คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4553/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตที่ราชพัสดุซึ่งมีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงออกไว้ตั้งแต่ปี 2480 จ. ผู้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทแจ้งต่อนายอำเภอว่าได้ที่ดินนี้มาโดยปกครองตั้งแต่ปี 2482 ซึ่งแม้ฟังเป็นจริงก็เป็นเวลาภายหลังจากการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จ. จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อต่อจากส. ผู้ซื้อที่ดินจาก จ. แม้จะครอบครองนานเพียงใดก็หาทำให้เกิดสิทธิครอบครองแต่อย่างใดไม่ เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เชื่อได้ว่ามีการครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนจะมีประกาศหวงห้ามที่ดิน จึงต้องฟังว่าจำเลยไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และมีหน้าที่ดูแลรักษาที่ราชพัสดุของรัฐบาลทั้วราชอาณาจักร รวมทั้งที่ราชพัสดุแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองจันทบุรีและอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งที่ราชพัสดุแปลงนี้เมื่อปี 2458 สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลจันทบุรีได้มีคำสั่งและประกาศหวงห้ามไว้เพื่อใช้เป็นสนามยิงปืนของกรมทหารพรานในกองพลทหารบกที่ 9 กรมบัญชาการกองพลที่ 9 กระทรวงกลาโหม ทางราชการได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไว้แล้วบางส่วนซึ่งส่วนหนึ่งได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 106/2580 ที่ดินส่วนนี้เดิมร้อยโทเจริญ สังขรุจน์ ได้แจ้งขอออก ส.ค.1 และทางราชการได้ออก ส.ค.1 ให้ร้อยโทเจริญโดยผิดหลงและสำคัญผิดต่อมาร้อยโทเจริญได้ขายที่ดินดังกล่าวให้นายสวัสดิ์ สิทธิบุศย์ และจำเลยได้ซื้อและรับโอนสิทธิในที่ดินดังกล่าวจากนายสวัสดิ์ จำเลยได้นำส.ค.1 ไปขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรี เจ้าพนักงานที่ดินได้แจ้งให้โจทก์ไประวังแนวเขต แต่ที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ราชพัสดุ โจทก์จึงคัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกคู่กรณีไปเปรียบเทียบ แต่ตกลงกันไม่ได้เจ้าพนักงานที่ดินเห็นว่าจำเลยมีสิทธิดีกว่าโจทก์ จึงมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ไม่สามารถจะโอนให้แก่กันได้ตามกฎหมายและไม่สามารถอ้างอายุความขึ้นต่อสู้ได้ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งสงวนไว้และใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะและอยู่ในความครอบครองดูแลของโจทก์ ห้ามจำเลยคัดค้านการออกหนังสือสำคัญ ให้จำเลยและบริวารเลิกเกี่ยวข้องและให้ออกไปจากที่ดินดังกล่าว

จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตที่ราชพัสดุแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าและไม่ใช่ที่ราชพัสดุ ที่ดินพิพาทนี้จำเลยซื้อจากผู้มีชื่อใน ส.ค.1 โดยมีค่าตอบแทนและได้ครอบครองมาโดยสุจริตหลายสิบปี ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุซึ่งสงวนไว้และใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะและอยู่ในความครอบครองดูแลของโจทก์ ห้ามจำเลยคัดค้านการออกหนังสือสำคัญ และให้จำเลยกับบริวารเลิกเกี่ยวข้องและออกไปจากที่ดินพิพาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อเดียวว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ราชพัสดุแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าหรือไม่ ได้ความว่า ที่ราชพัสดุแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่านั้น ได้มีการประกาศเป็นที่หวงห้ามเพื่อใช้เป็นสนามยิงปืนตั้งแต่ปี 2458 เป็นเนื้อที่ 4,375 