แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันใดของนายจ้างจะถือว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาจากลักษณะของการกระทำนั้น ๆ มิใช่ว่าจะต้องให้ความเสียหายต่อนายจ้างปรากฏขึ้นด้วยเสมอไปจึงจะนับว่าการฝ่าฝืนนั้น ๆ เป็นกรณีที่ร้ายแรง
แม้ระเบียบของจำเลยจะมิได้ห้ามมิให้พนักงานดำรงตำแหน่งใดในธุรกิจอื่นโดยเด็ดขาด โดยยังมีข้อยกเว้นให้พนักงานสามารถกระทำได้ก็ตาม โจทก์ก็พึงปฏิบัติตามข้อยกเว้นนั้น กรณีจึงจะไม่เป็นการกระทำฝ่าฝืนระเบียบ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเคยไม่ปลดหรือไล่พนักงานที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อนี้ออกจากงานนั้น หากจะเป็นจริงก็เป็นสิทธิของจำเลยที่จะใช้ดุลพินิจ เพราะตามระเบียบนี้ใช้คำว่า ‘อาจเป็นผลให้’และความร้ายแรงของการฝ่าฝืนของพนักงานอื่นอาจต่างกับกรณีของโจทก์มากก็ได้
ระเบียบทั่วไปว่าด้วยสภาพการจ้างสำหรับพนักงานของบริษัทจำเลยกล่าวไว้ว่าการฝ่าฝืน ข้อ 87 อาจทำให้จำเลยเลิกจ้างพนักงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยนั้น มีความหมายว่าในบางกรณีจำเลยอาจถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) แต่การฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันใดจะเป็นกรณีที่ร้ายแรงถึงขนาดที่นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่นั้น ศาลย่อมพิเคราะห์ว่ามีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ มิใช่ว่าเมื่อนายจ้างกำหนดไว้ในระเบียบว่าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแล้วศาลจะต้องถือตามเสมอไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่แจ้งสาเหตุให้ทราบและไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่ได้ทำความผิดอย่างใด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสเท่ากับเงินเดือนอีก 2 เดือน นอกจากนั้นโจทก์ยังมีวันลาพักร้อนอีก 12 วัน ซึ่งโจทก์มิได้ลาพัก จำเลยจึงต้องจ่ายเป็นเงินแทนให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 จำเลยเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าทำให้โจทก์เสียหายเพราะตกงาน ขอคิดค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 6 เดือน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำความผิดในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรง ทำให้บริษัทจำเลยเสียหาย โดยโจทก์ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นโดยไม่ชอบ จงใจทำให้บริษัทจำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงตามระเบียบว่าด้วยสภาพการจ้างสำหรับพนักงานของบริษัทจำเลยและตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(2) และ(3) บริษัทจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย เงินโบนัสโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเพราะโจทก์ทำงานไม่ครบกำหนด ค่าเสียหายโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเพราะบริษัทจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า การเลิกจ้างเป็นการกระทำอันเป็นธรรม โจทก์มิได้ตกงานเพราะสามารถดำเนินกิจการค้าในกิจการอื่นของโจทก์ได้เต็มที่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งโจทก์มิได้ใช้สิทธิหยุดมีกำหนด 12 วัน พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกนั้นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังว่า นอกจากโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยโดยเป็นหัวหน้าพนักงานขายสินค้าฝ่ายผลิตภัณฑ์อาหารแล้ว โจทก์ยังเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. โจทก์ติดต่อมอบหมายให้พนักงานขายของจำเลยช่วยขายสินค้าให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. ด้วย โดยทำควบคู่ไปกับการขายสินค้าให้จำเลยการที่โจทก์อาศัยตำแหน่งหน้าที่กระทำการดังกล่าว