คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4551/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1157 บัญญัติว่า “การตั้งกรรมการขึ้นใหม่นั้น ตั้งใครเมื่อใด ท่านให้นำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ตั้งจงทุกครั้ง” การที่บริษัท ว. โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจเป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจของกรรมการตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้รับจดทะเบียนไว้ จึงเป็นกรณีที่บริษัท ว. เป็นผู้นำความเกี่ยวกับการตั้งกรรมการขึ้นใหม่ไปจดทะเบียนตามบทกฎหมายดังกล่าว หากโจทก์เห็นว่า การกระทำของบริษัท ว. เป็นการกระทำที่มิชอบทำให้โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทได้รับความเสียหายเพราะต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ก็ชอบที่จะ ต้องฟ้องบริษัท ว. ในฐานะที่กระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ให้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยตรง เพราะแม้การจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นจะได้กระทำโดยจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท ว. ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหาก การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และบริษัทอื่นเป็นจำเลยกรณีจึงไม่มีบุคคลที่อาจต้องรับผิดตามคำขอของโจทก์มาในฟ้อง อันเป็นเหตุให้ศาลไม่อาจจะพิพากษาบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ได้ ตลอดทั้งไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะต้องรับฟ้องคดีไว้เพื่อรอให้บริษัท ว. ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) เพราะไม่อาจบังคับได้ตามคำฟ้องมาแต่ต้นแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๓๙ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๙ และบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการตามที่แสดงในมติที่ประชุมดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ฟ้องเลิกบริษัทโดยไม่ฟ้องบริษัท ว. เป็นจำเลยด้วย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนเริ่มสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะส่วนตัวและจำเลยที่ ๒ ให้ร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจของกรรมการตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๓๙ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๙ หรือไม่ เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๕๗ บัญญัติว่า “การตั้งกรรมการขึ้นใหม่นั้น ตั้งใคร เมื่อใด ท่านให้นำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ตั้งจงทุกครั้ง” การที่บริษัท ว. โดยจำเลยที่ ๑ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจเป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจของกรรมการตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าว สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้รับจดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๙ โดยอ้างถึงมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๓๙ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๙ จึงเป็นกรณีที่บริษัท ว. เป็นผู้นำความเกี่ยวกับการตั้งกรรมการขึ้นใหม่ไปจดทะเบียนตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนี้ หากโจทก์เห็นว่าการกระทำของบริษัท ว. เป็นการกระทำที่มิชอบทำให้โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทได้รับความเสียหายเพราะต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ก็ชอบที่จะต้องฟ้องบริษัท ว. ในฐานะที่กระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ให้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยตรง เพราะแม้การจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นจะได้กระทำโดยจำเลยที่ ๑ แต่ก็เป็นการกระทำของจำเลยที่ ๑ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท ว. ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหาก กรณีจึงไม่มีบุคคลที่อาจต้องรับผิดตามคำขอของโจทก์มาในฟ้อง อันเป็นเหตุให้ศาลไม่อาจจะพิพากษาบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ได้ตลอดทั้งไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะต้องรับฟ้องคดีไว้เพื่อรอให้บริษัทดังกล่าวร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๗ (๑) เพราะไม่อาจบังคับได้ตามคำฟ้องมาแต่ต้นแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share