ไร่อยู่ในเขตพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองจันทบุรีและอำเภอท่าใหม่ เฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรีมีอาณาเขตอยู่ใน 2 ตำบล ตำบลหนึ่งได้แก่ตำบลท่าช้างซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในปี 2480 ได้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้ที่ราชพัสดุในตำบลนี้ไปแล้ว 6 แปลง ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 102/2480 ถึง 107/2480 โจทก์มีนายโกมล ประสงค์ธรรมเป็นพยานเบิกความว่าพยานเคยรับราชการอยู่ที่สำนักงานราชพัสดุจังหวัดจันทบุรี เป็นผู้รวบรวมหลักฐานส่งพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในที่ราชพัสดุแปลงที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 106/2480 บริเวณที่ขีดเส้นรอบด้วยหมึกสีเหลือง แนวที่ทหารใช้ฝึกยิงปืนเป็นเนินดินอยู่บริเวณหน้าโค้งวัดสนามเป้า ห่างจากถนนรักศักดิ์มูลปัจจุบันประมาณครึ่งกิโลเมตรที่ดินพิพาทตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเนินดิน ห่างจากเนินดินประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร และมีนายยุทธศักดิ์ เนียมฤทธิ์นายช่างสำรวจสำนักงานราชพัสดุจังหวัดจันทบุรีเป็นพยานเบิกความว่าในช่วงปี 2530 ได้มีการออกไปรังวัดที่ราชพัสดุแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าโดยพยานร่วมตรวจสอบชี้เขตที่ดินพบหลักเขตเป็นหลักหินสี่เหลี่ยม มีตัวอักษร ท.บ. แสดงว่าเป็นหลักเขตของที่ดินทหารอยู่ติดถนนพระยาตรัง2 หลัก ติดถนนรักศักดิ์มูล 1 หลักอยู่บริเวณทางเข้าหมู่บ้านศิริการและพบอีก 1 หลักอยู่ใกล้ทางเข้าหมู่บ้านสามัคคีโฮม ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโค้งวัดสนามเป้าตรวจสอบรังวัดเนื้อที่ได้ 4,000 ไร่เศษที่ดินพิพาทอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเนินดินที่ใช้ยิงปืนอยู่ด้านในบริเวณหลักเขตทหารที่พบซึ่งอยู่ในบริเวณเนื้อที่ 4,000 ไร่เศษที่รังวัดได้ ห่างจากเนินดินประมาณ 2,500 เมตร และอยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 106/2480 นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายสิน สิริไสยาสน์ อดีตสรรพากรอำเภอเมืองจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นชาวจังหวัดจันทบุรีเป็นพยานเบิกความว่าพยานเคยเดินกลับบ้านที่อำเภอท่าใหม่สมัยยังเป็นนักเรียนโดยใช้เส้นทางที่ผ่านไปทางสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า บริเวณสนามยิงปืนมีมูลดินกองอยู่ ทราบว่าเป็นที่ใช้ฝึกยิงปืน จุดดังกล่าวอยู่หลังโค้งวัดสนามเป้าในปัจจุบัน ระหว่างพยานรับราชการตำแหน่งสรรพากรอำเภอเมืองจันทบุรี กระทรวงการคลังเคยมอบหมายให้พยานเป็นผู้ดูแลสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าแทนกรมธนารักษ์ พยานรู้จักที่ดินพิพาท ตั้งอยู่หลังวัดเขาแก้ว ห่างจากบริเวณหลังโค้งวัดสนามเป้า ซึ่งทหารฝึกยิงปืนเป็นทางตรงประมาณ 4 กิโลเมตรและนายสินยังเบิกความตอบคำถามค้านว่า กรมธนารักษ์เคยมีกรณีพิพาทกับราษฎรที่บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านอาศัยในสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าและถึงกับฟ้องศาล เท่าที่ทราบคือรายของร้อยโทเจริญ สังขรุจน์ ศาลฎีกาพิพากษาให้ร้อยโทเจริญออกโฉนดที่ดินได้ภายหลังร้อยโทเจริญขายให้จำเลย พยานเข้าใจว่าเป็นที่ดินพิพาทนี้เอง เห็นว่า เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนี้นายสินพยานโจทก์คงจะเบิกความคลาดเคลื่อนไปเพราะจากหลักฐานที่ปรากฏ ที่ดินพิพาทมิใช่ที่ดินแปลงที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ร้อยโทเจริญออกโฉนดที่ดินได้ แม้แต่จำเลยก็ยังเบิกความว่าเป็นที่ดินคนละแปลงกัน ที่ดินที่นายสินเบิกความว่าอยู่ห่างจากบริเวณหลังโค้งวัดสนามเป้าซึ่งทหารฝึกยิงปืนเป็นทางตรงประมาณ 4 กิโลเมตร น่าจะเป็นที่ดินแปลงที่ศาลฎีกาพิพากษา ส่วนที่ดินพิพาทนั้นอยู่ห่างจากเนินดินที่ทหารใช้ฝึกยิงปืนขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 2,000 เมตรถึง 2,500 เมตร ตามที่นายโกมลและนายยุทธศักดิ์พยานโจทก์เบิกความซึ่งถ้าดูจากแผนที่สำหรับยิงเป้า พ.