เป็นการเข้าจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. ซึ่งโจทก์เป็นหุ้นส่วนอยู่ ตามระเบียบทั่วไปว่าด้วยสภาพการจ้างสำหรับพนักงานของบริษัทจำเลย ข้อ 87 มีความว่า”ขณะที่มีหน้าที่ในบริษัท พนักงานไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งใดในธุรกิจอื่น ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากฝ่ายจัดการ การฝ่าฝืนกฎข้อนี้อาจเป็นผลให้บริษัทเลิกจ้างพนักงานได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ตามที่ระบุมาข้างต้นนี้มิได้ประสงค์จะขัดขวางงานอดิเรกอันก่อให้เกิดรายได้และกิจกรรมในยามว่างอื่น ๆ ซึ่งทำนอกเวลาทำงาน” การกระทำของโจทก์เป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้านการตลาด ขยายขอบเขตธุรกิจการค้าให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. แม้จะไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ได้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ.ก็ตาม โดยพฤตินัยก็ถือได้ว่าโจทก์ดำรงตำแหน่งในธุรกิจของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. แล้ว เป็นการฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าว การกระทำของโจทก์จึงอยู่ในดุลพินิจของนายจ้างที่จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้แม้ยังไม่เป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย แต่ก็เป็นการกระทำผิดหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยตามข้ออุทธรณ์ของโจทก์ว่า
การฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันใดของนายจ้าง จะถือว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาจากลักษณะของการกระทำนั้น ๆ มิใช่ว่าต้องให้ความเสียหายต่อนายจ้างปรากฏขึ้นด้วยเสมอไปจึงจะนับว่าการฝ่าฝืนนั้น ๆ เป็นกรณีที่ร้ายแรง
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าตามระเบียบฯ ข้อ 87 นั้น ถือว่ามิใช่ความผิดร้ายแรงเพราะมิได้ห้ามพนักงานกระทำโดยเด็ดขาด มีข้อยกเว้นที่พนักงานสามารถกระทำได้ เห็นว่า เมื่อมีข้อยกเว้นอยู่ โจทก์ก็พึงปฏิบัติตามข้อยกเว้นนั้น กรณีจึงจะไม่เป็นการกระทำฝ่าฝืนระเบียบที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเคยไม่ปลดหรือไล่พนักงานที่ฝ่าฝืนระเบียบออกจากงานนั้น หากจะฟังว่าเป็นความจริงก็เป็นสิทธิของจำเลยที่จะใช้ดุลพินิจ เพราะตามระเบียบฯ ข้อ 87 ใช้คำว่า”อาจเป็นผลให้” และความร้ายแรงของการฝ่าฝืนของพนักงานอื่นอาจจะต่างกับกรณีของโจทก์มากก็ได้
ตามข้อ 47(3) ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำต้องตักเตือน ระเบียบทั่วไปว่าด้วยสภาพการจ้างสำหรับพนักงานของบริษัทจำเลยนั้นเป็นระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง แม้จะกล่าวไว้ว่า การฝ่าฝืนข้อ 87 อาจทำให้จำเลยเลิกจ้างพนักงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ก็มีความหมายว่าในบางกรณีจำเลยอาจถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศข้อ 47(3) นั่นเอง แต่การฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันใดจะเป็นกรณีที่ร้ายแรงถึงขนาดที่นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่นั้น ศาลย่อมพิเคราะห์ว่ามีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ มิใช่ว่าเมื่อนายจ้างกำหนดไว้ในระเบียบว่าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแล้ว ศาลจะถือตามเสมอไป ดังเช่นคดีนี้ศาลแรงงานกลางก็ได้พิเคราะห์การกระทำของโจทก์แล้ว เห็นว่าการที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบฯ ของนายจ้างนั้นเป็นกรณีร้ายแรงจริง ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย การที่บริษัทจำเลยมีระเบียบที่อาจเลิกจ้างพนักงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยนี้ จะเปรียบเสมือนว่าจำเลยได้สร้างกฎหมายขึ้นมาใช้บังคับนอกเหนือกฎหมายคุ้มครองแรงงานหาได้ไม่ ระเบียบของจำเลยมิได้ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
พิพากษายืน