แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่าอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 ซึ่งตามกฎหมายถือว่าทนายจำเลยได้ทราบคำสั่งในวันนั้นแล้ว แต่ทนายจำเลยมิได้รอฟังคำสั่ง และได้มาขอทราบคำสั่ง ซึ่งตามทางปฏิบัติของศาลชั้นต้นการแจ้งคำสั่งให้คู่ความที่มาขอทราบคำสั่งทำโดยวิธีเปิดดูข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ และปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ศาลลงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ผิดเป็นว่าอนุญาตถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 และเจ้าหน้าที่ศาลอีกคนหนึ่งแจ้งข้อมูลที่ผิดดังกล่าว โดยเขียนข้อความว่าอนุญาตถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 ในใบมอบฉันทะด้วย เช่นนี้แม้ทนายจำเลยจะยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด 2 วัน ก็น่าเชื่อว่าทนายจำเลยเชื่อโดยสุจริตใจว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 และเนื่องจากวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 เป็นวันหยุดราชการ ทนายจำเลยจึงยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยจำคุกตลอดชีวิต
ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งว่า คำร้องขออนุญาตยื่นคำอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาของจำเลย มิใช่เหตุสุดวิสัย ยกคำร้อง และไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยลงวันที่ 5 เมษายน 2545 ศาลมีคำสั่งอนุญาตถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 แต่นายซัมซูดินเห็นเลข 7 ซึ่งเป็นเลขไทย เข้าใจว่าเป็นเลข 9 จึงบันทึกลงไปในข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 ต่อมาเมื่อนายสมชาย ได้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยให้มาฟังคำสั่งตามใบมอบฉันทะ จึงได้รับแจ้งจากนางสาวรัชนีว่าศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 นางสาวรัชนียังได้เขียนข้อความไว้ในใบขอดูสำนวน ว่าอนุญาตถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 ในวันดังกล่าวนายสมชายไม่ได้ตรวจดูคำสั่งศาลจากสำนวน คงได้รับแจ้งจากนางสาวรัชนีซึ่งตรวจข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เท่านั้นว่าศาลอนุญาตให้ขยายเวลาอุทธรณ์จนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 เช่นนี้ เห็นว่า แม้ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ในวันที่ 5 เมษายน 2545 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่าอนุญาตถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 ซึ่งทนายจำเลยได้ทราบคำสั่งที่ศาลเกษียนสั่งในวันนั้นแล้ว แต่ก็ได้ความว่าทนายจำเลยมิได้รอฟังคำสั่ง และได้มาขอทราบคำสั่งตามทางปฏิบัติของศาลชั้นต้นที่แจ้งคำสั่งให้คู่ความที่มาขอทราบคำสั่งโดยเปิดดูข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ การที่เจ้าหน้าที่ศาล ลงข้อมูลผิดเป็นว่าอนุญาตถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 และเจ้าหน้าที่ศาลอีกคนหนึ่งแจ้งข้อมูลที่ผิดดังกล่าวแก่ผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลย จึงมิใช่ความผิดอันเกิดจากทนายจำเลยจริงอยู่ทนายจำเลยควรจะทราบว่าตนขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันใด แต่ในทางปฏิบัติของทนายความมักมีการมอบฉันทะให้ฟังคำสั่งศาลแทน เมื่อผู้รับมอบฉันทะได้รับแจ้งคำสั่งศาลจากเจ้าหน้าที่ศาลซึ่งตรวจสอบข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ ทั้งเจ้าหน้าที่ศาลยังได้เขียนข้อความด้วยลายมือเขียนวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 ในใบมอบฉันทะอีกด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความเช่นนี้ประกอบกับทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดเพียง 2 วัน จึงน่าเชื่อว่า ทนายจำเลยเชื่อโดยสุจริตใจว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 และเนื่องจากวันที่ 9 เป็นวันหยุดราชการ ทนายจำเลยจึงยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 เมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรขยายเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย แล้วมีคำสั่งรับหรือไม่รับต่อไปตามรูปเรื่อง.