ศ. 2461 ที่ดินพิพาทก็น่าจะอยู่ในบริเวณที่ใช้เป็นสนามยิงปืนซึ่งมีความกว้างประมาณ 1,400 เมตร และกำหนดระยะทางกระสุนผ่านขึ้นไปทางทิศเหนือไว้ 3,000 เมตร ซึ่งโจทก์นำสืบว่า ต่อมามีการขยายออกไปถึง 4,000 เมตร นอกจากนี้โจทก์ยังมีพยานอีกหลายปากซึ่งถ้าพิจารณาจากถ้อยคำพยานโจทก์ทั้งหมดประกอบกับแผนที่ที่ตั้งของสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าที่ทำไว้ตั้งแต่เริ่มประกาศเป็นที่หวงห้ามจนถึงปัจจุบันแล้วก็พอจะเข้าใจและเห็นสภาพที่ดินที่สงวนไว้เป็นสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าว่ามีอาณาเขตแน่นอน มิใช่ว่าพยานโจทก์ไม่ทราบแน่ชัดว่าสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่ามีอาณาเขตที่แน่นอนเป็นอย่างไรดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัย โดยเฉพาะที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 106/2480 ที่โจทก์นำสืบว่า ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตนั้น มีน้ำหนักให้รับฟังได้เพราะโจทก์มีใบนำในการสำรวจออกหมายเขตที่ดินแสดงอาณาเขตความกว้างยาวของที่ดินรวมจำนวนประมาณ 706 ไร่ 3 งาน ว่ามีทิศไหนจดอะไร มีแผนที่ระวางชัดเจน มาตราส่วน 1 : 8000 แสดงเส้นทางสาธารณประโยชน์ที่รายล้อมอยู่ และเลขที่ของหมุดหลักเขตที่ปักไว้ ณ มุมต่าง ๆ ที่นายโกมลและนายยุทธศักดิ์พยานโจทก์เบิกความว่าตรวจสอบแล้วที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตที่ราชพัสดุแปลงที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 106/2480 จึงไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทั้งจำเลยเองก็เบิกความตอบคำถามค้านรับว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยจำเลยอ้างว่าทราบตอนที่จำเลยยื่นขอรังวัดออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตที่ราชพัสดุแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 106/2480 ออกไว้ตั้งแต่ปี 2480 นอกจากนี้ปรากฏจาก ส.ค.1 ว่าร้อยโทเจริญผู้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทแจ้งต่อนายอำเภอเมืองจันทบุรีว่าได้ที่ดินนี้มาโดยปกครองตั้งแต่ปี 2482 ซึ่งแม้ฟังเป็นจริงก็เป็นเวลาภายหลังจากออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 106/2480 แล้ว ดังนั้น ร้อยโทเจริญจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อต่อจากนายสวัสดิ์ สิทธิบุศย์ ผู้ซื้อที่ดินจากร้อยโทเจริญ แม้จะครอบครองนานเพียงใดก็หาทำให้เกิดสิทธิครอบครองแต่อย่างใดไม่ ที่จำเลยให้ถ้อยคำไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรีในการสอบสวนเปรียบเทียบเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535 ว่า เหตุที่ซื้อที่ดินพิพาทเนื่องจากตรวจสอบแล้วทราบว่าเจ้าของเดิมได้ที่ดินแปลงนี้และครอบครองมาก่อนโดยปลูกบ้านพักอาศัย 1 หลัง ปลูกสร้างมาประมาณ 60 ปีเศษ นั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ และขัดกับที่ร้อยโทเจริญผู้แจ้งการครอบครองที่ดินได้แจ้งไว้แต่เดิม เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เชื่อได้ว่า มีการครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2458 ก่อนที่จะมีประกาศหวงห้ามที่ดิน จึงต้องฟังว่าจำเลยไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท

Share