คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4553/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากร มาตรา 39 บัญญัติคำว่า “ขาย” ให้หมายความรวมถึง ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าด้วยวิธีใด และไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกับผู้อื่นก็มีผลเท่ากับโจทก์ขายที่ดินนั่นเอง จึงต้องถือราคาขายที่ดินเป็นเงินได้ของโจทก์ มิใช่ถือเอาเฉพาะเงินบริจาคบำรุงมูลนิธิโจทก์ที่โจทก์ได้รับมาเป็นรายได้ ที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาขายตามราคาตลาดในวันที่ดินโอนที่ดินโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) จึงชอบแล้ว
เงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายมิได้เกิดจากข้อสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ จึงมิใช่เบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ศาลจะใช้ดุลพินิจลดลงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ดำเนินกิจการให้เช่าที่ดินเพื่อเก็บผลประโยชน์บำรุงการศึกษาบาลีของภิกษุสามเณร เดือนกรกฎาคม 2535 บริษัทกรีนทาวน์เรียลเอสเตท จำกัด ผู้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 365 ของโจทก์เสนอขอแลกเปลี่ยนที่ดินเฉพาะส่วนที่เช่า เนื้อที่ 178 ไร่ 49 ตารางวาโดยจัดหาที่ดินใหม่ให้โจทก์เนื้อที่ 250 ไร่ 19 ตารางวา และบริจาคเงินบำรุงมูลนิธิโจทก์อีกจำนวน 10,000,000 บาท โจทก์กับบริษัทกรีนทาวน์เรียลเอสเตท จำกัด ได้โอนกรรมสิทธิ์แลกเปลี่ยนที่ดินต่อกันเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2535 ต่อมาเดือนธันวาคม 2535 โจทก์ได้แลกเปลี่ยนที่ดินโฉนดเลขที่ 366 กับที่ดินของบริษัทยูพี พรอพเบอร์ตี้จำกัด โดยรับเงินบำรุงเป็นค่าตอบแทนจำนวน 5,500,000 บาท ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2541 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมจำนวน4,455,332 บาท และให้โจทก์ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับเดือนพฤศจิกายน 2535 จำนวน 27,629,856 บาทและเดือนธันวาคม 2535 จำนวน 12,855,150 บาท รวมภาษีที่โจทก์ต้องชำระทั้งสิ้นจำนวน 44,940,338 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ปลดภาษีธุรกิจเฉพาะที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้วแต่กรณีมีเหตุอันควรผ่อนผันจึงพิจารณาลดเบี้ยปรับเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 30 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายคงเรียกเก็บเงินภาษีจำนวน 1,528,416 บาท กับเบี้ยปรับจำนวน 458,524.80 บาท และเงินเพิ่มจำนวน 1,398,500.64 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 3,385,441.44 บาท โจทก์เห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบ เพราะการแลกเปลี่ยนที่ดินไม่ใช่การขายที่ดิน การเสียภาษีเงินได้ต้องมีเงินได้พึงประเมินเสียก่อน การแลกเปลี่ยนไม่มีเงินได้ที่เป็นตัวเงิน ดังนั้นเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่อาจถือเอาการกำหนดราคาที่ดินของโจทก์เป็นเงินได้พึงประเมิน นอกจากนั้นการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องคำนวณจากรายได้ของกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ทำ มูลนิธิโจทก์ดำเนินกิจการให้เช่าทรัพย์สินมิได้ประกอบกิจการการขายอสังหาริมทรัพย์ การประเมินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 1001010/2/100022ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2541 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.1 (อธ.3)/55/2543ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 หรืองดเบี้ยปรับเงินเพิ่มแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า การออกหมายเรียกชอบด้วยกฎหมาย กรณีไม่มีเหตุที่จะลดหรืองดเบี้ยปรับกับเงินเพิ่มให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มทั้งหมด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ดำเนินกิจการให้เช่าที่ดินเพื่อเก็บผลประโยชน์บำรุงการศึกษาของภิกษุสามเณร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2535 โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 365 ตำบลคลองหนึ่งอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เฉพาะส่วนเนื้อที่ 178 ไร่49 ตารางวา แลกเปลี่ยนกับที่ดินของบริษัทกรีนทาวน์เรียลเอสเตทจำกัด กับได้รับเงินจากบริษัทกรีนทาวน์เรียลเอสเตท จำกัด อีกจำนวน10,000,000 บาท และเดือนธันวาคม 2535 โจทก์ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 366 แลกเปลี่ยนกับที่ดินของบริษัทยูพี พรอพเบอร์ตี้ จำกัด กับได้รับเงินจากบริษัทยูพี พรอพเบอร์ตี้ จำกัด อีกจำนวน 5,500,000 บาท โจทก์นำเงินจำนวน 15,500,000บาท ดังกล่าวไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า โจทก์ต้องนำราคาขายหรือมูลค่าของที่ดินทั้งสองแปลงรวมเป็นเงิน 307,841,700 บาท มาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อหักเงินที่โจทก์ได้รับค่าตอบแทนแล้ว จำนวน 15,500,000 บาทซึ่งโจทก์ชำระภาษีแล้วออก จึงยังคงเหลือรายได้ที่โจทก์ไม่ได้นำไปรวมคำนวณเป็นรายได้ในการยื่นแบบและชำระภาษีอีกจำนวน292,341,700 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมจำนวน 4,455,332 บาท และให้โจทก์ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับเดือนพฤศจิกายน2535 จำนวน 27,629,856 บาท กับเดือนธันวาคม 2535 จำนวน12,855,150 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ปลดภาษีธุรกิจเฉพาะส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว แต่ลดเบี้ยปรับลงคงให้เรียกเก็บเพียงร้อยละ 30 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการแลกเปลี่ยนที่ดินของโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 39บัญญัติคำว่า “ขาย” ให้หมายความรวมถึง ขายฝาก แลกเปลี่ยนให้ โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าด้วยวิธีใดและไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวกับผู้อื่นก็มีผลเท่ากับโจทก์ขายที่ดินทั้ง 2 แปลง นั่นเอง จึงต้องถือราคาขายที่ดินเป็นเงินได้ของโจทก์หาใช่ถือเอาเฉพาะเงินที่โจทก์ได้รับมาเป็นรายได้ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาขายตามราคาตลาดในวันที่โอนที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น…

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่าที่ศาลภาษีอากรกลางงดเงินเพิ่มแก่โจทก์เป็นการชอบหรือไม่เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่าง ๆ แห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมินให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ และมาตรา 27 ทวิ บัญญัติว่า เบี้ยปรับตามมาตรา 22 และมาตรา 26 และเงินเพิ่มตามมาตรา 27ให้ถือเป็นเงินภาษีและเบี้ยปรับดังกล่าวอาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเงินเพิ่มเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายมิได้เกิดจากข้อสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้และเฉพาะเบี้ยปรับเท่านั้นที่จะงดหรือลดลงได้ ส่วนเงินเพิ่มไม่อาจกระทำเช่นนั้นได้ เงินเพิ่มจึงมิใช่เบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งศาลอาจใช้ดุลพินิจลดลงได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางงดเงินเพิ่มแก่โจทก์เป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้งดเงินเพิ่มแก่โจทก์เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share