ่ายต่างสละสิทธิในการรับมรดกของนางสี สัญญาดังกล่าวจึงมีผลเป็นการสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๑๒ จำเลยซึ่งเป็นบุตรผู้สืบสันดานของนางไท้ จึงมีสิทธิสืบมรดกได้ตามสิทธิของตนตามมาตรา ๑๖๑๕ และมีฐานะเป็นทายาทของนางสีในลำดับเดียวกันกับโจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิยกอายุความ ๑ ปีขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตามมาตรา ๑๗๕๕
พิพากษายืน

Share