แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องถูกจับให้ผู้บังคับบัญชาทราบการที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้แจ้งเรื่องนี้แล้ว จึงเป็น อุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯมาตรา 54
แม้โจทก์ขาดงานเพราะถูกจับและถูกควบคุมตัวตลอดมาโจทก์ก็ชอบที่จะแจ้งเรื่องที่ถูกจับให้ผู้บังคับบัญชาทราบ การที่โจทก์ไม่แจ้ง ถือว่าเป็นการประพฤติไม่เหมาะสมตามระเบียบว่าด้วยการจ้างและเลิกจ้างคนงานฯ ของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้
เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อที่โจทก์มิได้ตั้งประเด็นมาในคำฟ้อง คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัยให้
การที่โจทก์ไปทำงานไม่ได้เพราะถูกจับและถูกควบคุมตัวตลอดมา ถือไม่ได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ การไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือไม่ขอลางาน หาทำให้เป็นการละทิ้งหน้าที่ขึ้นไม่ การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการ ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(4) อันจำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์เกี่ยวข้องกับภาวะค่าครองชีพโดยเฉพาะอย่างไร การที่จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนมีจำนวนแน่นอนทำนองเดียวกับเงินเดือนค่าครองชีพ ที่โจทก์ได้รับจึงเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทน การทำงาน จึงเป็นค่าจ้างซึ่งต้องนำมาคำนวณค่าชดเชยด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาโจทก์ถูกจับข้อหาภัยสังคมการเมืองและถูกอายัดตัวต่อในข้อหาคอมมิวนิสต์ซึ่งต่อมาในข้อหานี้ศาลพิพากษายกฟ้อง ในระหว่างนั้นจำเลยเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าโจทก์ขาดงานเกินกว่า 15 วัน โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้วว่าโจทก์ถูกคุมขัง โจทก์ได้ขอเข้าทำงานใหม่ แต่จำเลยปฏิเสธ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งเดิมและจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันรับเข้าทำงาน หากรับเข้าทำงานไม่ได้ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายรวมทั้งค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ถูกจับและไม่สามารถมาปฏิบัติงานตามหน้าที่ในฐานะคนงานประจำได้เกินกว่า 15 วัน โดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องให้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์หรือจำเลยทราบทั้งที่มีโอกาสจะแจ้งให้ทราบได้ ถือว่าโจทก์จงใจขาดงานเกินกว่า 15 วัน อันเป็นการประพฤติตนไม่เหมาะสม จำเลยจึงได้เลิกจ้างโจทก์ตามระเบียบปฏิบัติงานว่าด้วยการจ้างและเลิกจ้างคนงานฯ ของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการชอบแล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เลิกจ้างรวมทั้งเงินชดเชยและค่าเสียหายแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้แจ้งเรื่องถูกจับให้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ทราบ การที่จำเลยสั่งเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขาดงานเกิน 15 วันโดยไม่แจ้งเหตุให้ทราบ ถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เหมาะสมตามระเบียบฯ ของจำเลยจึงเป็นการชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่การที่โจทก์ขาดงานเป็นเพราะโจทก์ถูกจับและถูกควบคุมตัวตลอดมาถือมิได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ตามข้อ 47(4) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ โจทก์มีระยะทำงานติดต่อกันเกิน 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ขณะถูกเลิกจ้างโจทก์ได้รับเงินเดือน เดือนละ 1,400 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 350 บาท ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณค่าชดเชยด้วย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นเงิน 10,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
ผู้พิพากษาสมทบคนหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า เงินค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างของโจทก์ที่จะนำมาเป็นฐานคำนวณการจ่ายค่าชดเชย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้แจ้งให้เพื่อนและผู้บังคับบัญชาทราบแล้วว่า โจทก์ถูกจับกุมและขอลางานจนกว่าคดีถึงที่สุด แต่ผู้บังคับบัญชาไม่รายงานให้ผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่าตามลำดับชั้นทราบนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์แจ้งเรื่องถูกจับให้ผู้บังคับบัญชาทราบอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ขาดงานเป็นเพราะโจทก์ถูกจับ มิใช่โจทก์เป็นผู้กระทำ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประพฤติไม่เหมาะสมนั้น แม้โจทก์ขาดงานเพราะถูกจับและถูกควบคุมตัวตลอดมา โจทก์ก็ชอบที่จะแจ้งเรื่องที่ถูกจับให้ผู้บังคับบัญชาทราบ การที่โจทก์ไม่แจ้งและศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเป็นการประพฤติไม่เหมาะสมตามระเบียบว่าด้วยการจ้างและเลิกจ้างคนงานฯ ของจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ก่อนและไม่ได้แจ้งคำสั่งเลิกจ้างให้โจทก์ทราบ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบนั้น ข้อนี้โจทก์มิได้ตั้งประเด็นมาในคำฟ้อง คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า เมื่อโจทก์ไปทำงานไม่ได้เพราะถูกจับและถูกควบคุมตัวตลอดมา ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามข้อ 47 (4) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ อันจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ การไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือไม่ขอลางานหาทำให้เป็นการละทิ้งหน้าที่ขึ้นไม่ ส่วนในเรื่องค่าครองชีพนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ข้อ 2 นิยามคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้ว่า “หมายความว่าเงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และหมายความรวมถึงเงินหรือเงินหรือสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงาน และในวันลาด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไร และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ 1,400 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 350 บาท ไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์เกี่ยวข้องกับภาวะค่าครองชีพโดยเฉพาะอย่างไร จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนมีจำนวนแน่นอน ทำนองเดียวกับเงินเดือน เห็นได้ว่าค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงาน จึงเป็นค่าจ้างอันต้องนำมาคำนวณค่าชดเชยด้วย
พิพากษายืน